3 ก.พ. 2565 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นัดพร้อมกรณีการตั้งเรื่องสอบมรรยาททนายความของอานนท์ นำภา เหตุจากการปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยในวันนี้ รัษฎา มนูรัษฎา ผู้รับมอบอำนาจของอานนท์ เข้าร่วมนัดหมาย แต่ อภิวัฒน์ ขันทอง ผู้กล่าวหาไม่มาตามนัด โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง
รัษฎา มนูรัษฎา ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสอบสวนว่า อานนท์ขอต่อสู้คดีด้วยตนเอง แม้ตัวจะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แต่ประสงค์จะร่วมการไต่สวนของคณะกรรมการสอบสวนทุกนัด เพื่อให้ตนได้แถลงแนวทางการต่อสู้คดีและนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการสอบสวนจึงกำหนดนัดพร้อมใหม่เป็นวันที่ 7 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. โดยจะใช้วิธีการประชุมทางจอภาพทางไกลหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับอานนท์ จากภายในเรือนจำ หากเขายังไม่ได้รับการปล่อยตัว
ทั้งนี้ หากอานนท์ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดมรรยาททนายความจริง ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 กำหนดโทษไว้ 3 แบบ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
ลำดับเหตุการณ์คดีสอบมรรยาททนายความของอานนท์
วันที่ 7 ส.ค. 2563 อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในฐานะทนายความสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ กล่าวหาว่าอานนท์มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากกระทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….”
วันที่ 21 ส.ค. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมรายชื่อนักกฎหมายและทนายความ รวม 266 รายชื่อ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ขอให้สภาทนายความฯ ยกคำร้องถอนชื่อทนายอานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ เนื่องจากข้อร้องเรียนของอภิวัฒน์ ขันทอง ไม่ได้ตรงกับข้อบังคับของสภาทนายความฯ
วันที่ 13 ม.ค. 2564 คณะกรรมการมรรยาทนายความ สภาทนายความฯ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำนวน 3 คน เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาประพฤติผิดมรรยาทของอานนท์
วันที่ 20 ม.ค. 2564 อานนท์ได้รับหนังสือการกล่าวหาว่าประพฤติผิดมรรยาทจากสภาทนายความฯ พร้อมแจ้งเรื่องที่สภาทนายความได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
วันที่ 17 ก.พ. 2564 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ส่งถึงนายกสภาทนายความฯ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์ โดยเห็นว่ากระบวนการสอบสวนที่จะมีขึ้น จะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของอานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย
วันที่ 11 พ.ค. 2564 อานนท์ยื่นคำแก้ข้อกล่าวหาต่อสภาทนายความฯ
วันที่ 11 พ.ค. 2564 อานนท์ยื่นคัดค้านการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ที่มี ดร.วิเชียร รุจิธำรงกุล เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนมารยาท เหตุเป็นบุคคลผู้มีรายชื่อในลำดับที่ 24 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง การกำหนดรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
วันที่ 18 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการมรรยาททนายความมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องคัดค้านของอานนท์
วันที่ 3 ส.ค. 2564 อานนท์ยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งยกคำร้องการตั้งประธานคณะกรรมการฯ ฉบับวันที่ 18 มิ.ย. 2564
วันที่ 24 พ.ย. 2564 สภาทนายความฯ เลื่อนนัดพร้อมนัดแรก เหตุอานนท์ ผู้ถูกกล่าวหา ประสงค์จะเข้าร่วมการสอบสวนในทุกนัด และจะแถลงแนวทางการต่อสู้ด้วยตนเอง แต่อานนท์ยังถูกควบคุมตัว ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีชุมนุม “19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร”
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลส่งจดหมายถึงสภาทนายฯ เรียกร้องยกเลิกข้อกล่าวหาสอบมารยาท “ทนายอานนท์”