เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 ศาลอาญานัดสืบพยานในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ในส่วนของแกนนำ 18 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมเดินขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดไว้ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนด และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้นยุติการสืบทอดอำนาจ
คดีนี้มีจำเลย 18 คน ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, เอกชัย หงส์กังวาน, อานนท์ นำภา, ณัฏฐา มหัทธนา, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, ศรีไพร นนทรี, วันเฉลิม กุนเสน, ธนวัฒน์ พรมจักร, ประจิณ ฐานังกรณ์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, ปิยรัฐ จงเทพ, ชลธิชา แจ้งเร็ว, นิกร วิทยาพันธุ์, วิเศษณ์ สังขวิศิษฏ์, พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์, คีรี ขันทอง, ประสงค์ วางวัน และ ภัทรพล จันทรโคตร
อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาตั้งแต่เมื่อปี 2562 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การสืบพยานโจทก์ก็ยังไม่เสร็จสิ้น และยังมีนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15-16 ส.ค. 2567 นัดสืบพยานจำเลย 20 ก.ย. และ 8 ต.ค. 2567
ในนัดคดีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 อัยการโจทก์ได้ขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดนัดสืบพยานคดีอื่น โดยที่ก่อนหน้าวันนัดดังกล่าว ศาลได้มีหนังสือสอบถามไปยังสภาทนายความถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทนายความของอานนท์ นำภา ซึ่งถูกจำคุกในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 และมีการมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในขณะเป็นผู้ต้องขัง
สำหรับคดี UN62 นี้ อานนท์ได้แต่งตั้งเป็นทนายความว่าความให้กับจำเลย 4 ราย ได้แก่ ธนวัฒน์ พรมจักร, นิกร วิทยาพันธุ์, วิเศษณ์ สังขวิศิษฏ์ และ พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์
ต่อมา ทางสภาทนายความได้มีหนังสือตอบต่อศาลอาญาทั้งสองครั้งว่า อานนท์ยังไม่ปรากฏว่าถูกลงโทษในคดีมารยาททนายความ และคดีที่เขาถูกกล่าวหาก็ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด ย่อมถือว่าอานนท์มีคุณสมบัติการเป็นทนายความและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความได้ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 35
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีหนังสือไปยังกรมราชทัณฑ์ สอบถามในลักษณะเดียวกันว่าอานนท์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สามารถเป็นทนายความในคดีนี้ได้หรือไม่ อย่างไร และจะขัดต่อ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 หรือไม่
จนในเดือน เม.ย. 2567 กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือตอบมายังศาลอาญา ระบุว่ากฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ทั้งหมด ไม่ได้มีบทบัญญัติใด ๆ เป็นข้อห้ามการที่ผู้ต้องขังจะไปปฏิบัติหน้าที่ทนายความ แต่ได้ระบุเป็นข้อสังเกตไว้โดยอ้างอิงข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมารยาททนายความ พ.ศ. 2529 เกี่ยวกับมารยาทการแต่งกาย, ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.เสื้อครุยเนติบัญญัติ พ.ศ. 2479 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการแต่งกายของทนายความ และการสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ทางราชทัณฑ์อ้างว่าสถานะและการแต่งกายของผู้ต้องขัง อาจเป็นอุปสรรคหรือขัดต่อมารยาททนายความในการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ โดยตั้งเป็นข้อสังเกตไว้เพื่อประกอบการพิจารณา
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 ศาลอาญาในคดีนี้ได้มีการออกหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้ง 4 คน ที่อานนท์แต่งตั้งเป็นทนายความ ไปดำเนินการแต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่ภายในวันนัดวันที่ 15 ส.ค. 2567
.
ในนัดวันที่ 15 ส.ค. 2567 ก่อนการพิจารณา ศาลเจ้าของสำนวนคดี ได้ออกความเห็นว่าจากหนังสือของทางราชทัณฑ์ การปฏิบัติหน้าที่ของอานนท์ในฐานะทนายความอาจขัดต่อมารยาททนายความ และไม่สมควรใส่ชุดนักโทษว่าความ จึงขอให้จำเลยทั้ง 4 คนแต่งตั้งทนายความเข้ามาใหม่
ขณะที่อานนท์ได้แถลงยืนยันว่า ตนสามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ แม้แต่ทางสภาทนายความเองก็มีหนังสือยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ และทางราชทัณฑ์ก็ระบุว่าไม่มีข้อห้ามใด ๆ ให้ผู้ต้องขังปฏิบัติหน้าที่ทนายความ หากศาลพิจารณาเรื่องการแต่งกาย ก็ควรจะพิจารณาให้ประกันตัวเพื่อได้ทำหน้าที่ทนายความด้วย ทำให้เกิดการโต้เถียงในประเด็นนี้ โดยที่ทางจำเลยที่แต่งตั้งอานนท์ ก็ได้แถลงยืนยันที่จะประสงค์ให้อานนท์เป็นทนายความของตนต่อไป
ต่อมาศาลเจ้าของสำนวนคดี ได้ไปปรึกษากับอธิบดีของศาลอาญา ก่อนแจ้งว่าศาลจะทำหนังสือไปสอบถามทางกรมราชทัณฑ์และสภาทนายความอีกครั้งในเรื่องนี้
ในส่วนการสืบพยานในคดีนี้ เนื่องจากปิยรัฐ จงเทพ ติดภารกิจการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนคดีเข้ามา ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยาน พร้อมยกเลิกวันนัดอีก 2 นัด เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 ต.ค. 2567
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้แก่ ณัฐนันท์ ดุจดำเกิง
ทั้งนี้ หลังอานนท์ถูกคุมขังมา โดยที่ไม่ได้รับการประกันตัวแม้คดีจะไม่ถึงที่สุด เขายังคงสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีชุมนุมทางการเมืองและคดีมาตรา 112 ในศาลต่าง ๆ มากกว่า 10 คดี โดยยังไม่เคยถูกให้เปลี่ยนทนายความในลักษณะเดียวกับคดีนี้
.
สำหรับคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ในส่วนของผู้เข้าร่วมชุมนุมรวม 39 คน ซึ่งถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิต โดยไม่มีข้อหาตามมาตรา 116 นั้น ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 แล้ว และคดีสิ้นสุดลง โดยไม่มีการอุทธรณ์อีก
ขณะที่คดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งคดีอื่น ๆ ก็สิ้นสุดไปหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง แม้แต่คดีของแกนนำในส่วนที่ถูกฟ้องข้อหามาตรา 116 จำนวน 3 คดี ทั้งคดี MBK39, คดี RDN50 และ คดี ARMY57 ศาลอาญาก็พิพากษายกฟ้องทั้งหมด
.