กรุงเทพฯ ประเทศไทย – คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists หรือ ไอซีเจ) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights หรือ TLHR) แถลงยินดีรับคำสั่งของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยกเลิกข้อจำกัดในการทำกิจกรรมทางการเมืองบางประการ ทั้งนี้ ทั้งสององค์กรเน้นย้ำว่าประเทศไทยยังต้องดำเนินการอีกนานัปการเพื่อฟื้นฟูการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มรูปแบบในประเทศก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
คำสั่งฉบับดังกล่าวยกเลิก ข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามผู้ใดชุมนุม “ทางการเมือง” ที่มีจํานวนห้าหรือตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป มิฉะนั้นจะมีโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถูกยกเลิกไปด้วย
“การยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี อย่างไรก็ตาม คำสั่งฉบับใหม่นี้เพียงแต่ยกเลิกข้อจำกัดจำเพาะเพียงประการเดียวในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 เท่านั้น แต่ข้ออื่น ๆ ในคำสั่งฉบับเดียวกัน ยังคงมีผลบังคับใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่ อาทิ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางและไม่สามารถตรวจสอบได้เพื่อสืบสวนสอบสวน จับกุม และกักขังบุคคลเป็นระยะเวลายาวนานถึง 7 วัน” นายคิงสลี่ย์ แอ๊บบอต (Kingsley Abbott) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายระหว่างประเทศของไอซีเจกล่าว
“เราขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราที่มีต่อรัฐบาลให้กระทำการโดยไม่ล่าช้าที่จะแก้ไขและยกเลิกกฎหมายต่างๆ คำสั่งหัวหน้าคสช. คำสั่งและประกาศคสช.ทั้งหมดที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย”
ไอซีเจและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้แสดงความกังวลอย่างมากที่แม้คําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 จักมีผลยกเลิกคำสั่งและประกาศคสช. จำนวนทั้งสิ้น 9 ฉบับ แต่ทว่าข้อ 2 ของคำสั่งฯระบุว่า “การดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตาม” ซึ่งได้กระทำไปก่อนเเล้วตามอำนาจของคำสั่งนั้น ๆ จะไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยผลการยกเลิกโดยคำสั่งฉบับนี้ ฉะนั้น คดีความที่ถูกฟ้องโดยอาศัยคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งลงโทษบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการรวมกันเป็นสมาคมจะยังคงถูกพิจารณาในศาลโดยถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
“บรรดาคดีที่ฟ้องโดยอาศัยฐานตามคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3 ในข้อที่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว ควรถูกสั่งยกฟ้องหรือถอนฟ้อง คดีความเหล่านี้ไม่ควรถูกนำมาฟ้องตั้งแต่แรกแล้ว” นายคิงสลี่ย์ แอ๊บบอต กล่าวเพิ่ม
“เพื่อที่จะปูทางสู่การเลือกตั้งในปีหน้า รัฐบาลไทยต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการรวมกลุ่ม แม้ว่าคำสั่งฉบับนี้จะน่ายินดีแต่ก็ยังไม่เพียงพออย่างแน่นอน”
ความเป็นมา
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกอบกับมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2561 ซึ่งยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. คำสั่งคสช. และประกาศคสช. จำนวน 9 ฉบับ เพียงบางส่วนหรือทั้งหมด
มาตรา 44 และ 47 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดอำนาจอย่างกว้างขวางให้คำสั่งหัวหน้าคสช.นั้น “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด” อีกทั้งยังไม่สามารถถูกทบทวนได้ในทางกฎหมาย อำนาจเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
นับตั้งแต่รัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา มีคำสั่งหัวหน้าคสช.อย่างน้อย 203 ฉบับที่ออกตามอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 นอกจากนั้น คสช.ยังได้ออกคำสั่งคสช.อย่างน้อย 213 ฉบับ และประกาศคสช. อีกอย่างน้อย 129 ฉบับ
ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 กระทั่ง 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 คสช.สั่งฟ้องโดยอาศัยบทบัญญัติข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนอย่างน้อย 43 คดี ต่อผู้ต้องหาจำนวน 341 คนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นคดีประมาณสองรายต่อหนึ่งวันหรือเดือนละหนึ่งคดี
ทนายความในประเทศไทยได้เริ่มเฟ้นหาข้อกฎหมายภายในประเทศ ที่จะสู้คดีให้ลูกความของตนที่ถูกดำเนินคดีโดยอาศัยบทบัญญัติตามข้อ 12 ของคําสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ในระยะเวลาก่อนวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ได้แก่ บทบัญญัติในมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพ ความปลอดภัยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 ในระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Committee) พิจารณารายงานตามวาระฉบับที่สองของประเทศไทยภายใต้มาตรา 40 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น คณะกรรมการฯได้แนะนำให้ประเทศไทย “ทบทวนมาตรการทั้งหมดที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้อำนาจตามมาตรา 44 47และ 48 ในส่วนที่เกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศฯฉบับนี้ และประกันว่ามาตรการที่จะได้รับเอาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงมาตรา 279 จะสอดรับกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศฯฉบับนี้”
คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 22/2561 มีผลยกเลิกประกาศและคำสั่งเป็นการเฉพาะ จำนวนทั้งสิ้น 9 ฉบับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 คำสั่งและประกาศที่ถูกยกเลิก มีดังต่อไปนี้
คำสั่ง/ประกาศ | เรื่อง | วันที่ | หมายเหตุ |
คำสั่งคสช. ที่ 10/2557 | ห้ามทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่จําเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เฉพาะ ข้อ 1(2) | 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง |
คำสั่งคสช. ที่ 26/2557 | ห้ามทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลเท่าที่จําเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม | 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | กรณีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และ จ่าสิบตำรวจ ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ |
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 | กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคสช. | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ |
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 | กําหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกกักตัวตามมาตรา ๑๕ ทวิแห่งกฎอัยการศึก | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 | ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ |
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 | ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป เฉพาะข้อ 2 | 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 | ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใด ๆ ในทางการเมือง ฯลฯ |
คำสั่งคสช. ที่ 80/2557 | ให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด | 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 | ห้ามแกนนำพรรคการเมือง รวมทั้งสิ้น 18 คน เดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือทำกิจกรรมใด ๆ ทางการเมือง |
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (เฉพาะข้อที่ 12) | การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เฉพาะข้อที่ 12 | 1 เมษายน พ.ศ. 2558 | ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป |
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 | การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เฉพาะข้อที่ 4 5 และ 7 | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2560 | ห้ามพรรคการเมืองจัดการประชุมใหญ่ |
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 | การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เฉพาะข้อ 6 | 14 กันยายน พ.ศ. 2561 | ห้ามพรรคการเมืองดำเนินการอันเป็นการหาเสียงบนโลกออนไลน์ |
อ่านแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้อง
แถลงการณ์เรื่อง “ประเทศไทย: ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ” โดยไอซีเจ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561
อ่านแถลงการณ์เพิ่มเติม
คำแถลงร่วม เรื่อง “คำแถลงร่วมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะประการสำคัญที่ประเทศไทยได้รับจากการพิจารณารายงานตามวาระฉบับที่สอง โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมสมัยที่ 119” โดย ไอซีเจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561
คำแถลงร่วมเรื่อง “คำแถลงร่วมต่อคณะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” โดย ไอซีเจและ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560