คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลส่งจดหมายถึงสภาทนายฯ เรียกร้องยกเลิกข้อกล่าวหาสอบมารยาท “ทนายอานนท์”

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 64 เว็บไซต์ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ซึ่งส่งถึง ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กรณีการตั้งเรื่องสอบมารยาททนายความของนายอานนท์ นำภา เหตุจาการปราศรัยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเรียกร้องให้สภาทนายความทำการยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์

จดหมายฉบับดังกล่าวลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ลงนามโดย Sophie de Graaf ผู้อำนวยการบริหารของ Lawyers for Lawyers ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระ และ Ian Seiderman ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นการรวมตัวของนักกฎหมายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

จดหมายระบุถึงกรณีการดำเนินคดีมรรยาททนายความ กับนายอานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมรรยาททนายความของสภาทนายความ ทั้งสององค์กรเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวจะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของนายอานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย

จดหมายเท้าความไปถึงการดำเนินคดีมรรยาททนายความนี้ สืบเนื่องมาจากที่ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในฐานะทนายความสำนักกฎหมาย อ. อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 กล่าวหาว่านายอานนท์ นำภา นั้นมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากกระทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….” โดยมีเหตุมาจากการปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการชุมนุมภายใต้รูปแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563

ทั้งสององค์กรนานาชาติเห็นว่า ตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศแล้ว ทนายความก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทรงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆ ได้ไม่ว่าจะในฐานะทนายความเองก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ตาม การระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการใช้สิทธิของทนายความผู้นั้นเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงสิทธิของลูกความในการมีทนายความที่ตนเลือกมาว่าความคดีให้

 

 

จดหมายได้ทบทวนหลักสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ว่าได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ก็ได้ยืนยันในความเห็นทั่วไป (General Comment) ลำดับที่ 34 ว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นนั้น ควรขยายไปถึงการใช้วาทกรรมทางการเมือง การแสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจการสาธารณะ การหาเสียง และการอภิปรายเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการฯ ได้เน้นย้ำว่า

“…ในประเด็นเรื่องวาทกรรมการเมือง คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่าหากเป็นเรื่องการอภิปรายต่อสาธารณะที่เกี่ยวโยงกับบุคคลสาธารณะในพื้นที่ทางการเมืองและในสถาบันของสาธารณะ กติกาสากลฯ ยิ่งให้ความคุ้มครองสูงขึ้นไปอีกว่ามิควรให้ปิดกั้นการแสดงออก ด้วยเหตุนี้ ลำพังแต่เพียงเห็นว่ารูปแบบของการแสดงออกนั้นเป็นการหมิ่นบุคคลสาธารณะ จึงยังไม่เพียงพอที่จะทำการลงโทษบุคคลดังกล่าว แม้ว่าบุคคลสาธารณะเองอาจจะได้ประโยชน์จากข้อบทของกติกาสากลฯ ก็ตาม นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทั้งหลาย รวมถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง อาทิ ประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล ที่อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และการโต้แย้งในทางการเมืองได้”

หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) ระบุเป็นการเฉพาะไว้ว่า

“ทนายความเองก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายในเชิงสาธารณะในเรื่องกฎหมาย การบริหารความยุติธรรม และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเข้าร่วมหรือจัดตั้งองค์การในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับสากล อีกทั้งเข้าร่วมการประชุมโดยไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในทางวิชาชีพด้วยเหตุที่มาจากการกระทำตามกฎหมาย หรือการเป็นสมาชิกขององค์การที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ทั้งสององค์กรได้อ้างอิงไปถึงจดหมายเปิดผนึกถึงสภาทนายความลงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ซึ่งลงนามโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนักกฎหมายไทยอย่างน้อย 264 ราย เรียกร้องให้ยกคำกล่าวหาของนายอภิวัฒน์ ขันทอง และชี้ว่า “เมื่อพิจารณาข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วย มรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ทั้งฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่าเหตุผลตามที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวอ้างนั้น อยู่ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อใด อันจะเข้าเงื่อนไขให้มีการลบชื่อนายอานนท์ ออกจากทะเบียนทนายความได้”

 

 

จดหมายยังระบุถึงว่าเมื่อปี 2557 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และทนายความ (UN Special Rapporteur on the Independence of Judges and Lawyers) ยังได้แสดงความกังวลต่อ “กรณีที่ทนายความถูกลงโทษเนื่องจากกิจกรรมทางการเมือง งานรณรงค์ การสับสนระหว่างเหตุที่เกิดจากทนายความและเหตุที่เกิดจากลูกความ และการเข้าว่าความให้ลูกความคดีอ่อนไหวต่างๆ” ด้วยเหตุนี้ ผู้รายงานพิเศษฯ จึงได้เรียกร้องให้รัฐดำเนินการต่างๆ รวมถึงงดเว้นไม่ทำการลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความ เพียงเพื่อต้องการยุติและป้องกันไม่ให้ทนายความดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะ

นอกจากนี้ตามรายงานล่าสุดของเนติบัณฑิตและสมาคมวิชาชีพทนายความอื่นๆ ผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กระบวนการสอบสวนทางวินัยต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม และตั้งอยู่บนมาตรฐานของมรรยาททนายความที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจน โดยเหนือสิ่งอื่นใด ยังได้ระบุไว้ว่า “การดำเนินกระบวนการทางวินัยอาจเป็นอาวุธที่ทรงพลังในมือของรัฐบาลในการเข้าแทรกแซงการประกอบกิจกรรมตามวิชาชีพของทนายความ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ฟ้องร้องรัฐ หรือทำการว่าความในคดี หรือให้ลูกความที่ไม่เป็นที่พึงใจของระบอบการปกครองในขณะนั้น”

“กระบวนการลบชื่อทนายจากทะเบียนทนายความ รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ ซึ่งอาจเป็นการเพิกถอนตลอดชีพ ถือเป็นการลงโทษขั้นสูงสุดสำหรับการกระทำผิดที่ร้ายแรงที่สุดต่อข้อบังคับมรรยาททนายความและมาตรฐานทางวิชาชีพ แต่ตามที่ปรากฏในรายงานของประเทศต่างๆ จะเห็นได้ว่า มีหลายประเทศที่ทนายความเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ โดยภัยดังกล่าวมุ่งที่จะขัดขวางไม่ให้ทนายความทำหน้าที่ตามวิชาชีพหรือเป็นการโต้กลับกิจกรรมที่ทำโดยชอบธรรมตามขอบข่ายความรับผิดชอบ”

ผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้แสดงความกังวล “เกี่ยวกับการใช้วิธีลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนทนายความที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นมาตรการในการข่มขู่และขัดขวางทนายความไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ การลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ควรใช้เฉพาะกรณีที่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอย่างร้ายแรงที่สุด ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ภายหลังกระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรม (due process) โดยองค์กรที่เป็นอิสระและเป็นกลางที่ประกันสิทธิของทนายความที่ถูกกล่าวหาแล้วเท่านั้น”

องค์กรระหว่างประเทศทั้งสองจึงเรียกร้องให้สภาทนายความพิจารณา และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของบทบาทของทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการพื้นฐานสหประชาชาติ ว่าด้วยบทบาทของทนายความ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้สภาทนายความ ในฐานะที่เป็นสถาบันทางกฎหมายที่เป็นอิสระ ทำการยกคำกล่าวหาต่อทนายความอานนท์ นำภา เพื่อคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกของเขา และที่สำคัญยิ่งคือสิทธิของลูกความของเขา

 

X