เปิดคำแก้ข้อกล่าวหา “ผิดมรรยาททนายความ” ของอานนท์ นำภา ยืนยันใช้สิทธิในฐานะพลเมืองแสดงความเห็นติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหลักการ ปชต.

จากกรณีที่อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 กล่าวหาว่า อานนท์ นำภา มีพฤติกรรมเข้าข่าย ผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากกระทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….” จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” 

นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนของสภาทนายความฯ เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาประพฤติผิดมรรยาททนายความของอานนท์ ซึ่งกระบวนการสอบสวนจะดำเนินไประหว่างวันที่ 2, 20 มิ.ย.,18 ก.ค.,1, 22 ส.ค. และ 5 ก.ย. 2565 (อ่านลำดับเหตุการณ์คดีสอบมรรยาททนายความของอานนท์)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านคำแก้ข้อกล่าวหาของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ยื่นต่อสภาทนายความไว้เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 มีเนื้อหายืนยันการใช้เสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งสภาทนายความไม่ควรนำข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ มาใช้พิจารณาจํากัดสิทธิเสรีภาพของเขา อีกทั้งการปราศรัยในครั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยยึดตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ รายละเอียดคำแก้ข้อกล่าวหามีดังนี้ 

.

1. ผู้ถูกกล่าวหาประกอบวิชาชีพทนายความโดยยึดถือไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของทนายความมาโดยตลอดกว่า 13 ปี 

ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ทนายความมากว่า 13 ปี ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลากหลายประเด็น ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน แรงงาน และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกกล่าวหาหวังอยู่เสมอว่าประชาชนทุกคนจะเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย 

ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นสมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ใช้วิชาชีพทนายความพัฒนาและสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด 

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประกาศให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจําปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารําลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อประกาศเกียรติคุณของผู้ถูกกล่าวหาที่ทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2541 ปีเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Time ให้เป็น 1 ใน 100 คน ในหมวดผู้นำผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคม และ Thailand Zocial Award ยังได้มอบรางวัลบุคคลแห่งปี สาขาเคลื่อนไหวทางสังคมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ องค์กร Lawyers for Lawyers และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists : ICJ) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทํางานเสริมสร้างการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ได้มีหนังสือถึงนายกสภาทนายความ เรียกร้องให้พิจารณาถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้การยอมรับบทบาทของทนายความ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกคํากล่าวหา เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหา เช่นเดียวกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายองค์กรที่ได้มีหนังสือถึงนายกสภาทนายความเรียกร้องให้ยกคํากล่าวหา เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด ทั้งยังแสดงความคาดหวังต่อสภาทนายความว่าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทนายความ และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบุคคลใด

.

2. การปราศรัยเมื่อ 3 ส.ค. 63 เป็นการพูดถึงปัญหาอย่างเคารพตัวเอง ผู้ฟัง และสถาบันกษัตริย์ 

ช่วงเวลาที่มีการกล่าวหาในคดีนี้ สังคมไทยมีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นสาธารณะอยู่แล้ว กล่าวคือ หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ประชาชนได้มีการตั้งคําถามต่อสถาบันกษัตริย์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ในประเด็นเกี่ยวกับบาทบาทหน้าที่ทางการเมือง การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน กระบวนการทําให้ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาเป็นของทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ถูกปิดกั้นไม่ให้มีการพูดในที่สาธารณะ จนกระทั่งมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทำให้นิสิต นักศึกษา ประชาชน หมดความอดทนต่อสภาพสังคม และลุกขึ้นมาพูดถึงต้นตอของปัญหาของสังคมไทย นำมาซึ่งการถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า เราไม่มีทางแก้ปัญหาหากไม่พูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นที่มาของการปราศรัยในที่สาธารณะเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นการพูดอย่างเคารพต่อตัวเอง ผู้ฟัง และสถาบันกษัตริย์ 

ผู้ถูกกล่าวหาเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เองจะใจกว้าง และสังคมจะใจกว้างเปิดใจรับฟังปัญหาอย่างมีวุฒิภาวะ อันจะนําไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและอย่างยั่งยืน 

.

.
3. ผู้กล่าวหาใช้สิทธิในการกล่าวหาโดยไม่สุจริต และใช้คดีเป็นเครื่องมือจํากัดสิทธิในการแสดงความคิดทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา 

อภิวัฒน์ ขันทอง ผู้กล่าวหาในคดีนี้มีตําแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสถานะพิเศษที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจรัฐ นอกจากนี้ อภิวัฒน์ยังเป็นผู้รับมอบอํานาจจากบุตรสาวขอพลเอกประยุทธ์เข้าแจ้งความดําเนินคดีกับผู้ที่เผยแพร่ข้อความเท็จ จึงถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ และถือได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง เพราะในคำปราศรัยของอานนท์มีส่วนที่กระทบโดยตรงกับการใช้อํานาจรัฐของพลเอกประยุทธ์เพื่อขยายพระราชอํานาจกษัตริย์  

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ และไม่ได้เป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความแต่อย่างใด การกล่าวหาของอภิวัฒน์จึงเป็นการจงใจใช้สภาทนายความเป็นเครื่องมือปิดปากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา ถือเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Lawsuit against Public Participation : SLAPPs) ซึ่งเป็นการใช้วิชาชีพทนายความไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ พฤติการณ์เช่นนี้เองที่ควรถูกพิจารณาว่าสร้างความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพทนายความ

.  

4. อานนท์ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ 

อภิวัฒน์ไม่ได้ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการมรรยาททนายความให้ผู้กล่าวหาถอดข้อความคำปราศรัยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 จากไฟล์เสียงเป็นลายลักษณ์อักษรโดยละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณา ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจทราบได้ว่า นอกจากที่ปรากฏในคำร้อง คำปราศรัยส่วนใดบ้างที่อภิวัฒน์กล่าวหาว่าเป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความ และผิดข้อใดบ้าง ผิดอย่างไร อันเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 30 

การที่คณะกรรมการมรรยาททนายความส่งคํากล่าวหามาให้ผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่มีข้อเท็จจริงที่กล่าวหาอย่างครบถ้วน จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองที่กระทบต่อสิทธิของผู้กล่าวหาอย่างร้ายแรง และทําให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้โต้แย้งข้อเท็จจริงต่างๆ ได้อย่างเพียงพอด้วย 

.

5. การดําเนินคดีมรรยาททนายความในคดีนี้เป็นการใช้อํานาจโดยมิชอบ 

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่อภิวัฒน์กล่าวหานั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำในฐานะส่วนตัวที่เป็นบุคคลหรือประชาชนคนไทยที่ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตนเองให้บุคคลอื่นรับรู้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 33 และมาตรา 44 ไม่ใช่การกระทำในระหว่างการทําหน้าที่ทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคล จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 

การร้องในคดีมรรยาททนายความของอภิวัฒน์ในคดีนี้ต่อผู้ถูกกล่าวหาจึงถือว่าเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ผิดพลาดในเรื่องของการใช้ข้อบังคับสภาทนายความฯ โดยมีวัตถุประสงค์ “มุ่งจํากัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาที่กระทําในนามส่วนตัว” ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการ “ควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพของอาชีพทนายความ” ของ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นฐานอำนาจในการออกข้อบังคับดังกล่าว 

ดังนั้น หากคณะกรรมการมรรยาททนายความมีคําสั่งทางปกครองเกี่ยวกับมรรยาททนายความลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยอาศัยข้อบังคับมรรยาททนายและข้อเท็จจริงตามผู้กล่าวหา ย่อมต้องถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครองที่ออกมาโดยการใช้อํานาจมิชอบ (Abuse of Power) ไปด้วย เพราะเป็นการใช้อํานาจทางปกครองไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

.

6.  อานนท์ปฎิเสธคำกล่าวหา ไม่ได้กระทำเสื่อมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติคุณของทนายความ เพียงแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต

ผู้ถูกกล่าวหายืนยันปฏิเสธคํากล่าวหา เนื่องจากไม่ได้ประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อ 18 แต่อย่างใด

กล่าวคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชอํานาจของสถาบันกษัตริย์ที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวถึงนั้น ได้ถูกตราขึ้นและบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว การแสดงความคิดเห็นว่ากระบวนการและ/หรือเนื้อหาของกฎหมายไม่เป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างไร ย่อมสามารถกระทําได้โดยชอบธรรมตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม 

หากสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวถูกจํากัดปิดกั้นด้วยการกล่าวหาว่าเป็นความผิด เป็นการกระทําอันมิบังควร และขัดต่อศีลธรรมอันดี สังคมย่อมตกอยู่ในสภาวะไม่ปกติและอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวอันไม่ใช่ลักษณะและความมุ่งหมายของสังคมประชาธิปไตยแต่อย่างใด 

หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ หลักการที่ 23 กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสมาคมของทนายความไว้ชัดเจนว่า “ทนายความมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในความเชื่อ การรวมสมาคม และการชุมนุมเช่นเดียวกับพลเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทนายความมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย การบริหารความยุติธรรม และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุยชน” อีกด้วย 

อานนท์ยืนยันด้วยว่า ตลอดระยะเวลานับแต่ประกอบวิชาชีพทนายความจนปัจจุบัน ได้ยึดถืออุดมการณ์ผดุงความยุติธรรมในสังคมตลอดมา ซึ่งเป็นไปตามความหมายและลักษณะที่ระบุไว้ในคู่มือการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ (ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2548)  

.

.

7. คำให้การแก้ข้อกล่าวหา  

7.1 ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการพัฒนา คงอยู่อย่างยั่งยืน

ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะปราศรัยในวันที่ 7 ส.ค. 2563 นั้น คนไทยไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาการกล่าวถึงสถาบันกษัติรย์หมิ่นเหม่ต่อการถูกดําเนินคดีด้วยมาตรา 112 แม้จะไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการ ถูกดําเนินคดี และมักจะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะทนายความ ไม่อาจทนเห็นกระบวนการยุติธรรมและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกทําลายลงได้อีกต่อไป และเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่สังคมควรตระหนักรู้ว่าสามารถทําได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ปรับปรุงให้คงอยู่อย่างยั่งยืนในสังคมไทยสืบไป 

การปิดกั้นหรือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเอาคนที่แสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ไปติดคุก ย่อมก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม ซึ่งสภาวะเสื่อมถอยของสถาบันกษัตริย์กําลังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น การแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ของผู้ถูกกล่าวหาล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานทั้งสิ้น และต้องใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างมากในการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา 

.

7.2 สิ่งที่ปราศรัยเรียกร้องเป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 

ที่อภิวัฒน์กล่าวหาว่า การปราศรัยของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการให้ร้ายสถาบันกษัตริย์โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน อันเป็นการกระทำที่ขัดกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทยนั้น ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า ปวงชนชาวไทยไม่ได้หน้าที่เพียงการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา กษัตริย์ แต่ยังมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และจะต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1)(2)(10) 

อานนท์ยืนยันว่าคําปราศรัยของตนไม่ได้เป็นตามที่ถูกกล่าวหา ในทางกลับกันผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และด้วยความเคารพในสถาบันกษัตริย์

ทั้งนี้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเรียกร้องให้ผู้มีอํานาจและใช้อํานาจต้องถูกตรวจสอบได้ มีความ รับผิดชอบในทางการเมืองและในทางกฎหมาย ถูกฟ้องร้องดําเนินคดีและถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถูกออกแบบให้กษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล หมายความว่า องค์กรเหล่านี้เป็นผู้ใช้อํานาจและรับผิดชอบ กษัตริย์เป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด จึงไม่ต้องรับผิดใดๆ ซึ่งเป็นการเทอดพระเกียรติ และทําให้สถาบันกษัตริย์ดํารงอยู่อย่างเป็นที่เคารพสักการะ เป็นไปตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กําหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” 

เพื่อการนี้จึงจําเป็นต้องรักษาสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นกลางทางการเมือง ป้องกันมิให้สถาบันกษัตริย์มีอํานาจบริหารราชการแผ่นดินหรือประกอบธุรกิจ เพราะจะมีความรับผิดชอบตามมา อันจะนํามาซึ่งการถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ ส่งผลกระทบกับสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ 

แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อํานาจในการบริหารราชการแผ่นดินตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินกษัตริย์ พ.ศ. 2561 ถวายพระราชอํานาจในการจัดการทรัพย์สินกษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และจะส่งผลต่อสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะของสถาบันกษัตริย์ได้ 

นอกจากนี้ ผลของการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว ทําให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปรวมอยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในความดูแลของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า การดําเนินการดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาในฐานะปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ ตามมาตรา 50(2) ของรัฐธรรมนูญ 2560 และมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย 

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคําวินิจฉัยที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562 วางหลักการพื้นฐานที่สําคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความหมายของมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะให้หมายถึงว่า การที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงดํารงฐานะเป็นกลางและอยู่เหนือการเมืองตามหลักการ “ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง” ซึ่งมีความแตกต่างจากระบอบราชาธิปไตยอํานาจสมบูรณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจทางการเมืองและยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

การที่ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยคัดค้านการกระทําของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ที่ได้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงกฎหมายถวายพระราชอํานาจให้กับกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันขัดหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ถือว่าเป็นการเรียกร้องที่สอดคล้องกับคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นและกระทําไปด้วยเจตนาดี ทั้งนี้ การตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ของคณะกรรมการมรรยาททนายความจะต้องผูกพันต่อคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นด้วย

.

7.3 คํากล่าวหาไม่ชัดเจนเพียงพอ ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาได้ 

อานนท์ยังแก้ข้อกล่าวหาของอภิวัฒน์ที่ว่า ให้ร้ายสถาบันกษัตริย์โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน โดยการแสดงหลักฐานและเหตุผลในประเด็นต่างๆ ตามที่อภิวัฒน์ถอดคำปราศรัยยกมาในคำบรรยายข้อกล่าวหา แต่นอกเหนือจากประเด็นเหล่านี้แล้ว เมื่อผู้กล่าวหาไม่ได้ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการมรรยาททนายความที่ให้ผู้กล่าวหาถอดความคําปราศรัยโดยละเอียด คํากล่าวหาจึงไม่ชัดเจนเพียงพอ และผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาในส่วนอื่นๆ ที่ผู้กล่าวหาไม่ได้ยกข้อความมาได้

คำแก้ข้อกล่าวหาในประเด็นที่อภิวัฒน์ยกมามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

7.3.1 คําปราศรัยประเด็นกษัตริย์รับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ประยุทธ์-วิษณุ ให้สัมภาษณ์

ประเด็นกษัตริย์รับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ปรากฏตามภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 10 ม.ค. 2560 ว่า 

“เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ที่ทําเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่คณะองคมนตรีเข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากสํานักราชเลขาธิการได้ทําเรื่องมาที่รัฐบาลว่า มีประเด็นที่ต้องหารือร่วมกับรัฐบาลถึงเรื่องของหมวดกษัตริย์ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งองคมนตรีได้นําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว  

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งว่า มีบทบัญญัติ 3-4 รายการ ที่จําเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอํานาจของพระองค์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลรับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว โดยจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งที่ประชุมร่วม ครม. และ คสช. ในวันนี้ (10 ม.ค.) มีมติเห็นชอบให้ใช้อํานาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ออกคําสั่งเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ โดยตนคาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และหลังจากนําร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกนําขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว กลับลงมาเพื่อแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก่อนจะส่งขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตามการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องหาวิธีทําให้ได้โดยไม่ต้องไปทําประชามติอีกครั้ง เพราะเรื่องที่แก้ไขนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน “เรื่องนี้อยู่ในกรอบเวลา เพราะเดิมจะครบกําหนด 90 วัน ในวันที่ 6 ก.พ. นี้ ตอนนี้ถ้าส่งร่างรัฐธรรมนูญลงมาแล้ว เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ถ้าจะให้เร็วก็ประมาณ 1 เดือน การแก้ร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเสร็จภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า แล้วจะได้เสนอขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง ก็ขอเถอะ เพราะเป็นพระราชอํานาจของพระองค์ท่าน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว” 

เช่นเดียวกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กษัตริย์ที่ไม่อยู่ในประเทศไทยไม่ต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนปรากฏตามภาพข่าว จากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 10 ม.ค. 2560 ว่า 

“นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เพื่อเปิดทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้วว่า เป็นการดําเนินการให้สามารถขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว กลับมาปรับปรุงบางมาตราตามที่มีการแจ้งมา ซึ่งมีไม่กี่มาตรา… เมื่อถามว่า มาตราที่จะแก้ไข คือ มาตรา 5, 13 และ 182 ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องดูว่าทั้งสามมาตราที่พูดถึงจะเกี่ยวพันกับมาตราใดอีกบ้าง หากมีก็ต้องตามไปแก้ด้วย ยืนยันจะไม่มีส่วนใดไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ” ซึ่งมาตราที่มีการแก้ไขก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งผู้สําเร็จราชการแทนและการดําเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติของประชาชน

ผู้ถูกกล่าวหามีความเห็นในฐานะประชาชนพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว ได้ผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนเรียบร้อยแล้ว การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ ภายหลังจากกระบวนการดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย เป็นการละเลยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญฯ ตามกฎหมาย ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และตามหลักการสากล ในการแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน 

.

.

7.3.2 ปราศรัยประเด็นการออก พ.ร.ก.โอนหน่วยทหารไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

การตราพระราชกําหนดโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 เป็นการโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการ “ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง” ตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวไปแล้วข้างต้น และในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศใดที่ให้กําลังพลจํานวนมากขนาดนี้อยู่ภายใต้การปกครองส่วนพระองค์ของกษัตริย์ 

อานนท์เห็นว่าการออกพระราชกําหนดดังกล่าว อาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการทําให้สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สามารถกระทําได้ ไม่เป็นการประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อ 18 แต่อย่างใด

.

7.3.3 คําปราศรัยประเด็นงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้ 

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2563 จากเว็บไซต์ของสํานักงบประมาณ พบว่า ภาพรวมงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีจํานวน 29,728 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.93 ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2563 (3.2 ล้านล้านบาท) หากรวมงบประมาณของหน่วยงานใดๆ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานแต่มีชื่อเกี่ยวเนื่องกับสถาบันเพื่อเทอดพระเกียรติด้วย จะรวมเป็นงบประมาณจํานวน 30,990 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณจากสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการ ให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความสะดวกปลอดภัยสูงสุด จํานวน 5,528 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้ใช้งบประมาณแผ่นดินสนับสนุน โครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศสําหรับแบรนด์ Sirivannavari จํานวน 13 ล้านบาท ทั้งที่มีฐานะเป็นแบรนด์ของเอกชน 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวอันเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะที่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นประชาชนผู้เสียภาษี สามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวได้โดยสุจริต และประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะติชมวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

.

7.3.4 คําปราศรัยประเด็นสถาบันกษัตริย์ปล่อยให้ประยุทธ์แอบอ้างเพื่อประโยชน์ตนเอง เหตุเพราะพฤติการณ์ประยุทธ์ก่อความเคลือบแคลง สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์

ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อรักษาอํานาจ และผลประโยชน์ของตนเองในหลายกรณี ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร้ความรับผิดชอบและไร้ภาวะผู้นํา อันจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ได้ จึงได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว เพื่อให้พลเอกประยุทธ์ทบทวนแนวทางการบริหารราชการไปในทางที่ส่งเสริมให้สถาบันกษัตริย์ดํารงอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงและสง่างามภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย

อานนท์ยกตัวอย่างกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามถ้อยคําที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยพลเอกประยุทธ์รับว่าเป็นความบกพร่องของตนเองแต่เพียงผู้เดียว แต่ภายหลังก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ กลับอ้างพระราชดํารัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ให้กําลังใจในการปฏิบัติหน้าที่มารับรองและกลบเกลื่อนความผิดพลาดบกพร่องของตนเอง อันเป็นเรื่องมิบังควรอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวและปรากฏประเด็นนี้ในการประชุมสภาผู้แทนราฎรสมัยสามัญประจําปีครั้งที่ 1 วัน พุธที่ 18 ก.ย. 2562  

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองเพื่อรักษาอํานาจของตน แต่อ้างว่าทําเพื่อสถาบันกษัตริย์ การที่สถาบันกษัตริย์ยังนิ่งเฉยอยู่ ปล่อยให้พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือจนปรากฏเป็นข่าวในทางสาธารณะว่ามีการดําเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจํานวนมาก ในอัตราโทษสูง เข้าข่ายละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน ย่อมส่งผลในทางอ้อมให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งในสังไทยและสังคมโลกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งที่มิใช่ความประสงค์ของสถาบันกษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า 

“…ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก…” และพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่พลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตารับสั่งไม่ให้ใช้ ม.112 กับประชาชน 

.

7.4 ข้อกล่าวหาว่า อานนท์กระทําความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ม. 112 – ม.116 ศาลยังไม่ได้พิพากษา

คำกล่าวหาที่อภิวัฒน์ยื่นต่อนายกสภาทนายความและกรรมการมรรยาททนายความ ยังได้กล่าวหาอานนท์ว่า กระทำผิดต่อข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 โดยอานนท์แก้ข้อกล่าวหาว่า แต่เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563  อภิวัฒน์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ถูกกล่าวหา ณ สถานีตํารวจนครบาลสําราญราษฎร์ แล้ว นอกจากนี้ผู้กล่าวหายังได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ถูกกล่าวหาในกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี 

แต่ปัจจุบัน ศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา อภิวัฒน์ในฐานะที่เป็นทนายความ และในฐานะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ควรมีความรู้เกี่ยวกับหลักการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” 

ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนและคณะกรรมการมรรยาททนายความ ไม่อาจนําข้ออ้างดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาได้ จนกว่าผู้ถูกกล่าวหาจะถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําความผิดตามมาตรา 112 และ 116 ดังกล่าว

.
8. ยืนยันใช้สิทธิในฐานะพลเมือง แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยความเคารพ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา สภาทนายความไม่ควรนำข้อบังคับมาใช้จำกัดสิทธิดังกล่าว

การปราศรัยของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในฐานะเป็นพลเมืองคนหนึ่ง และเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยความเคารพ เพื่อให้เกิดการทบทวนและแก้ไขปัญหาที่ประชาชนกําลังพูดถึงกันอยู่โดยทั่วไป แต่ไม่มีใครกล้าพูดในที่สาธารณะ การกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในที่ลับนั้น รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียพระเกียรติของสถาบัน การที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นสาธารณะ ก็เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ 

หากพิจารณาคําปราศรัยของผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีสติ มีใจเป็นธรรม และปราศจากความกลัวแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีถ้อยคําใดเลยที่เป็นการให้ร้าย เสียดสี ล่วงละเมิด หรือจาบจ้วงต่อสถาบันกษัตริย์ อันจะก่อให้เกิดความชิงชังต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามคํากล่าวหาของผู้กล่าวหา การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นการประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีหรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อ 18 

อีกทั้งข้อบังคับสภาทนายความฯ ข้อ 18 ดังกล่าว ก็ไม่ควรนํามาใช้พิจารณาในทางจํากัดสิทธิเสรีภาพของทนายความในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นองค์กรวิชาชีพที่ต้องทําหน้าที่อย่างอิสระ เป็นกลาง ไม่ถูกแทรกแซงจากอํานาจภายนอกหรืออํานาจภายในคืออคติและความกลัว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“อานนท์” ขอต่อสู้คดีสอบมรรยาททนายความจากเรือนจำ กรณี “อภิวัฒน์ ขันทอง” ร้องเรียนปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลส่งจดหมายถึงสภาทนายฯ เรียกร้องยกเลิกข้อกล่าวหาสอบมารยาท “ทนายอานนท์”

.

X