3 สน. ยื่นคัดค้านประกันตัว “อานนท์” อ้างทำผิดเงื่อนไขศาล เหตุนัดชุมนุม 2 ครั้ง  ด้านอานนท์ยื่นแถลงเป็นความพยายามของตำรวจปิดปากไม่ให้แสดงความเห็น

แก้ไขเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566

ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ และ สน.บางโพ ได้เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว “อานนท์ นำภา” สืบเนื่องจากการประกาศเชิญชวนประชาชนให้ออกมาชุมนุมในช่วงวันที่ 12 ก.ค. 2566 ที่สกายวอร์คปทุมวัน และ วันที่ 16 ก.ค. 2566 ซึ่งมีการจัดคาร์ม็อบ #RespectMyVote เพื่อนำใบลาออกไปมอบให้ผู้นำเหล่าทัพ ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา 

ภายหลังได้รับคำร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวน ศาลอาญาได้ส่งหมายเรียกให้อานนท์ไปรับเอกสารคำร้องคัดค้านดังกล่าว เพื่อทำคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลภายใน 3 วัน โดยอานนท์ได้ยื่นขอขยายเวลาการส่งคำแถลงไปอีก 15 วัน จากวันที่ได้รับเอกสารและได้ยื่นคำแถลงต่อศาลไปเมื่อในวันที่ 17 ส.ค. 2566

.

สน.สำราญราษฎร์-สน.บางโพ ยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวอานนท์

พ.ต.ท.หญิง จิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ระบุโดยสรุปว่า พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้ยื่นฟ้องอานนท์ นําภา จําเลยในคดีปราศรัยในชุมนุมคณะราษฎร #ม็อบ14ตุลา2563 เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปหน้าทำเนียบรัฐบาล  เมื่อวันที่ 7 ต.ค 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวที่สำคัญ คือ 1. ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน 2. ห้ามจําเลยกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล 3. ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้น ในบ้านเมือง 

ขณะที่คำร้องของ สน.บางโพ ยื่นโดย พ.ต.ท.ธนวรรณ จันทร์ตา ระบุว่า พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้องอานนท์จากการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา2563 ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และศาลได้กำหนดเงื่อนไขในการประกันตัว คือ 1. ห้ามจําเลยกระทําการใดๆ ที่อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวน พิจารณาคดีของศาล 2. ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 4. ห้ามจําเลยออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 21.00. น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่ มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการหรือ ศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งศูนย์ (EM) เปิดสัญญาณ 5. ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล แจ้งสํานักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ 

.

พฤติการณ์ที่ถูกร้องว่าผิดเงื่อนไข: โพสต์จัดชุมนุม-ร่วมชุมนุม 12 ก.ค. และ 16 ก.ค. 2566 เพื่อกดดัน สว.

ทั้งสองคำร้องระบุพฤติการณ์จากเหตุเดียวกัน โดยพนักงานสอบสวนมองว่าเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการขอประกันตัวในทั้งสองคดี ได้แก่

1. วันที่ 12 ก.ค. 2566  ได้รับรายงานการสืบสวนจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ ฝ่ายสืบสวนสถานีตํารวจนครบาลปทุมวัน เรื่อง รายงานการสืบสวน “อานนท์ นําภา ประกาศนัดชุมนุม วันนี้ (12 ก.ค.) 18.00 น. สกายวอร์ค หอศิลป์ กทม. ปมหุ้นสื่อไอทีวี” ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 20.00. น. นายอานนท์ นําภาได้ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน

ตำรวจอ้างว่าคําพูดที่อานนท์ปราศรัย เป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง หรือให้มีการกระทําใดๆ ให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง เช่น

“ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจในการสั่งพรรคก้าวไกล ให้ยุตินโยบายนี้ คือเรื่องแก้ไข 112 พวกเรายอมไหม ไม่ยอม ยอมไหม ไม่ยอม ถ้าสั่งเรื่องนโยบายได้หมายความว่า ศาลกําลัง บริหารประเทศ ผ่านทางคําสั่งศาล ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ศาลซึ่งใช้อํานาจตุลาการ จะมาก้าวก่ายอํานาจบริหารไม่ได้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่บริหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ เราจะ มีการปกครองในระบบนั้นได้หรือไม่…”

“เราอาจได้เห็นแปลกแปลกในวันพรุ่งนี้ เช่น สว. ติดโควิด สว. ไม่อยากเข้าสภา ข้ออ้างสารพัดข้ออ้าง พรุ่งนี้เราจะได้เห็น แต่เราจําชื่อมันไว้ จําชื่ออย่างเดียวไม่พอ จํานามสกุลด้วย คนเหล่านี้ถือเป็นการปฏิปักษ์ต่อการปกครองอย่างแท้จริง….”

ตำรวจอ้างว่าตัวอย่างข้อความดังกล่าว เป็นการกล่าวถึงสถาบันศาล มีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคามสมาชิกวุฒิสภา ทําให้เกิดความกลัวต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ เป็นแกนนําปลุกระดม มวลชนให้เข้าร่วมชุมนุมที่รัฐสภา เพื่อกดดัน สมาชิกวุฒิสภา ในวันเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.ค. 2566 เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบตามแนวคิดของกลุ่มมวลชน

2. วันที่ 16 ก.ค. 2566 ได้รับรายงานการสืบสวนจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ ฝ่ายสืบสวนสถานีตํารวจนครบาลปทุมวัน ลงวันที่ 16 ก.ค. 2566 เรื่อง รายงานการสืบสวนกรณีที่ “นายอานนท์ นําภา นัดหมายกิจกรรม คาร์ม็อบ เอาใบลาออกไปยื่นให้ ส.ว. ถึงที่ เมื่อไม่ทําหน้าที่ก็ออกไปซะ!!!” โดยพบว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2566 เวลา 16.55 น. เฟซบุ๊กชื่อ อานนท์ นําภา ได้โพสต์ข้อความว่า

“พรุ่งนี้ เติมน้ำน้ํามันรถท่านให้พร้อม เราจะคาร์ม็อบ เอาใบลาออกไปยื่น ให้ สว. ถึงที่เมื่อไม่ทําหน้าที่ก็ออกไปซะ !!! 13.00 น. เจอกันที่อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนิน *** 

มอเตอร์ไซด์รบกวนทําธงมาด้วยนะครับ รถยนต์พร้อมป้ายตามสะดวก 

*** *** 

เวลาประมาณ 13.19 น. อานนท์ได้มายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ กล่าวปราศรัยโจมตี สว. ที่ไม่เคารพมติประชาชน 

เวลาประมาณ 13.58 ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรม คาร์ม็อบ มีรถจักรยานยนต์ 100 คัน รถยนต์ 50 คัน รถเครื่องเสียงขยายเสียง 1 คัน ยอดกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 300 คน หลังจากนั้นจําเลยพร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ไปตามถนน ไปยื่นหนังสือที่กองบัญชาการกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพเรือ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสุดท้ายมาทํากิจกรรมที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

ตำรวจอ้างว่าพฤติการณ์ดังกล่าว โดยแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดปัญหาการส่งเสียงดัง จากเครื่องขยายเสียงและปัญหาการจราจรติดขัด ก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 


ผู้ร้องอ้างว่าพฤติการณ์ดังกล่าว จําเลย ไม่เคยสํานึก ในโอกาสที่ตนได้รับหลังการปล่อยตัวชั่วคราว กลับท้าทายละเมิดเงื่อนไขคําสั่งของศาล โดยจําเลย พูด ยุยงหรือส่งเสริมให้มีการกระทํา ใดๆ อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันศาล, เข้าร่วมชุมนุม ยุยง ส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง 

นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทําผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ความผิดต่อเสรีภาพ, ความผิด ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 , ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นต้น

.

อานนท์ส่งคำแถลงต่อศาลระบุ คำร้องคัดค้านของพนักงานสอบสวนคือความพยายามปิดปากไม่ให้แสดงความเห็น

17 ส.ค. 2566 อานนท์ นำภา ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา มีรายละเอียดโดยสรุป ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม และงดเว้นกระทำการในสิ่งที่ศาลได้ห้ามไว้ในเงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ 

ข้อกล่าวหาตามคำร้องที่พนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาซึ่งพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยต่อศาล รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว หากแต่เป็นการพยายามบิดเบือนกฎหมายและใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปิดปาก ไม่ให้จำเลยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 

ข้อเท็จจริงตามเหตุในคำร้องที่กล่าวหาว่าจำเลยได้ร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 และ 16 ก.ค. 2566 นั้น ทั้งสองเหตุการณ์เป็นการจัดกิจกรรมหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และมีข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาก่อนวันกำหนดลงมติของรัฐสภาเพียง 1 วัน 

การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งกิจกรรมดังกล่าวได้แจ้งการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาคำปราศรัยของจำเลยก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อศาลรัฐธรรมนูญและสมาชิกวุฒิสภาอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย การร่วมกิจกรรมของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดเงื่อนไขที่ให้ต่อศาลแต่อย่างใด

จำเลยได้พยายามทำให้ศาลและสังคมเห็นว่า ข้อกำหนดและเงื่อนไขของศาล แม้จะมีการจำกัดการแสดงออกในทางการเมืองบ้าง แต่ก็ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่ออำนาจรัฐและต่อการเลือกตั้งอันเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองทุกคน และจำเลยตระหนักถึงรูปแบบของกิจกรรมว่าต้องไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ทั้งต้องเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่ในขอบเขตของการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

การร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและชุมนุมโดยสงบทั้งสองครั้ง จึงไม่เป็นการผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว หากแต่เป็นการชุมนุมโดยสงบในประเด็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลยกคำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าว

ทั้งนี้ศาลอาญาได้มีการนัดให้อานนท์เดินทางไปรับทราบคำสั่งอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค. 2566)
.

นอกจาก สน.สำราญราษฎร์ และ สน.บางโพแล้ว อานนท์ นำภา ยังถูก พ.ต.ท.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน  ยื่นคำร้องคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีปราศรัยในการชุมนุม “ม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ 2” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ จากพฤติการณ์เดียวกันข้างต้น 

คดีหลังนี้ ศาลได้ส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าวในวันที่ 11 ก.ย. 2566 เวลา 9.00 น.

ศาลชี้การกระทำยังไม่ผิดเงื่อนไขแต่ตักเตือนให้ปฎิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด

วันที่ 22 ก.ค. 2566 อานนท์ นำภา เดินทางไปฟังคำสั่งที่ศาลอาญา โดยศาลได้มีคำสั่งต่อคำร้องคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านของอานนท์ดังนี้

ได้พิเคราะห์คําร้องของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 21 ก.ค. 2566 ประกอบคําคัดค้านของจําเลย ฉบับลงวันที่ 17 ส.ค. 2566 ความปรากฏว่าศาลปล่อยชั่วคราวจําเลย โดยกําหนดเงื่อนไขว่าห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสงบสุขของประชาชน ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคําร้องสรุปได้ว่า 

วันที่ 12 ก.ค. 2566  จําเลยนัดชุมนุม ณ สกายวอล์ค หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ปมหุ้นสื่อไอทีวี แล้วกล่าวปราศรัยไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุตินโยบายของพรรคก้าวไกล และ กล่าวถึงสมาชิกวุฒิสภาพว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบบประชาธิปไตย และ วันที่ 16 ก.ค. 2566  จําเลยนัดชุมนุม “คาร์ม็อบ” นําใบลาออกไปให้สมาชิกวุฒิสภาลงนาม โดยใช้เส้นทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผ่านกองทัพบก กองทัพเรือ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ มาสิ้นสุดที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กล่าวปราศรัยโจมตีสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เคารพมติของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม เอกสารท้ายคําร้องยังมีหนังสือแจ้งการจัดชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานตํารวจ อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือ แสดงความคิดเห็นต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่ 

เบื้องต้นน่าเชื่อว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและ ไม่มีข้อเท็จจริงถึงขนาดว่าผลของการชุมนุมดังกล่าวมีการใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของรัฐ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือของบุคคลอื่นใด รวมทั้ง ไม่มีการบุกรุกสถานที่ราชการตามเส้นทางที่ผ่าน 

คงมีแต่หลักฐานใบเสร็จค่าปรับกลุ่มชุมนุม 1,000 บาท ข้อหาทิ้งสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นผลธรรมดาแห่งการชุมนุมเท่านั้น 

ข้อเท็จจริงตามคําร้องดังกล่าวยังไม่มีเหตุการณ์เกินเลยถึงกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิด 

ความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทั้งจําเลยมาแสดงตนตามหมายเรียก พร้อมยื่นคําคัดค้านชี้แจงว่าเป็นการ ใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุนี้ คดีจึงไม่มีพฤติการณ์ซึ่งจําเลยจะหลบหนี หรือผิดเงื่อนไขตามที่ศาลกําหนดประกอบการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด 

ศาลจึงเพียงว่ากล่าวตักเตือนให้ปฏิบัติตามข้อกําหนดของศาลในการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาโดยเคร่งครัด หากใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้วกลุ่มชุมนุมก่อเหตุการณ์เกินเลยไปทําให้เกิดความรุนแรงหรือวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว ย่อมส่งผลเป็นการผิดสัญญาประกัน และจําเลยอาจจะ ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวอีกต่อไป ในชั้นนี้ให้รวมคําร้อง คําคัดค้าน ไว้เป็นพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบการพิจารณาของศาล โดยกําชับให้จําเลยมาศาลตามกําหนดเพื่อฟังคําพิพากษาต่อไป

X