กันยาฯ ถูกขังอีก 6 คน ผู้ต้องขังการเมืองพุ่ง 35 คน ขณะศาลยังไม่ให้ประกันใหม่สักคดีมา 7 เดือน ด้าน ‘วารุณี-เวหา’ อดอาหารประท้วงเกิน 1 เดือน แต่ข้อเรียกร้องไม่คืบหน้า

จนถึงปัจจุบัน (1 ต.ค. 2566) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อย 35 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 25 ราย และเป็นผู้ต้องขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 10 ราย 

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มอีก 6 ราย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะข้อกล่าวหา ได้แก่ คดีมาตรา 112 จำนวน 3 คน และคดีจากการถูกกล่าวหาจากการชุมนุม เผารถตำรวจ ครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) และปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) จำนวน 3 คน ส่วนคดีสิ้นสุดแล้วมีจำนวนผู้ถูกคุมขังเท่าเดิมอยู่ที่ 10 ราย มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 

ในเดือนที่ผ่านมา ศาลไม่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาอยู่เลย ‘แม้แต่คนเดียว’ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่มีผู้ต้องขังการเมืองในคดี ม.112 จำนวน 2 คน คือ ‘วารุณี’ และ ‘เวหา’ อดอาหารเพื่อประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวต่อศาลและยืนยันตามข้อเรียกร้องของตนเองเป็นเวลานานมากกว่า 1 เดือนแล้ว

ระหว่างสู้คดี: ถูกขังเพิ่ม 6 คน หลังศาลชั้นต้นพิพากษา-ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน ขณะผู้ต้องขังรายเดิมไร้วี่แววได้ประกัน

ตลอดเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีเพิ่มขึ้นมากถึง 6 คน ซึ่งล้วนแต่ถูกคุมขังหลังจากการศาลมีคำพิพากษา และส่งคำร้องประกันตัวให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งต่อมา ‘ทุกคดี’ ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 

ในจำนวน 6 คนนี้ แบ่งเป็น 

  1. ถูกคุมขังภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา (ระหว่างอุทธรณ์) จำนวน 5 คน ได้แก่ ไพฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ, อานนท์ นำภา และวีรภาพ วงษ์สมาน 
  2. ถูกคุมขังภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา (ระหว่างฎีกา) จำนวน 1 คน คือ สมบัติ ทองย้อย

ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีรายใหม่ จำนวน 6 คน มีรายละเอียดคดีและข้อหาที่ถูกคุมขังโดยสรุป ดังนี้

คดีมาตรา 112 จำนวน 3 คน

  1. สมบัติ ทองย้อย – อดีตการ์ดเสื้อแดง อายุ 55 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2566 ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก 4 ปี ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) กรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับแปะภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ในคอมเมนต์ข้อความดังกล่าว พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563

    นี่เป็นการถูกคุมขังครั้งที่ 2 แล้วในคดีนี้ ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 6 ปี ทำให้สมบัติถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาเป็นเวลา 287 วัน ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. 2565 จนถึง 6 ก.พ. 2566 แต่ถูกปล่อยตัวในวันที่ 7 ก.พ. 2566 เนื่องจากต้องรอคำสั่งประกันในอีกคดีหนึ่งที่ทีคำพิพากษาจำคุกในระหว่างที่สมบัติถูกคุมขังอยู่
  1. อานนท์ นำภา – ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อายุ 39 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. ภายหลังศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) พิพากษาจำคุก 4 ปี ในข้อหา ม.112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
  1. ‘รีฟ’ วีรภาพ วงษ์สมาน – นักกิจกรรม อายุ 20 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. ภายหลังศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) พิพากษาจำคุก 4 ปี ในข้อหา ม.112 จากกรณีถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564

คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกระหว่างการชุมนุม จำนวน 3 คน

  1. ‘ทูร’ ไพทูรย์ และ ‘ตั๊ก’ สุขสันต์ – ประชาชนอายุ 22 และ 21 ปี ตามลำดับ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. ภายหลังศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) พิพากษาจำคุกจากการถูกฟ้องในคดีจากการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก และ ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 โดยศาลตัดสินจำคุกไพฑูรย์ 33 ปี 12 เดือน และจำคุกสุขสันต์ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน
  2. ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ –  ศิลปินแร็ปเปอร์วง Eleven Finger วัย 20 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. หลังศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) พิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก

ทำให้ปัจจุบัน จำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง ‘ระหว่างสู้คดี’ เพิ่มขึ้นจาก 19 คน ในวันที่ 1 ก.ย. 2566 เป็น 25 รายแล้วหลังเข้าสู่วันที่ 1 ต.ค. 2566

แบ่งตามชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี

  1. ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี (ศาลยังไม่มีคำพิพากษา) จำนวน 4 คน ได้แก่ ชนะดล, วุฒิ, ธีรภัทร และปฐวีกานต์
  2. ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา (ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว) จำนวน 19 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, เวหา, ทีปกร, วารุณี, ประวิตร, วัฒน์, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, โสภณ, พลพล, จตุพล, วัชรพล, ณัฐพล, ไฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ อานนท์ และวีรภาพ
  3. ถูกคุมขังระหว่างฎีกาคำพิพากษา (ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว) จำนวน 2 คน ได้แก่ อดุม และสมบัติ

แบ่งตามข้อกล่าวหาที่ถูกคุมขัง

  1. ม.112 จำนวน 10 คน ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ, อุดม, สมบัติ, อานนท์ และวีรภาพ
  2. คดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) จำนวน 8 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ชนะดล, ธีรภัทร, ปฐวีกานต์, ธนายุทธ, ไฑูรย์ และสุขสันต์
  3. คดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาป้อมจราจรหรือรถตำรวจ จำนวน 7 คน ได้แก่ ประวิตร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, พลพล, จตุพล, วัชรพล และณัฐพล 

คดีสิ้นสุด: จำนวนคงที่ ‘10 คน’ 

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองถูกคุมขังเพิ่มเติมเนื่องจากคดีสิ้นสุด ทำให้ผู้ต้องขังการเมืองในคดีที่สิ้นสุดแล้วจึงมีจำนวนคงที่ เป็นจำนวน 10 คนเช่นเดิม มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2566 แล้ว 

จำนวน 10 รายนี้อาจแบ่งตามข้อหาที่ถูกคุมขังได้เป็น 4 กลุ่ม

  1. คดี ม.112 จำนวน 4 คน ได้แก่ อัญชัญ, ศุภากร, พลทหารเมธิน และปริทัศน์
  2. คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 คน ได้แก่ ศุภากร และเอกชัย หงส์กังวาน
  3. คดีเป็นอั้งยี่ จำนวน 2 คน ได้แก่ วรรณภา และกฤษณะ
  4. คดีที่เกี่ยวข้องกับระเบิดปิงปอง 3 คน ได้แก่ มะ ณัฐชนน, สุวิทย์ และทัตพงศ์

ในเร็ว ๆ นี้ มีผู้ต้องขังเด็ดขาด 1 ราย มีกำหนดได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษแล้ว นั่นคือ ‘ศุภากร’ ปัจจุบันอายุ 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 ในคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพตัดต่อเกี่ยวกับพระมหาษัตริย์ จำนวน 9 ข้อความ ในช่วงปี 2563  โดยมีกำหนดถูกปล่อยตัวในวันที่ 5 พ.ย. 2566 นี้ 

Case Highlight : 3 ผู้ต้องขังคดี ม.112 ประท้วงศาลเรียกร้อง ‘สิทธิประกันตัว’ และอื่นๆ 

2 ราย อดอาหารประท้วง

  • วารุณี ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีในคดี ม.112 (ชั้นอุทธรณ์) ตัดสินใจอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 จากนั้นได้ยกระดับเป็นการจำกัดการดื่มน้ำร่วมด้วย ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. เป็นต้นมา 

ปัจจุบันวารุณีถูกคุมขังนาน 3 เดือนเศษ พร้อมกับอดอาหารและจำกัดน้ำดื่ม มากว่า 1 เดือนแล้ว ตลอดการอาหารประท้วง ระหว่างนั้นวารุณีถูกพาตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ 7 วัน จากนั้นถูกส่งตัวไปอยู่ใต้การดูแลของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ 8 วัน ต่อมาจึงถูกส่งตัวกลับมาอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ จนถึงปัจจุบัน

ตลอดการถูกคุมขังของวารุณี ทนายความยื่นประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์แล้ว 5 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาอีก 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเป็นการยื่นประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ในวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา

  • เวหา ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้ในคดี ม.112 (ชั้นอุทธรณ์) ตัดสินใจอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 เพื่อเคียงข้างการอดอาหารประท้วงของวารุณี และได้เสนอข้อเรียกร้องส่วนตัว 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. เรียกร้องให้ ‘สส.’ เข้ามารับข้อเสนอ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จากผู้ต้องขังในเรือนจำ  

2. เรียกร้องให้ ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ออกมาแถลงความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง

3. เรียกร้อง ‘ศาล’ ให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว

หากมีความคืบหน้าแม้เพียงข้อเดียว เวหาจะพิจารณายุติการอดอาหารประท้วงครั้งนี้ การอดอาหารประท้วงของเวหา เขาปฏิเสธการกินอาหารทุกอย่าง แต่ยังดื่มน้ำ นม น้ำผลไม้ น้ำหวาน และสารอาหารเหลวอื่น ๆ 

แต่จนถึงปัจจุบันการอดอาหารประท้วงดำเนินไปมากกว่า 1 เดือน ขณะที่ถูกคุมขังมากกว่า 4 เดือนแล้ว ทว่า 3 ข้อเรียกร้องของเวหายังคงไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ 3 ที่สถานการณ์ในตอนนี้กลับสวนทางมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2566 เป็นต้นมา ศาลไม่มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องขังการเมืองแม้แต่คนเดียว มีแต่จะถูกจะคุมขังมากขึ้น

1 ราย ปฏิเสธอำนาจศาล – กระบวนการยุติธรรม

  • เก็ท โสภณ ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดีในคดี ม.112 (ชั้นอุทธรณ์) ในวันที่ 4 ก.ย. ตัดสินใจถอนทนายความในการพิจารณาคดี ม.112 อีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญาธนบุรี ได้แก่ คดีปราศรัยในกิจกรรม #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน เมื่อปี 2565 พร้อมประกาศปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม และได้เสนอ 2 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1) ขอให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน

2) เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด

แม้ภายหลังการประกาศถอนทนายความและปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม โสภณจะยังคงถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาร่วมการสืบพยานที่ศาลอาญาธนบุรีทุกนัด แต่ตลอดการพิจารณาคดีในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โสภณได้นั่งหันหลังผู้พิพากษาและปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือใด ๆ ซึ่งเป็นไปตามจุดยืนที่ได้แถลงไว้ตอนต้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีจะยังคงดำเนินต่อไป โดยโสภณจะถูกเบิกตัวมาที่ศาลทุกครั้ง  

1 ราย ถูกคุมขังที่เรือนจำห่างไกล

  • อุดม คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรี วัย 35 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 1 ใน 3 จังหวัดตอนล่างสุดของประเทศไทย หรือห่างจาก ‘บ้าน’ ของอุดมเป็นระยะทางประมาณ 1,321 กิโลเมตร หากขับรถยนต์โดยไม่หยุดพักอาจใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 ชม.

    อุดมถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ภายหลังศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ยืนจำคุกตามชั้นต้น ลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (3) จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวน 7 ข้อความ โดยศาลเห็นว่าผิดตามฟ้อง 2 ข้อความ

    หลังพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาสส่งคำร้องประกันให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง ซึ่งจากนั้นศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้อุดมถูกคุมขังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนานกว่า 1 เดือนแล้ว 

อุดมนับได้ว่าเป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำที่ห่างไกลจากที่พำนักปัจจุบันมากที่สุด โดยผู้ต้องขังคดีการเมืองระลอกนี้ จำนวน 35 คน ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำในโดยกรุงเทพฯ จำนวน 32 คน นอกจากนี้มีอยู่ที่เรือนจำใน จ.นครปฐม และ จ.ชลบุรี แห่งละ 1 คน

การถูกคุมขังในที่ห่างไกลเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าเยี่ยมของญาติและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากทนายความ

อ่านรายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองและพฤติการณ์คดีเพิ่มเติมได้ที่: รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566 

X