ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ UN เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติได้ออกมาแสดงความกังวลในประเด็นการดำเนินคดีต่อ อานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทั้งหมด 2 คดี รวมเป็นโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งรวมไปถึงการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้เผยแพร่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีที่เหลือทั้งหมดของอานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112  รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน

อานนท์ นำภา ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 หลังศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 คดีแรก และขณะนี้ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีกกว่า 12 คดี ยิ่งไปกว่านั้นอานนท์ยังถูกร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เพื่อให้มีการพิจารณาถอดถอนใบอนุญาตว่าความ โดยคำร้องเรียนกล่าวหาอานนท์ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติยังได้แสดงความคิดเห็น โดยมีใจความว่า:

1. การลงโทษจำคุกและการดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่ออานนท์ นำภา นั้น ไม่ได้สัดส่วนโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังแสดงถึงความน่ากังวลต่อการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เห็นต่างคนอื่น ๆ

2. การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ นั้น สร้างความตื่นตระหนกเป็นระยะเวลาหลายปี และคณะทำงานกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทยแล้วกว่าหลายฉบับ เพื่อแสดงถึงความกังวลในประเด็นดังกล่าว

3. การลงโทษหนักต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยพึงปฏิบัติตาม การกระทำเช่นว่ายังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงภาคประชาสังคม

4. การวิพากษ์วิจารณ์และการให้คำปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อการสนับสนุนทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมในสังคมประชาธิปไตย

5. ทนายความมีสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและจะต้องไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการประกอบวิชาชีพ

.

อ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่: https://www.ohchr.org/en/press-releases/2024/03/thailand-un-experts-alarmed-sentences-handed-down-human-rights-lawyer-arnon

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ผู้รายงานพิเศษ UN ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลการตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ-การคุมขัง “ทนายอานนท์” ระหว่างพิจารณา

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “อานนท์” อีก 4 ปี เหตุโพสต์ 3 ข้อความ ชี้ แม้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่มีนัยยะสื่อถึง ร.10 เจตนาให้ ปชช.เข้าใจผิด

ศาลอาญาพิพากษาคดี ม.112 จำคุก “อานนท์” 4 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา พร้อมไม่สั่งประกัน แม้ไม่เคยหลบหนี ก่อนศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกัน

.

X