ศาลอาญาคดี UN62 ยังพยายามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ “ทนายอานนท์” ในฐานะผู้ต้องขัง แม้ไม่มีข้อห้าม เตรียมเรียกสภาทนายฯ มาชี้แจงนัดหน้า

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 ศาลอาญารัชดาฯ นัดสืบพยานในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หรือคดี UN62 ในส่วนของแกนนำ 18 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมเดินขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนด และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นยุติการสืบทอดอำนาจ

จากปัญหาที่ศาลเจ้าของสำนวนให้จำเลยบางส่วนแต่งตั้งทนายความใหม่แทน อานนท์ นำภา เนื่องจากตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในขณะเป็นผู้ต้องขัง และได้พยายามสอบถามไปที่สภาทนายฯ-กรมราชทัณฑ์ แม้พบว่าไม่มีบทบัญญัติใด ๆ เป็นข้อห้ามการที่ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดจะไปปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ศาลได้ปรึกษากับอธิบดีศาลแล้ว ให้อานนท์ทำหน้าที่ทนายความในนัดนี้ไปก่อน แต่ได้กำหนดนัดพร้อมเพื่อเรียกตัวแทนจากสภาทนายฯ มาชี้แจงการทำหน้าที่ของทนายอานนท์

.

ศาลพยายามให้จำเลยตั้งทนายใหม่แทน ‘อานนท์’ ทำหนังสือถามทั้งสภาทนายฯ-ราชทัณฑ์มาแล้ว

สำหรับคดี UN62 นี้ อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาตั้งแต่เมื่อปี 2562 มีจำเลยทั้งหมด 18 ราย โดยจำเลย 4 ราย ได้แก่ ธนวัฒน์ พรมจักร, นิกร วิทยาพันธุ์, วิเศษณ์ สังขวิศิษฏ์ และ พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์ ได้แต่งตั้ง อานนท์ นำภา เป็นทนายความว่าความให้มาตั้งแต่ต้น

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 ศาลในคดีนี้ ได้มีหนังสือสอบถามไปยังสภาทนายความถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของอานนท์ ซึ่งถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 และมาปฏิบัติหน้าที่ในขณะเป็นผู้ต้องขัง ในหนังสือตอบกลับของสภาทนายความสรุปเห็นว่า อานนท์มีคุณสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความได้

ภายหลังศาลได้มีหนังสือสอบถามลักษณะเดียวกันไปยังกรมราชทัณฑ์ ว่าอานนท์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ สามารถเป็นทนายความในคดีนี้ได้หรือไม่ กรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือตอบกลับ สรุปได้ว่าไม่ได้มีบทบัญญัติใด ๆ เป็นข้อห้ามการที่ผู้ต้องขังจะไปปฏิบัติหน้าที่ทนายความ แต่ได้ระบุเป็นข้อสังเกตไว้เพื่อประกอบการพิจารณา

ต่อมาในนัดคดีนี้วันที่ 15 ส.ค. 2567 ศาลเจ้าของสำนวนคดี ได้ออกความเห็นว่าจากหนังสือตอบกลับของทางกรมราชทัณฑ์ การปฏิบัติหน้าที่ของอานนท์ในฐานะทนายความอาจขัดต่อมารยาททนายความ และไม่สมควรใส่ชุดนักโทษว่าความ จึงขอให้จำเลยทั้ง 4 คนแต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่ อานนท์จึงได้แถลงยืนยันว่า ตนสามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ ศาลเจ้าของสำนวนคดี ได้ไปปรึกษากับอธิบดีของศาลอาญา ก่อนแจ้งว่าศาลจะทำหนังสือไปสอบถามทางกรมราชทัณฑ์และสภาทนายความอีกครั้งในเรื่องนี้

.

สภาทนายฯ-ราชทัณฑ์เห็นต่างกัน ศาลเห็นว่าควรเรียกสภาทนายฯ มาชี้แจงคุณสมบัติทนายอานนท์

วันที่ 8 ต.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาที่ 903 ในคดี UN62 มีประชาชนทยอยเข้าร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจเต็มห้องพิจารณาตั้งแต่ช่วงเช้า

เวลา 10.17 น. หลังศาลออกนั่งพิจารณา ได้แจ้งให้อานนท์ทราบถึงการมีหนังสือสอบถามไปยังสภาทนายความ และกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับตัวเขาซึ่งเป็นผู้ต้องหาและถูกคุมขังสามารถทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่จำเลยอื่นได้หรือไม่ โดยสภาทนายความมีหนังสือตอบกลับมาในทำนองว่า อานนท์ยังมีคุมสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้แก่คู่ความได้ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ประกอบ มาตรา 35 

ในหนังสือตอบกลับของกรมราชทัณฑ์ตอบกลับมาในทำนองว่าอานนท์เป็นผู้ต้องขัง เมื่อมาศาลต้องแต่งกายตามแบบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้ตามข้อ 9 แห่งระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 คือกางเกงสีน้ำตาลเข้ม เสื้อสีน้ำตาลอ่อน

และให้ข้อสังเกตว่าในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มารยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 (1) และ (4) มีความว่าทนายความชายแต่งกายตามสากลนิยม เป็นชุดสีขาวหรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาว ผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกะลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาวสีสุภาพไม่มีลวดลายแทนเสื้อชุดสากลก็ได้ และในขณะว่าความ ทนายมีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 (2) มีความว่าเมื่อสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตสมาชิกจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (1) สมาชิกที่เป็นชายแต่งกายแบบสากลนิยมว่าเป็นชุดสีขาวกรมท่า ดำ หรือสีอื่น ซึ่งเป็นสีเข้ม และไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาว ผ้าผูกคอสีดำ แบบเงื่อนการสี หรือแต่งชุดเสื้อไทยแบบแขนสั้นหรือแบบแขนยาวสีสุภาพไม่มีลวดลาย หรือเชิ้ตชุดสากลก็ได้ และตาม พ.ร.บ.เสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ. 2479 มาตรา 5 ยังบัญญัติว่าสามัญสมาชิก สมาชิก สมาชิกวิเศษ และสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งเนติบัณฑิตยสภา มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในโอกาสอันควร แต่ห้ามมิให้สวมในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญา ซึ่งขัดกับหนังสือที่สภาทนายความแจ้งมา กรณีจึงมีเหตุที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติการทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่จำเลยอื่นให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

หลังจากที่ศาลได้ปรึกษากับผู้บริหารแล้ว ได้แจ้งว่าจะหารือกับทางสภาทนายความและกรมราชทัณฑ์ในเรื่องนี้อีกครั้ง และด้วยอานนท์เคยทำหน้าที่เป็นทนายความให้จำเลยอื่นในคดีนี้มาก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้คดีล่าช้าในวันนี้ (8 ต.ค. 2567) ให้อานนท์ทำหน้าที่ต่อไปก่อนจนกว่าจะมีข้อเท็จจริงใหม่

อานนท์ได้แถลงว่าตนเองไม่สามารถปฏิบัติตามมารยาททนายความว่าด้วยการแต่งกาย และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาว่าด้วยการแต่งกายได้เนื่องจากถูกคุมขัง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็พร้อมที่จะแต่งกายให้ถูกต้องตามข้อบังคับ และยืนยันที่จะเป็นทนายความให้แก่จำเลย อานนท์กล่าวว่าองค์กรที่ควบคุมดูแลวิชาชีพของเขาคือสภาทนายความ หากสภาทนายความยังเห็นว่าเขายังคงมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ ศาลก็ไม่อาจสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่ได้

จากนั้นหลังสืบพยานโจทก์ไปได้ 1 ปาก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันนี้เป็นสืบพยานโจทก์วันสุดท้ายที่คู่ความนัดกันไว้ และวันนัดได้หมดสิ้นลงแล้ว กับกรณียังมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของจำเลยที่ 4 จึงเห็นควรให้นัดพร้อมเพื่อวินิจฉัยฐานะของจำเลยที่ 4 ก่อน และประชุมคดีเพื่อกำหนดวันนัดใหม่อีกด้วยในวันที่ 25 พ.ย. 2567 เวลา 9.00 น.

ในนัดพร้อมดังกล่าว ศาลได้ให้เรียกตัวแทนของสภาทนายความ มาชี้แจงการทำหน้าที่ทนายความของอานนท์ด้วย

.

หลักการพื้นฐานห้ามศาลปฏิเสธสิทธิของทนาย ถ้ายังไม่ถูกตัดสิทธิ ยังคงมีสิทธิในการทำหน้าที่

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่าหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับบทบาทของทนายความ (Basic Principles on the Role of Lawyers) ในข้อที่ 19 กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า “ห้ามศาลหรือหน่วยงานใดปฏิเสธสิทธิของทนายความที่จะปรากฏตัวและให้การสนับสนุนด้านกฎหมายต่อลูกความของตน” โดยข้อยกเว้นเดียวของข้อกำหนดดังกล่าว คือ เมื่อทนายความนั้น “ได้ถูกตัดสิทธิการเป็นทนายความตามกฎหมาย” ผ่านกระบวนการที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ 

ดังนั้น ตราบใดที่อานนท์ยังไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ เขาก็ยังมีความสามารถในการว่าความให้ลูกความได้ตามหลักการสหประชาชาตินี้

อันที่จริงแล้ว ในทางกลับกัน ข้อที่ 16 ของมาตรฐานเดียวกัน กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ต้องประกันว่าทนายความสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้โดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง การคุกคาม หรือการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีหรือการลงโทษสำหรับการดำเนินการใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความ

อีกทั้งกำหนดไว้ในข้อที่ 10 ว่าจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายต่อไป บนพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึง ความคิดเห็นทางการเมืองอีกด้วย

.

ทั้งนี้ อานนท์ นำภา ถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 ในระลอกล่าสุดนี้มาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 และมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในขณะเป็นผู้ต้องขังในหลายคดีด้วยกัน 

ในช่วงที่ผ่านมา พบคดีที่ศาลพยายามไม่อนุญาตอานนท์ทำหน้าที่ในฐานะทนายความ มีด้วยกันอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน, คดีของต้นไผ่, คดีของทอปัด, และคดีนี้ (คดี UN 62) ขณะที่ในคดีส่วนใหญ่ ศาลยังคงให้อานนท์สามารถว่าความได้ต่อไป

สำหรับคดีมรรยาททนายความของอานนท์ ซึ่งถูก อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ โดยกล่าวหาว่าผิดมรรยาททนายความ เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุม “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ทางสภาทนายความฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหา จนถึงปัจจุบัน ได้มีกระบวนการสอบพยานมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี และบรรดาองค์กรต่าง ๆ ได้ยื่นหนังสือแสดงความกังวลต่อการพิจารณาดังกล่าวที่อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยกคำกล่าวหาต่อ อานนท์ นำภา มาอย่างต่อเนื่อง 

.

X