วันที่ 23 ก.ค. 2567 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประชุมทำความเห็นต่อกรณีสอบมรรยาททนายความของอานนท์ นำภา เหตุจากการปราศรัยในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ได้มีการเสนอข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
ปัจจุบัน อานนท์ นำภา ถูกพิพากษาตัดสินลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ 3 คดี รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 10 ปี 20 วัน จากคดี #ม็อบ14ตุลา, โพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564, และ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ซึ่งได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 รวมไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อานนท์ นำภา ยังมีคดี ม.112 อีก 11 คดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
ทั้งนี้ หากสภาทนายความวินิจฉัยว่าอานนท์ นำภา มีความผิดมรรยาททนายความ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ได้กำหนดโทษไว้ 3 แบบ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
ที่มาของคดีสอบมรรยาททนายความของอานนท์ นำภา และลำดับเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการดำเนินคดีมรรยาทของอานนท์ นำภานั้น มีที่มาจากจากการที่อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ โดยกล่าวหาว่า อานนท์ นำภา มีพฤติกรรมเข้าข่าย ผิดมรรยาททนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อ 18 ซึ่งกำหนดว่า “ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ” เนื่องจากได้กระทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….” จากการปราศรัยในการชุมนุม “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
ต่อมาทางสภาทนายความฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาประพฤติผิดมรรยาททนายความของอานนท์ จนถึงปัจจุบัน ได้มีกระบวนการตรวจสอบมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี นับตั้งแต่มีการยื่นเรื่องร้องเรียน
ย้อนอ่านลำดับเหตุการณ์คดีสอบมรรยาททนายความของอานนท์ >> “อานนท์” ขอต่อสู้คดีสอบมรรยาททนายความจากเรือนจำ กรณี “อภิวัฒน์ ขันทอง” ร้องเรียนปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ความเห็นจากนานาชาติต่อความเสี่ยงในการถูกเพิกถอนใบอนุญาติว่าความของอานนท์ นำภา
นับตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2563 ที่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนสอบมรรยาททนายความต่ออานนท์ นำภา บรรดาองค์กรต่าง ๆ ได้ยื่นหนังสือแสดงความกังวลต่อการพิจารณาดังกล่าวที่อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการยกคำกล่าวหาต่ออานนท์ นำภา มาอย่างต่อเนื่อง
หนังสือจากสมาคมและองค์กรวิชาชีพนักกฎหมาย
- วันที่ 21 ส.ค. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายนามของทนายความ นักกฎหมาย 266 รายชื่อ ขอให้สภาทนายความฯ “ยกคำร้องถอนชื่ออานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ” โดยระบุว่า “เหตุผลตามคำร้องเรียนที่ได้กล่าวอ้างนั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าเงื่อนไขภายใต้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ อันจะส่งผลให้มีการลบชื่ออานนท์ออกจากทะเบียนทนายความได้”
- วันที่ 17 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 ส่งถึงนายกสภาทนายความฯ เรียกร้องให้สภาทนายความฯ “ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์ นำภา” อีกทั้งให้ “พิจารณาและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการระหว่างประเทศในเรื่องบทบาทของทนายความ” โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนที่จะเกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของอานนท์ ในฐานะทนายความอย่างไม่เหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี รวมถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก
- วันที่ 11 มี.ค. 2564 เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป (The Council of Bars and Law Societies of Europe (CCBE)) ได้มีจดหมายแสดงความกังวลถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนและกระบวนการสอบสวนประพฤติผิดมรรยาททนายความของอานนท์ นำภา โดยในจดหมายดังกล่าวได้มีการเรียกร้องให้
- วันที่ 26 มิ.ย. 2566 เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป (The Council of Bars and Law Societies of Europe (CCBE)) ได้มีการส่งจดหมายเปิดผนึกอีกครั้งถึงประธานสภาทนายความฯ โดยได้มีการ “เรียกร้องให้ให้ประธานสภาทนายความฯ ยึดหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (The United Nations Basic Principles on the Role of Lawyers) โดยเฉพาะข้อที่ 23 ว่าทนายความทุกคนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม” และข้อที่ 27, 28 และข้อที่ 29 ระบุไว้ว่าทนายความทุกคนพึงมีสิทธิได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ภายใต้คณะกรรมการทางวินัยที่เป็นกลาง ซึ่งมีความสอดคล้องต่อมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพกฎหมาย รวมไปถึงเรียกร้องประธานสภาทนายความฯ ให้ “ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการว่าความให้แก่ลูกความในคดี”
- วันที่ 16 มิ.ย. 2565 เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป (The Council of Bars and Law Societies of Europe (CCBE)) และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระที่ชื่อ Lawyers for Lawyers (L4L) มีหนังสือแสดงความห่วงใยถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้ง โดยในหนังสือฉบับนี้ได้มุ่งเน้นถึงหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (The United Nations Basic Principles on the Role of Lawyers) “ทนายความทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ” ยิ่งไปกว่านั้นตามหลักการข้อที่ 27, 28 และข้อที่ 29 ระบุไว้ว่า “ทนายความทุกคนพึงมีสิทธิได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ภายใต้คณะกรรมการทางวินัยที่เป็นกลาง” ซึ่งมีความสอดคล้องต่อมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพกฎหมาย
ข้อเรียกร้องจากผู้เชี่ยวชาญ UN ให้ยุติกระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา
6. วันที่ 24 ส.ค. 2566 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือมายังรัฐบาลไทยในกรณีของอานนท์ นำภา (หนังสือลำดับที่ AL THA 5/2023 ลงวันที่ 24 ส.ค. 2566) โดยในหนังสือได้มีการขอให้รัฐบาลไทยชี้แจงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่กระบวนการตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา และความเป็นอิสระของสภาทนายความมีมากน้อยเพียงใด พร้อมให้รัฐบาลไทยให้รายละเอียดถึงการรับประกันตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพทั้งปวงได้โดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง คุกคาม หรือการแทรกแซงอันไม่เหมาะสมได้อย่างไร
“ในประเทศต่าง ๆ ที่รัฐมีบทบาทในการควบคุมองค์กรวิชาชีพทนายความ นักกฎหมายก็มักจะตกเป็นเป้าของการโจมตีจากองค์กรที่ควรปกป้องพวกเขา ซึ่งการโจมตีดังกล่าวมักจะอยู่ในรูปแบบของการระงับการปฏิบัติหน้าที่หรือการเพิกถอนใบอนุญาตว่าความโดยพลการหรือโดยปราศจากเหตุผล อันรวมไปถึงการควบคุมตัวโดยพลการและการดำเนินคดี”
“การปิดปากและ/หรือการควบคุมองค์กรวิชาชีพทนายความไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อชุมชนนักกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อหลัก [rule of law] และความสามารถของประชาชนทั่วไปในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของตนอีกด้วย”
7.วันที่ 25 มี.ค. 2567 เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังเรียกร้องให้การกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน
“การวิพากษ์วิจารณ์และการให้คำปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อการสนับสนุนทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมในสังคมประชาธิปไตย เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา”
“ทนายความมีสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพ”