‘ไผ่’ ลุ้นพักโทษคดี 112 หลังศาลทหารขอนแก่นจำหน่ายคดี 3/58 รวม 3 คดี

4 ก.พ. 62 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) มีคำสั่งให้งดสืบพยานในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร และพูดเพื่อเสรีภาพฯ และสั่งจำหน่ายคดีที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 3 คดี เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกแล้ว

เดิมวันนี้เป็นนัดสืบพยานโจทก์คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ของภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ’ไนท์ ดาวดิน’  ซึ่งเหตุเกิดเมื่อ 22 พ.ค. 58 โดยพยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาล และศาลได้แจ้งว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ข้อ 1 ให้ยกเลิก (7) คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตามข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ในภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นผลทำให้สิทธินำคดีอาญาขึ้นฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(5) ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 45 จึงให้งดสืบพยาน และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

 

นอกจากนี้ในวันนี้ศาลยังได้เบิกตัว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น พร้อมทั้งนัดจำเลยอีก 8 ราย ในคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” ได้แก่ ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์, อาคม ศรีบุตตะ, ณัฐพร อาจหาญ , ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, นีรนุช เนียมทรัพย์, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, รังสิมันต์ โรม และชาดไท น้อยอุ่นแสน  มาศาลเพื่อฟังคำสั่งจำหน่ายคดีไผ่ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร และคดีพูดเพื่อเสรีภาพออกจากสารบบความเช่นกัน โดยก่อนหน้ามีคำสั่งในวันนี้ คดีไผ่ชูป้ายฯ อยู่ระหว่างรอฟังผลการส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 หรือไม่ ก่อนศาล มทบ.23 จะมีคำพิพากษา ขณะที่คดีพูดเพื่อเสรีภาพยังไม่เริ่มสืบพยาน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 62 ทนายความของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เข้ายื่นคำร้องต่อศาล มทบ.23 ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีทั้งสอง เนื่องจากต้องการนำคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวของศาล มทบ.23 ไปยื่นประกอบการขอรับการพักการลงโทษในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีแชร์บทวิเคราะห์ของ BBC Thai เรื่อง พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และจนถึงปัจจุบันจตุภัทร์รับโทษจำคุกมาแล้วกว่า 2 ปี เหลือโทษจำคุกอีกไม่ถึง 6 เดือน ทำให้มีคุณสมบัติเข้าตามเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ (การปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไข คุมประพฤติที่กำหนด) หากไม่มีโทษจำคุกในคดีอื่นอีก แต่ตุลาการศาล มทบ.23 มีคำสั่งระบุว่า รอสั่งเรื่องนี้ในวันนัดคดี ซึ่งมีกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกในคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’  ในวันที่ 4 มี.ค. 62  เนื่องจากต้องรอคำสั่งจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานตุลาการศาลทหาร ซึ่งคำสั่งน่าจะมาถึงในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ต่อมาศาลได้นัดหมายให้จำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพทั้ง 9 มาศาลในวันนี้ เพื่อฟังคำสั่งจำหน่ายคดี

พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของไผ่เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ไผ่ได้ยื่นพักการลงโทษไป และถ้าพิจารณาตามระเบียบกรมราชทัณฑ์แล้ว ไผ่มีสิทธิได้รับการพักโทษร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไผ่เป็นนักโทษชั้นดี รับโทษมาแล้วเหลือเพียง 1 ใน 5 ของโทษทั้งหมด คดีถึงที่สุดและไม่มีคดีอะไรที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา เพราะในวันนี้ศาล มทบ.23 มีคำสั่งที่อยู่ในการพิจารณาให้คดีพูดเพื่อเสรีภาพ และคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารถูกจำหน่ายออกจากสารบบ ถือว่าไผ่ไม่ได้เป็นจำเลย ดังนั้นถือว่าไผ่เข้าเงื่อนไขการพักโทษทั้งหมด ส่วนกรณีที่มีประเด็นว่าไผ่ยังเป็นผู้ต้องหาในคดี 14 นักศึกษา เมื่อปี 2558 นั้น คดียังอยู่ในชั้นตำรวจและศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงถือว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์

ด้านภานุพงศ์ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารและคดีพูดเพื่อเสรีภาพกล่าวว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในวันนี้ ตนไม่ได้รู้สึกดีใจแต่อย่างใด เนื่องจากว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีที่ล้วนเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกต่อผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลทั้งสิ้น แต่กลับถูกปิดปากและถูกกลั่นแกล้งด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งที่มันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของเราตั้งแต่แรก แม้จะมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จนนำมาสู่การจำหน่ายคดีในวันนี้ก็ตาม การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้กับ คสช.ว่านั่นคือการหยิบยื่นเสรีภาพให้กับเรา แต่เพราะเรามีเสรีภาพโดยชอบธรรมมาแล้วตั้งแต่ต้น

คดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร สืบเนื่องมาจากกลุ่มนักศึกษาดาวดิน 7 คน ออกมาทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 โดยกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะมีการชูป้ายคัดค้านในโอกาสครบรอบ 1 ปีรัฐประหารแล้ว ยังมีป้ายอื่นๆ ที่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ม.นอกระบบ เรื่องปัญหาทรัพยากร ที่ดิน และเรื่องเขื่อน หลังจากที่นักศึกษากำลังทำกิจกรรม ได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้าควบคุมตัวเข้าค่ายทหาร ก่อนจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในเวลาต่อมา ซึ่งศาลมีคำสั่งฟ้องสองคนคือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยศาลทหารเปิดนอกเวลาราชการ เพื่อฟ้องไผ่ในคดีนี้ และต่อมาอัยการศาลทหารได้มีคำสั่งฟ้อง “ไนท์ ดาวดิน” ในคดีเดียวกัน โดยเป็นการแยกฟ้องคนละครั้ง

ส่วนคดีพูดเพื่อเสรีภาพสืบเนื่องมาจากกิจกรรม ‘พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?’ จัดขึ้นโดยนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 59 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ซึ่งในช่วงดังกล่าวมีการจัดงานในลักษณะเดียวกันนี้จากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. สร้างบรรยากาศการลงประชามติที่ ‘Free and Fair’ คือทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้อย่างอิสระและเท่าเทียมกัน แต่มีกิจกรรมนี้เพียงกิจกรรมเดียวที่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วม ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดี

เมื่อรัฐบาลเผด็จการกลัวการแสดงออกของประชาชน การงัดกฎหมายเพื่อปราบปรามประชาชนจึงเกิดขึ้น และภายหลังรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้กลายเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและทหารใช้ปิดกั้นและแทรกแซงการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมไปถึงการดำเนินคดีกับคนคิดต่างจาก คสช. และภายหลังรัฐประหารมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวมาแล้วอย่างน้อย 378 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผอ.สถาบันสิทธิฯ มหิดล ชี้ ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ เป็นสิทธิพื้นฐานไม่ใช่การชุมนุม

พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนให้การตรชี้ผู้ต้องหาคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” ไม่ได้กระทำผิด

...ประชามติฯ รับรองการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” พยานผู้เชี่ยวชาญให้การตำรวจ

10 ผู้ต้องหาพูดเพื่อเสรีภาพปฏิเสธข้อหา เห็นว่าการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญและประชามติเป็นเสรีภาพ

อีกคดี หมายเรียก “ไผ่ ดาวดิน” ขัดคำสั่งหัวหน้า คสชกรณีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

X