ผู้ต้องหาเตรียมขอความเป็นธรรม หลังตำรวจส่งสำนวนคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ให้อัยการทหาร

ผู้ต้องหาเตรียมขอความเป็นธรรม หลังตำรวจส่งสำนวนคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ให้อัยการทหาร

7 ก.ย. 60 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นนัดส่งตัวผู้ต้องหา พร้อมสำนวนคดีให้อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) เพื่อพิจารณาสั่งคดี หลังจากคณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้อง กรณีที่ พ.ต.ต.จีรัฐกุล จรัสกมลพงศ์ แจ้งความให้ดำเนินคดี นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวกรวม 11 คน โดยกล่าวหาว่า ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 59 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ผู้ต้องหาซึ่งประกอบด้วยอาคม ศรีบุตตะ และภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และเอ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่, ณัฐพร อาจหาญ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม, รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย, ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ อดีตอาจารย์บัณฑิตศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวม 9 คน เดินทางเข้าพบอัยการทหารตามที่นัดหมาย ส่วนจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกขังอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นอยู่แล้ว หลังจากนั้น อัยการศาล มทบ.23 ได้นัดฟังผลการสั่งคดีในวันที่ 16 ต.ค. 60 โดยให้ผู้ต้องหาเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวมาด้วย ในกรณีที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง และส่งฟ้องต่อศาล มทบ.23 ในวันนั้น

อย่างไรก็ตาม อัยการศาล มทบ.23 ได้ชี้แจงผู้ต้องหาทั้งหมดว่า หากสมัครใจเข้ารับการอบรมหรือปรับทัศนคติเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย คดีก็จะยุติลง ไม่ต้องส่งฟ้องและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ยังไม่แสดงความประสงค์ที่จะเข้ารับการอบรมดังกล่าว 

การเข้ารับการอบรมแล้วคดียุติลงนั้น อาศัยเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ซึ่งระบุว่าผู้กระทำความผิด มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผศ.พรรณวดี ตันติศิรินทร์ เปิดเผยว่า ในส่วนของตนและหมอเชิดชัยจะได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงอัยการทหาร เนื่องจากเราปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิดอย่างที่เขากล่าวหา คดีนี้เจ้าหน้าที่ไม่ควรแจ้งความดำเนินคดีด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องเสียหาย  ทั้งนี้ นพ.เชิดชัยได้เคยให้ข้อมูลว่า ในวันเกิดเหตุได้รับการนัดหมายจากเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปเพื่อขอสัมภาษณ์ จึงเข้าไปพบที่บริเวณจัดงานเนื่องจากเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปมาสังเกตการณ์กิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ” ด้วย

ด้านณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ ให้ความเห็นว่า คดีนี้ตนและเพื่อนยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาเนื่องจากเราคิดว่าเราไม่ผิด มันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเราที่ควรทำได้ เรื่องที่เราทำก็เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนควรพูดถึงได้ เมื่อเราเชื่อว่าเราไม่ผิดก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรมเพื่อปรับหรือฟื้นฟูอะไร

กิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ จัดขึ้นโดยนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 59 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีการจัดงานในลักษณะเดียวกันนี้จากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. สร้างบรรยากาศการลงประชามติที่ ‘Free and Fair’ คือทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน แต่มีกิจกรรมนี้เพียงกิจกรรมเดียวที่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X