‘ไผ่’ ยื่นคำร้องขอศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ‘ชูป้ายค้านรัฐประหาร’ และ ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ หวังนำไปยื่นขอพักโทษ แต่ศาลทหารยังไม่มีคำสั่ง รอสั่งเดือน มี.ค. เหตุต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง
22 ม.ค. 2562 ทนายความของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ยื่นคำร้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) ขอให้สั่งจำหน่ายคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ซึ่งยังไม่เริ่มสืบพยาน (อ่านความคืบหน้าคดีล่าสุดที่นี่) ออกจากสารบบความ เนื่องจากคดีนี้อัยการศาล มทบ.23 ฟ้องเขาและคนอื่น ๆ รวม 9 คน ในข้อหา ชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ในภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นผลทำให้สิทธินำคดีอาญาขึ้นฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45
พร้อมกันนี้จตุภัทร์ยังมีคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 ฟ้องเขาในข้อหาเดียวกันนี้ โดยคดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา (อ่านความคืบหน้าคดีล่าสุดที่นี่)
ต่อมา ตุลาการศาล มทบ.23 มีคำสั่งระบุว่า รอสั่งเรื่องนี้ในวันนัดคดี ซึ่งมีกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ในวันที่ 4 มี.ค. 2562 เหตุที่ต้องรอสั่งในวันดังกล่าว เนื่องจากต้องรอคำสั่งเรื่องการจำหน่ายคดีที่ฟ้องในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 จากฝ่ายวิชาการ สำนักงานตุลาการศาลทหาร ซึ่งคำสั่งน่าจะมาถึงในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
สาเหตุที่จตุภัทร์ให้ทนายความเข้ายื่นคำร้องในทั้งสองคดีก่อนถึงวันนัดคดีก็เนื่องจากต้องการนำคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวของศาล มทบ.23 ไปยื่นประกอบการขอรับการพักการลงโทษในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทวิเคราะห์ของ BBC Thai เรื่อง พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และจนถึงปัจจุบันจตุภัทร์รับโทษจำคุกมาแล้วกว่า 2 ปี เหลือโทษจำคุกอีกไม่ถึง 6 เดือน ทำให้มีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ (การปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไข คุมประพฤติที่กำหนด) หากไม่มีโทษจำคุกในคดีอื่นอีก
ก่อนหน้านี้ หลัง คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ในคดีที่มีการฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ศาลได้ยกฟ้อง หรือมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วรวม 4 คดี ได้แก่ ศาลแขวงเชียงใหม่ยกฟ้องคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”, ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งจำหน่ายคดีแกนนำ นปช.เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ และคดี ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย‘ รวมทั้งงดถามคำให้การคดี ‘โรม’ ชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ ปี 2558