เนติบัณฑิตยสภาฯ แห่งทวีปยุโรปส่งจดหมายถึง ร.10 ขอให้รับรองว่าทนายอานนท์จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะทนายความได้โดยชอบธรรม

จากกรณีที่อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 กล่าวหาว่า อานนท์ นำภา มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” 

นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนของสภาทนายความฯ เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาประพฤติผิดมรรยาททนายความของอานนท์ เมื่อช่วงกลางปี 2564 และต่อมามีการกำหนดวันนัดเพื่อสอบสวนระหว่างวันที่ 2, 20 มิ.ย., 18 ก.ค., 1, 22 ส.ค. และ 5 ก.ย. 2565 นั้น 

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 เนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรป [The Council of Bars and Law Societies of Europe (CCBE)] และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานส่งเสริมด้านนิติธรรมและสนับสนุนให้วิชาชีพนักกฎหมายมีเสรีภาพและเป็นอิสระที่ชื่อ Lawyers for Lawyers (L4L) มีหนังสือแสดงความห่วงใยถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนและกระบวนการสอบสวนประพฤติผิดมรรยาทกรณีทนายอานนท์ของคณะกรรมการมรรยาทนายความ สภาทนายความฯ โดยทั้งสององค์กรส่งหนังสือสรุปใจความได้ว่า

Lawyers for Lawyers และเนติบัณฑิตยสภาและองค์กรกฎหมายแห่งทวีปยุโรปมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อกระบวนการการสอบสวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของนายอานนท์ นำภา ผู้ซึ่งเป็นทั้งทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการการสอบสวนขึ้น เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 1/2564 

ทางองค์กรได้รับข้อมูลว่า กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา มีความเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 โดยผู้ร้องเรียนได้กล่าวหาว่าพฤติกรรมของนายอานนท์ นำภานั้นอาจเป็น “การปลุกระดม มีความตั้งใจที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ  บิดเบือนข้อความจริง และหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งขัดต่อข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ 

ทว่าคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นเพียงการเรียกร้องถึงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 

จากข้อมูลของทางองค์กร การไต่สวนครั้งแรกถูกเลื่อนออกไปถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 เนื่องจากนายอานนท์ นำภาถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี ดังนั้นการไต่สวนที่ถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 7 เม.ย. 2565 ทั้งสองฝ่ายจึงเข้าแสดงตัวต่อคณะกรรมการการสอบสวนฯ เพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน 

คณะกรรมการสอบสวนฯ นัดสืบพยานฝั่งผู้กล่าวหาในวันที่ 2 และ 20 มิ.ย. 2565 และมีการนัดสืบพยานฝั่งผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 18 ก.ค., 1 และ 22 ส.ค. และ 5 ก.ย. 2565 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ผู้กล่าวหาไม่ได้เข้าร่วมการสืบพยาน ดังนั้นการสืบพยานจึงถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 20 มิ.ย. 2565 โดยหลังจากการตรวจสอบพยานเสร็จสิ้น คณะกรรมการสอบสวนฯ จะมีการกำหนดวันนัดเพื่อออกคำสั่งต่อไป

ตามหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (The United Nations Basic Principles on the Role of Lawyers) ทนายความทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ มากไปกว่านั้นตามหลักการข้อที่ 27, 28 และข้อที่ 29 ระบุไว้ว่าทนายความทุกคนพึงมีสิทธิได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ภายใต้คณะกรรมการทางวินัยที่เป็นกลาง ซึ่งมีความสอดคล้องต่อมาตรฐานและจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาชีพกฎหมาย 

ทั้งนี้ องค์กรขอความกรุณาให้พระองค์ใช้พระราชอำนาจตามขอบเขตเพื่อให้การรับรองว่าทนายอานนท์ นำภา สามารถดำเนินกิจกรรมอันชอบธรรมในฐานะทนายความ โดยปลอดจากการแทรกแซง 

นอกจากนี้ ทางองค์กรขอให้ท่านใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นในการรับประกันว่าทนายความทุกคนในประเทศไทยสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพนักกฎหมายได้โดยปราศจากความกลัวจากการแก้แค้น ปลอดจากการถูกข่มขู่ ขัดขวาง คุกคาม หรือแทรกแซงโดยมิชอบ เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระและบูรณภาพของการบริหารงานยุติธรรม และหลักนิติรัฐ

___________________________________

อ่านจดหมายในฉบับภาษาอังกฤษ

.

ก่อนหน้านี้มีองค์กรทั้งในและต่างประเทศส่งหนังสือถึงสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์มาแล้วต่อกรณีการยื่นเรื่องร้องเรียนของอภิวัฒน์ ขันทอง ต่อสภาทนายความฯ กล่าวคือ 

วันที่ 21 ส.ค. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมรายชื่อนักกฎหมายและทนายความ รวม 266 รายชื่อ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ขอให้สภาทนายความฯ ยกคำร้องถอนชื่ออานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ เนื่องจากข้อร้องเรียนของอภิวัฒน์ ขันทอง ไม่ได้ตรงกับข้อบังคับของสภาทนายความฯ

วันที่ 17 ก.พ. 2564 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ที่ส่งถึงนายกสภาทนายความฯ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่ออานนท์ โดยเห็นว่ากระบวนการสอบสวนที่จะมีขึ้น จะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของอานนท์ ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย 

ทั้งนี้ หากอานนท์ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดมรรยาททนายความจริง ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 กำหนดโทษไว้ 3 แบบ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

เปิดคำแก้ข้อกล่าวหา “ผิดมรรยาททนายความ” ของอานนท์ นำภา ยืนยันใช้สิทธิในฐานะพลเมืองแสดงความเห็นติชมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหลักการ ปชต.

ลำดับเหตุการณ์คดีสอบมรรยาททนายความอานนท์ นำภา

X