รอความเห็นเขตอำนาจศาลคดีประชามติบางเสาธง เหตุไม่ผิดชุมนุมทางการเมือง

11 ก.พ. 2562 ศาลทหารกรุงเทพนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่บางเสาธง จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากข้อหาชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิก ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ศาลสั่งงดการตรวจพยานหลักฐานและการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล

ประมาณ 10.00 น. องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพออกนั่งพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความในคดีที่เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, และนันทพงศ์ ปานมาศ จำเลยที่ 1-11 ตามลำดับ ถูกฟ้องฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 และก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61

คำร้องของฝ่ายจำเลยระบุว่า ความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 แล้ว จำเลยจึงไม่ใช่ผู้กระทำผิดตามข้อหานี้ โจทก์ไม่มีอำนาจดำเนินคดีและศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีในข้อหานี้อีกต่อไป และเมื่อไม่เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ในฐานความผิดอื่นที่เหลือ เนื่องจากไม่ใช่ฐานความผิดที่กำหนดให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือนได้ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสมุทรปราการ

ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ภายหลังยกเลิกความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และให้งดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้และรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ระหว่างนี้ให้คู่ความทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน เพื่อศาลทหารกรุงเทพจะทำความเห็นยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการให้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 เมื่อศาลจังหวัดสมุทรปราการมีความเห็นจึงจะนัดคู่ความมาฟังคำสั่งต่อไป

คดี ‘ประชามติบางเสาธง’ ถือเป็นคดีความแรกสุดในชุดคดีการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรม นักศึกษาและแรงงาน 13 คน รณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมดำเนินคดี โดยคดีอื่นที่ถูกตั้งข้อหาในลักษณะใกล้เคียงกัน ศาลพลเรือนมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งสิ้น เช่น คดี ‘ลุงสามารถ’ แปะใบปลิวโหวตโนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่, คดี ‘ไผ่ ดาวดิน และวศิน’ แจกเอกสารประชามติที่ศาลจังหวัดภูเขียว, และคดีสติ๊กเกอร์โหวตโนที่ศาลจังหวัดราชบุรี

X