เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป [The Council of Bars and Law Societies of Europe (CCBE)] ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับกรณีตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความฯ สอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของ “อานนท์ นำภา” อันเกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ของสภาทนายความฯ โทรศัพท์ถึงทนายความของ “อานนท์ นำภา” ขอยกเลิกนัดหมายสืบพยานนัดสุดท้ายที่กำหนดไว้ในวันที่ 17-18 ก.ค. 2566 เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนของสภาทนายความฯ ไม่ครบองค์ประชุม และขอเลื่อนนัดไปไม่มีกำหนด โดยทางเจ้าหน้าที่จะประสานเพื่อกำหนดวันนัดหมายอีกครั้ง ทำให้คดีเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองนี้จะยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของคณะกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ ไปอย่างไม่มีกำหนด
คดีนี้ เริ่มต้นจากกรณีที่อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี) ดำเนินการในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 กล่าวหาอานนท์ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนของสภาทนายความเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าว มาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2564 โดยนัดหมายสืบพยานมาถึงช่วงกลางปี 2566 และหากคณะกรรมการมรรยาททนายความฯ สอบสวนเสร็จก็จะนัดฟังคำวินิจฉัยต่อไป
หากอานนท์ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดมรรยาททนายความจริง ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 กำหนดโทษไว้ 3 แบบ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
เนติบัณฑิตสภาฯ แห่งทวีปยุโรป ยืนยันหลักการทนายความทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพนักกฎหมายได้โดยปราศจากการคุกคาม
เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาทนายความฯ เพื่อแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับกรณีการสอบสวนนี้ โดยหนังสือลงวันที่ 26 มิ.ย. 2566 และสรุปใจความได้ว่า
ทางองค์กรได้รับข้อมูลว่า กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา มีความเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 โดยผู้ร้องเรียนได้กล่าวหาว่าพฤติกรรมของ อานนท์ นำภา ว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความไม่สงบ สร้างความแตกแยก ซึ่งการปราศรัยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการพูดเรื่องปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างการประท้วงอย่างสันติในระบอบประชาธิปไตย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
ทางองค์กรขอให้ประธานสภาทนายความฯ ยึดหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (The United Nations Basic Principles on the Role of Lawyers) โดยเฉพาะข้อที่ 23 ว่าทนายความทุกคนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และข้อที่ 27, 28 และข้อที่ 29 ระบุไว้ว่าทนายความทุกคนพึงมีสิทธิได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ภายใต้คณะกรรมการทางวินัยที่เป็นกลาง ซึ่งมีความสอดคล้องต่อมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพกฎหมาย
นอกจากนี้ ทางองค์กรขอให้ประธานสภาทนายความฯ ตระหนักว่าทนายความทุกคนในประเทศไทยสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพนักกฎหมายได้โดยปราศจากความกลัวจากการแก้แค้น ปลอดจากการถูกข่มขู่ ขัดขวาง คุกคาม หรือแทรกแซงโดยมิชอบ เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระและบูรณภาพของการบริหารงานยุติธรรม และหลักนิติรัฐ
ดังนั้น ทางองค์กรจึงขอเรียกร้องประธานสภาทนายความฯ ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์เพื่อปกป้องสิทธเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิว่าความให้แก่ลูกความในคดี
>>> อ่านจดหมายในฉบับภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระที่ชื่อ Lawyers for Lawyers (L4L) เคยส่งหนังสือแสดงความห่วงใยถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนและกระบวนการสอบสวนประพฤติผิดมรรยาทกรณีทนายอานนท์ของคณะกรรมการมรรยาทนายความฯ มาแล้วเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 อย่างไรก็ตาม สภาทนายความฯ ก็ยังคงไม่ได้ยุติกระบวนการสอบสวนนี้แต่อย่างใด
———————————
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
เนติบัณฑิตยสภาฯ แห่งทวีปยุโรปส่งจดหมายถึง ร.10 ขอให้รับรองว่าทนายอานนท์จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะทนายความได้โดยชอบธรรม