26 มิ.ย. 2560 อัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในคดีแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่ตลาดการเคหะบางพลี และคดีชุมนุมรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช. หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังรังสิมันต์ถูกจับเมื่อ 25 มิ.ย. 2560 ก่อนไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวเพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงรถไฟไทย-จีน เพียงหนึ่งวัน
วันนี้ เวลา 12.00 น. พนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง ควบคุมตัวรังสิมันต์ โรม ถึงศาลทหารกรุงเทพและส่งตัวให้อัยการทหาร หลังจากเมื่อวานนี้ รังสิมันต์ถูกจับกุมขณะกำลังอ่านหนังสืออยู่ในหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร โดยตำรวจ สน.ชนะสงคราม แสดงหมายจับของศาลทหารกรุงเทพ ที่ 62/2559 ลงวันที่ 26 ส.ค. 2559 และควบคุมตัวรังสิมันต์ไว้ในห้องขัง สภ.บางเสาธง เป็นเวลาหนึ่งคืน
อัยการสั่งฟ้องรังสิมันต์พร้อมกัน 2 คดีแรก คือ คดีรณรงค์ประชามติในพื้นที่ สภ.บางเสาธง ตามหมายจับ อัยการบรรยายฟ้องว่าว่ารังสิมันต์ โรม ร่วมกับรักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ, เตือนใจ(สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), และกรชนก(สงวนนามสกุล) ตามคดีดำที่ 281/2559 ของศาลทหารกรุงเทพ กับพวกอีก 8 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ฝ่าฝืนคำสั่งหัว คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 โดยมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง เพื่อต่อต้านการรณรงค์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ณ บริเวณตลาดสดหมู่บ้านการเคหะบางพลี
คำฟ้องคดีประชามติบางเสาธงระบุอีกว่า รังสิมันต์กับพวกได้พูดถ้อยคำผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงในเนื้อหา สาระ ของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และชักชวนประชาชนมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกันกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
คำขอท้ายคำฟ้องยังระบุให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของรังสิมันต์มีกำหนด 10 ปี อีกด้วย
ส่วนอีกคดีหนึ่งที่อัยการสั่งฟ้องรังสิมันต์ในวันนี้ คือ ข้อหาข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในคดีชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เพื่อรำลึก 1 ปีรัฐประหารของ คสช.
คำฟ้องระบุว่า รังสิมันต์ร่วมกับชาติชาย แกดำ, นัชชชา กองอุดม, ตามคดีดำที่ 86/2558 ของศาลทหารกรุงเทพ และพรชัย ยวนยี จำเลยตามคดีดำที่ 240/2558 ของศาลทหารกรุงเทพ กับชลธิชา แจ้งเร็ว, รัฐพล ศุภโสภณ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ปกรณ์ อารีกุล, และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง และบุคคลอื่นอีกหลายคน ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง คัดค้านการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของ คสช. ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12
คำขอท้ายฟ้องระบุว่า ขอให้ศาลนับโทษจำคุกรังสิมันต์ในคดีนี้ต่อจากคดีประชามติบางเสาธง
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ขังรังสิมันต์ระหว่างการพิจารณาคดีในทั้งสองคดี แต่ทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดในคดีประชามติบางเสาธงจำนวนเงิน 50,000 บาท ส่วนคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ฯ เป็นจำนวนเงิน 10,000บาท โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุมอันจะก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ อันกระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ทั้งนี้ รังสิมันต์จะได้ปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพคืนนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับ “โรม” กลางห้องสมุด กทม. ใช้หมายจับคดีแจกเอกสารประชามติปี 59