ยกฟ้อง! 39 ผู้ชุมนุม UN62 หลังสู้คดีเกือบ 5 ปี ศาลชี้ ชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งเป็นการใช้สิทธิตาม รธน. จำเลยดีใจ “จบซะที”

9 ก.พ. 2566 หลังการต่อสู้คดีเกือบ 5 ปี ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีผู้ชุมนุม “UN62” คดีการชุมนุมของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล คสช. ให้จัดการเลือกตั้ง แต่ถูกสกัดอยู่ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ 

คดีนี้มีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีรวม 40 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 รวมทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พ.ศ.2558 หลัง พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ มอบอำนาจจาก คสช. เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีผู้ร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวรวม 62 คน (เป็นที่มาของชื่อคดี UN62) แยกเป็นผู้ร่วมชุมนุม 41 คน และแกนนำ 21 คน ซึ่งกลุ่มแกนนำถูกแจ้งความในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วย  

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ชุมนุมเพียง 40 คน ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมด้วย ส่วนผู้ต้องหา 1 ราย ที่ไม่ถูกฟ้อง เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่มีภาพเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 หลังอัยการยื่นฟ้อง จนกระทั่งสืบพยานเสร็จในเดือน พ.ย. 2565 จำเลย 1 ราย (จำเลยที่ 18) ได้เสียชีวิตลงเมื่อเดือน ต.ค. 2565 จึงมีเพียงจำเลย 39 ราย เดินทางมาฟังคำพิพากษา

เวลา 09.00 น. จำเลยทยอยเดินทางมาถึงศาล อาทิ โชคดี ร่มพฤกษ์, “พ่อไผ่” วิบูลย์ บุญภัทรรักษา, “ปอ” กรกช แสงเย็นพันธุ์, ไพศาล จันปาน, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, อลิสา บินดุส๊ะ, หนึ่ง เกตุสกุล, ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์, วิรุฬ นันทภูษิตานนท์, ประนอม พูลทวี, พรวลัย ทวีธนวาณิชย์, จิดาภา ธนหัตถชัย, พรนิภา งามบาง, อนุศักดิ์ แสงเพชร, วาสนา เคนหล้า, อ๊อด แอ่งมูล, ชญานิน คงสง, บริบูรณ์ เกรียงวรางกูร, “ฟอร์ด” อนุรักษ์ เจนตะวณิชย์, นันทพงศ์ ปานมาศ, “หนุ่ย” อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, “ส.ส.เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล รวมทั้งพระเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ซึ่งขณะถูกดำเนินคดีเป็นนิสิตจุฬาฯ

ห้องพิจารณาคดี 407 จัดเตรียมม้านั่งไว้ 5 แถว โดยเขียนเลขที่จำเลยติดไว้ให้จำเลยนั่งเรียงตามหมายเลขแถวละ 8 คน และขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยรออยู่ด้านนอก ระบุว่า ไม่มีที่นั่ง 

หลังจากจำเลยเดินทางมาครบ ศาลได้ออกนั่งอ่านคำพิพากษา ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 5 นาย เดินเข้ามายืนเตรียมพร้อมบริเวณทางเข้าห้องพิจารณา หากศาลพิพากษาลงโทษก็จะควบคุมตัวจำเลยลงไปห้องขัง

จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาวินิจฉัยในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงมีใจความโดยสรุปดังนี้

.

โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 เหตุถูกยกเลิกไปแล้ว

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-17, ที่ 19-38 ฐานร่วมชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 หรือไม่ 

เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ในระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลบังคับใช้ ซึ่งห้ามการชุมนุม มั่วสุม ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. แต่ระหว่างการพิจารณาคดี หัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่  11 ธ.ค. 2561 จึงเป็นกรณีกฎหมายใหม่ที่ออกมาภายหลังบัญญัติให้การกระทําตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนั้น จําเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทําผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง และสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 39(5) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

.

การชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ – ผู้ชุมนุมใช้สิทธิตาม รธน.เรียกร้องเลือกตั้ง ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนต่อสาธารณะเกินกว่าที่พึงคาดหมาย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1-17 และที่ 19-40 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแล้วไม่เลิก, ร่วมกันชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา, ร่วมกันเป็นผู้ชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้, ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และร่วมกันกีดขวางการจราจร ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ 

พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานปาก พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ เบิกความว่า ทราบการกระทำความผิดของจำเลยจากการดูการถ่ายทอดสด พยานไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ และพยานวัตถุที่โจทก์อ้างส่งเป็นคลิปวีดิโอนั้นบันทึกเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง พยานโจทก์ผู้จัดทำรายงานการชุมนุมก็เบิกความว่า ใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นใกล้เคียง พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง ศาลจึงต้องรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง 

โจทก์ยังมีพยานหลักฐานเป็นการถอดข้อความคำปราศรัย แต่จำเลยไม่ได้ร่วมปราศรัย โดยพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยเพียงแต่เข้าร่วมชุมนุม แต่ไม่ได้ระบุว่า จำเลยแต่ละคนอยู่ที่ใดในวันเกิดเหตุ แม้มีภาพถ่ายว่า จำเลยร่วมชุมนุม แต่ก็เพียงปรากฏว่า จำเลยอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการชุมนุมในสถานศึกษาได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3(4)  

ส่วนพยานโจทก์ผู้จัดทำรายงานการสืบสวน ซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมในวันเกิดเหตุ ไม่ได้เบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนในวันเกิดเหตุอย่างชัดเจน และที่พยานเบิกความว่า มีผู้ชุมนุมเดินไปหน้าองค์การสหประชาชาติ พยานก็ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง เนื่องจากพยานอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงยังเป็นที่สงสัยว่า ผู้ชุมนุมที่เดินไปที่หน้าองค์การสหประชาชาติและอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ และจำเลยอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือเดินไปหน้าองค์การสหประชาชาติ    

ทั้งนี้ การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 รวมทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 6 เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมคนใดมีอาวุธ และการชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงถือเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ ซึ่งโดยธรรมชาติของการชุมนุมของกลุ่มคนจํานวนมาก ย่อมก่อความไม่สะดวกต่อประชาชนบ้างเป็นธรรมดา แต่ในวันเกิดเหตุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เกิดเหตุ ยังเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ถนนราชดำเนินที่ผู้ชุมนุมใช้เคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบ ประชาชนก็ยังใช้สัญจรได้ในช่องทางที่เหลือ การชุมนุมจึงไม่ได้กีดขวางจราจรหรือทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเกินกว่าที่จะพึงคาดหมายได้

การชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง และมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่สามารถออกจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เป็นธรรมดาที่จำต้องผลักดันแผงเหล็กที่วางกั้นไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยได้พูดยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้งไม่มีจำเลยคนใดถูกจับกุมที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เชื่อว่า ผู้ชุมนุมที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่สามารถเดินไปที่หน้าทำเนียบได้ 

พยานหลักฐานโจทก์น่าสงสัยว่า จำเลยที่ 1-17 และที่ 19-40 ได้ทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

ไม่อยากให้ใครโดนแบบเราอีก มันไม่ใช่เรื่อง เพราะเราแค่เรียกร้องตามสิทธิของเรา

การสืบพยานในคดีนี้เลื่อนมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งก่อนสืบพยานที่อัยการโจทก์นำส่งพยานหลักฐานมาให้ฝ่ายจำเลยดูไม่ครบ หรือรอรวมการพิจารณาคดีกับจำเลยที่อัยการยื่นฟ้องเพิ่มเติมในปี 2562 และ 2564 รวมทั้งเลื่อนการสืบพยานในช่วงสถานการณ์โควิด โดยที่จำเลยทั้งหมดได้รับอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง 

ในการสืบพยานจำเลย ทนายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียว คือ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมผู้แจ้งการชุมนุมครั้งดังกล่าว ซึ่งเบิกความโดยสรุปว่า การชุมนุมใน 2 วันดังกล่าว ได้แจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุม 24 ชม.ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แล้ว โดยที่การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ หลัง คสช.ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การชุมนุมในวันดังกล่าวยังเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้รบกวนประชาชนทั่วไปเกินสมควร ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเองที่พยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยไม่ต้องเดินทางไปศาลเองในนัดพิจารณาคดีส่วนใหญ่ หลังศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การถูกดำเนินคดีเป็นภาระต่อประชาชนที่เพียงแต่ออกมาใช้สิทธิและเรียกร้องสิทธิของตนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเท่านั้น ทั้งในด้านเวลา ค่าใช้จ่าย การทำงาน ซึ่งจำเลยในคดีนี้ส่วนใหญ่เป็นประชาชนธรรมดาที่มีรายได้น้อย จำนวนหนึ่งต้องเดินทางมาจากภูมิภาค มีทั้งภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก และอีสาน มากกว่านั้นคือในด้านจิตใจของผู้ถูกดำเนินคดีและครอบครัวที่มักกังวลต่อผลคดีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีนี้ซึ่งลากยาวมาเกือบ 5 ปี ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยส่วนใหญ่จึงสะท้อนความรู้สึกออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “จบซะที” “ไม่น่าเป็นคดีมาตั้งแต่แรกแล้ว”

วาสนา เคนหล้า ชาวจังหวัดอุดรธานีที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2553 หนึ่งในจำเลยคดีนี้ เปิดเผยความรู้สึกหลังได้ฟังคำพิพากษายกฟ้องว่า ดีใจ และโล่งใจที่คดีจบซะที “ที่จริงคดีมันไม่น่าเกิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันไม่ใช่เรื่อง เพราะเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เราไปเรียกร้องตามสิทธิของเรา แต่ถูกดำเนินคดี แล้วก็มีผลกระทบมากมาย ทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรก เราต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง ถ้านับถึงวันที่ฟังคำพิพากษาก็เป็นครั้งที่ 6 แต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าเครื่องบิน ค่ารถ ค่าที่พัก ค่าอาหาร เฉลี่ยครั้งละ 5,000 บาท ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นเลย”

“แต่ถามว่าหยุดมั้ย ไม่หยุดค่ะ ยังเดินหน้าต่อสู้ต่อไป หากประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีการลิดรอนสิทธิของประชาชน ก็ยังคงจะออกไปร่วมชุมนุม เพราะเป็นสิทธิของเราที่พึงทำได้ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและความเหมาะสมของสถานการณ์”

วาสนาขยายความของการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นว่า “อย่างในอนาคตอันใกล้ถ้ารัฐบาลครบวาระ หรือมียุบสภา ก็จะต้องมีการเลือกตั้ง เราก็จะออกไปรณรงค์ให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ควรจะเลือก ส.ส. แบบไหนถึงจะช่วยเหลือประชาชนได้จริง ให้เขาเห็นประโยชน์ในระยะยาวของการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นเผด็จการ ถึงมีคนมาให้เงินก็รับได้ แต่เวลากาบัตรเลือกตั้งไม่มีใครจับมือเรากา”

“แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง มีการรัฐประหารอีก เราก็จะต้องออกไปรวมตัวชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการเลือกตั้งเหมือนตอนปี 61 ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุม เพราะการเลือกตั้งเป็นกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็แน่นอนอยู่แล้วว่ามันไม่มีประชาธิปไตย”

จากใจของจำเลยคดีการเมือง “ไม่อยากให้ใครโดนแบบเราอีก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เขาไม่ควรถูกดำเนินคดี ต่างชาติเขาก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ ถ้าออกมาแสดงออกหรือชุมนุมก็โดนยัดคดี ถึงแม้สุดท้ายบางคดียกฟ้อง แต่คดีที่ถูกลงโทษก็มี ไม่ว่าแบบไหนก็สร้างภาระให้กับพวกเขาอย่างมาก” 

“ถ้าหากหลังการเลือกตั้งในปีนี้เราได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย สถานการณ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็น่าจะดีขึ้น ทุกคนจะมีสิทธิเท่ากันภายใต้กฎหมายเดียวกัน” นักเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตยเน้นย้ำในตอนท้าย

.

ย้อนดูคดี “คนอยากเลือกตั้ง” ถูกดำเนินคดี 10 คดี 130 คน หลังต่อสู้คดี 5 ปี ศาลพิพากษาปรับเพียง 6 คน  

คดี UN62 ในส่วนแกนนำซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญารวม 18 ราย โดยมีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ด้วยนั้น ปัจจุบันยังสืบพยานโจทก์ไม่เสร็จสิ้น นัดสืบพยานโจทก์ต่ออีกในวันที่ 24 มี.ค. 2566 

การชุมนุมของ “คนอยากเลือกตั้ง” เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2561 ถูกทั้ง คสช. และตำรวจดำเนินคดี หลัก ๆ รวม 10 คดี มีประชาชนถูกดำเนินคดี 130 ราย จำนวนมากถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 คดี จนถึงปัจจุบันซึ่งประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล กระทั่งรัฐบาลดังกล่าวบริหารประเทศมาจนใกล้ครบวาระ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่คดีคนอยากเลือกตั้งยังพิจารณาคดีไม่เสร็จ เหลือคดีแกนนำ UN62 อีก 1 คดี 

และหากย้อนดูผลคดีของคดีเหล่านั้นในส่วนที่มีการต่อสู้คดี แทบทั้งหมดอัยการไม่ฟ้องหรือศาลพิพากษายกฟ้อง ตอกย้ำให้เห็นว่า การดำเนินคดีเหล่านี้เป็นเพียงเครื่องมือในการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนเท่านั้น ใช้การดำเนินคดีทำให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์หรือเรียกร้องสิทธิของตน ผลคดีของคดีคนอยากเลือกตั้งที่ถึงที่สุดหรือพิพากษาแล้วสรุปได้ดังนี้

1. อัยการสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีผู้ชุมนุมหน้า MBK (MBK39)

2. อัยการถอนฟ้อง ได้แก่ คดีผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) 

3. ศาลพิพากษายกฟ้อง ได้แก่ คดีแกนนำ MBK39, คดีแกนนำ RDN50, คดีการชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) ซึ่งยกฟ้องข้อหาชุมนุม แต่ปรับ 5 คน ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น, คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก (ARMY57) ทั้งคดีแกนนำและผู้ชุมนุม, คดีการชุมนุมที่พัทยา (ยกฟ้องผู้ชุมนุมรวม 11 คน) และคดีชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงหน้า UN (UN62) ของผู้ชุมนุม ที่ศาลเพิ่งพิพากษายกฟ้อง

4. ศาลพิพากษาลงโทษ ในคดีการชุมนุมที่พัทยา ซึ่งศาลจังหวัดพัทยาและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาปรับ “นิว” สิรวิชญ์​ เสรีธิวัฒน์​ 3,000​ บาท ฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

.

X