“ป้าภูมิใจที่ได้ออกมาต่อสู้”: รู้จัก “ป้าดาวเรือง” ในความเป็นแม่ และความเป็นจำเลยคดี UN62

มันเป็นคดีแรกที่เธอถูกกล่าวหาในชีวิต และต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางไปขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เธอไม่ได้เสียใจ ออกจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำที่ตัวเองได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งในวัยอายุปูนนี้

“ป้าดาวเรือง” หรือ สิริเรือง แก้วสมทรัพย์ เป็นผู้ต้องหา และตอนนี้กลายเป็นหนึ่งใน 38 จำเลยในคดี “UN62” หรือคดีร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ในช่วงกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61

.

ชีวิต “คนตุ๊ก” 

ป้าดาวเรืองปัจจุบันอายุ 70 ปี เกิดที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เธอบอกว่าเธอเป็นลูกหลานของ “คนตุ๊ก” (คนทุกข์หรือคนยากคนจน) ครอบครัวเธอยากจน พ่อแม่ไม่ได้มีที่นาหรือที่ทำกิน ต้องทำงานรับจ้างทั่วไป อย่างงานในล้งหอมล้งกระเทียม (ล้งคือโรงคัดบรรจุ) ทำงานเป็นยาม และทำงานอยู่ในโรงบ่มยาสูบในสมัยก่อน ชีวิตครอบครัวก็ยังต้องย้ายไปมาหลายที่ จนเธอย้ายไปเติบโตอยู่ที่จังหวัดลำพูน

ป้าดาวเรืองเป็นลูกสาวคนโต และมีน้องสาวอีกสองคน ไม่เคยเข้าโรงเรียน ไม่เคยจบการศึกษาชั้นใดๆ แต่ก็อ่านออกเขียนได้ เริ่มจากพ่อสอนอ่านหนังสือก.กา และหนังสือแบบเรียนสมัยก่อน ทำให้เธอพออ่านหนังสือได้ แล้วก็มาเรียนรู้การเขียนเพิ่มเติมด้วยตนเอง ด้วยความเป็นคนช่างถามช่างสังเกต ทำให้ช่วยในการถามคนนู้นคนนี้เรื่องการเขียนอ่านเพิ่มเติมด้วย

นอกจากช่วยพ่อแม่ในโรงบ่มยาสูบ เธอได้ไปเรียนเย็บผ้าจากร้านค้าในจังหวัดลำพูน แม้จะเรียนไม่จบหลักสูตร แต่ก็ทำให้มีทักษะ ได้เริ่มทำงานรับจ้างเย็บผ้ามาตั้งแต่อายุ 20 ปีเศษ โดยรับงานมาเย็บที่บ้าน และทำอาชีพนี้ต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี

ป้าดาวเรืองแต่งงานตั้งแต่อายุ 15-16 ปี และมีลูกกับสามีด้วยกันสามคน ก่อนจะหย่าร้างกันไป และได้แต่งงานใหม่ในช่วงต่อมา โดยมีลูกกับสามีใหม่อีกหนึ่งคน แต่ลูกของเธอสองคนจากไปก่อนวัยอันควร ทำให้เธอเลี้ยงลูกที่เหลืออีกสองคนด้วยตนเองตลอดมา

เธอยอมรับว่าภายใต้ภาวะยากจนของครอบครัว การทำมาหากินลำบาก ทำให้ไม่ได้มีปัญญาส่งเสียลูกเรียนสูงๆ ลูกของเธอก็จบแค่ชั้นมัธยมปีที่ 3 และต้องมาดิ้นรนสู้ชีวิตเหมือนๆ กัน

ปัจจุบัน ป้าดาวเรืองเช่าห้องเช่าในจังหวัดเชียงใหม่อยู่กับลูกสาวคนหนึ่ง และหลานสาวอายุ 6 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 1 เนื่องจากลูกสาวเธอทำงานเป็นแม่บ้านในโรงแรมแห่งหนึ่ง และกว่าจะเลิกงานก็ตอนค่ำแล้ว ทำให้ป้าดาวเรืองมีหน้าที่ไปรับส่งหลานสาวจากโรงเรียนในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนทุกวัน

.

การต้านรัฐประหาร และการเรียนรู้ทางการเมือง

ก่อนหน้าปี 2549 ป้าดาวเรืองไม่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน อาจมีสนใจติดตามข่าวสารอยู่บ้าง แต่ก็ในระยะห่างๆ เพียงแต่เธอประทับใจในนโยบายหลายอย่างของพรรคไทยรักไทยในสมัยนั้น เพราะมีส่วนช่วยเหลือคนยากคนจน โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทำให้เธอเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องใช้เงินมากนัก

กระทั่งเกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 เธอเริ่มติดตามข่าวสารจริงจังขึ้น และเริ่มคิดว่าการรัฐประหารไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ความถูกต้อง ในวัยย่าง 60 ปี ตอนนั้น เธอยังเกิดคำถามใหญ่อย่างหนึ่งว่าถ้าบ้านเมืองเป็นกันแบบนี้ จะให้ลูกหลานเราอยู่อย่างไรต่อไป

ช่วงนั้น ป้าดาวเรืองไปช่วยทำงานเย็บผ้าม่านอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเริ่มสนใจติดตามการเมือง เลยได้เริ่มเข้ามาร่วมการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในสมัยนั้น จำได้ว่าตอนนั้นยังไม่มี “เสื้อแดง” เกิดขึ้นด้วยซ้ำ และยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวหลายกลุ่ม อย่าง กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มของสามเกลอ (วีระ-ณัฐวุฒิ-จตุพร) ซึ่งเธอก็เคยไปกินนอนนั่งฟังปราศรัยอยู่ในเวลานั้น เนื่องจากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่ยากเย็นนัก

ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมการชุมนุม บวกกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น สายตาที่แย่ลงด้วย ป้าดาวเรืองก็ค่อยๆ ลดงานรับจ้างเย็บผ้าของเธอลง และหยุดไปในที่สุด

จากนั้น เธอกลับมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่กับลูกสาว เธอได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ก่อตัวขึ้นในช่วงนั้น ในจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มที่มีบทบาทในช่วงแรกๆ คือกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ซึ่งมีการจัดรายการวิทยุ และมีการนัดชุมนุมอยู่เป็นระยะ ป้าดาวเรืองก็เข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องมา

ด้วยความเป็นคนลุยๆ และชอบความสนุกสนาน พบปะผู้คน ชอบร้องรำทำเพลง ทำให้เธอชอบเข้าร่วมการชุมนุมมาก ไปมาหมดทั้งในภาคเหนือ ที่พัทยา ที่เขาใหญ่ บางจังหวัดในภาคอีสาน และไม่พลาดการชุมนุมใหญ่ครั้งต่างๆ ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2552, 2553 หรือการชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยไม่ได้เป็นแกนนำ-ไม่เคยขึ้นเวทีอะไรมาก่อน ป้าดาวเรืองแค่นำตัวเองไปชุมนุมอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

“ป้าได้เรียนรู้เรื่องการไม่มีความยุติธรรม การมีสองมาตรฐานในประเทศไทยมาเรื่อยๆ อย่างฝั่งเสื้อแดงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม โดนไล่ล่า ต้องติดคุก เราก็เรียนรู้มา แต่เราเรียนรู้ ก็ไม่ใช่ว่าเชื่อเลย เราก็ต้องมาคิดวิเคราะห์ หาข้อมูลเพิ่มเองด้วย”

ไม่ได้มีปัจจัยอะไรมากมาย แต่โชคดีอย่างที่หนึ่ง คือลูกสาวเธอก็เป็นคนเสื้อแดง แต่เมื่อมีภารกิจการงานอยู่ ก็เลยเป็นคนช่วยสนับสนุนแม่ให้ไปร่วมชุมนุมแทน ทำให้เธอพอมีเงินไปร่วมกิจกรรมต่างๆ โชคดีอย่างที่สอง คือพอเข้าร่วมกิจกรรม ก็ได้รู้จักผู้คนมากขึ้น รู้จักเพื่อนๆ ที่พอจะติดรถ หรือช่วยกันหารค่ารถสำหรับเดินทางได้ หรือบางครั้งก็มีคนสนับสนุนการเดินทางอยู่บ้าง

ในการชุมนุมใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปี 2553 ป้าดาวเรืองไปคอยช่วยงานอยู่ที่เต็นท์พยาบาล คอยช่วยจัดหายาดูแลผู้ชุมนุม และร่วมอยู่ในเวทีปราศรัยตลอด แต่ในช่วงเดือนเมษายน ได้มีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่เต้นท์พยาบาลบริเวณที่เธออยู่ตรงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ป้าดาวเรืองบอกว่าเธอโดนมันเข้าอย่างจัง ถึงกับสลบไป จนมีคนหิ้วส่งโรงพยาบาลกลาง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เธอมารู้สึกตัวเอาก็ตอนอยู่โรงพยาบาลแล้ว

จากนั้นเมื่อฟื้นตัว เธอกลับมาร่วมชุมนุมใหม่ แต่กลับเริ่มมีอาการติดเชื้อในปอด-ปอดอักเสบ ป้าดาวเรืองจึงต้องเข้าโรงพยาบาลตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ทำให้ไม่ได้อยู่ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์

การมีปัญหากับปอดในตอนนั้น ทำให้เธอมีอาการไอต่อเนื่องมาอยู่บ้างจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงมาก  ในวัยขนาดนี้ ป้าดาวเรืองยังมีโรคประจำตัว คือไขมันอุดตัน ความดัน และหัวใจมีเต้นไวผิดปกติอยู่บ้าง ทำให้ต้องหมั่นออกกำลังกาย และไปพอหมอทุกๆ เดือน

.

รัฐประหารอีกครั้ง สู่การชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง

การไปร่วมชุมนุมบ่อยและต่อเนื่อง อาจเป็นที่มาซึ่งป้าดาวเรืองคิดว่าทำให้เธอถูกเจ้าหน้าที่จับตา และเจ้าหน้าที่สันติบาลในเชียงใหม่บางส่วน ก็รู้จักกันด้วย เนื่องจากได้พบกันตามที่ชุมนุมต่างๆ อยู่บ่อยๆ

ป้าดาวเรืองเข้าร่วมการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่ถนนอักษะ ในกรุงเทพฯ ก่อนจะเกิดการรัฐประหาร 2557 ขึ้น ตอนนั้นเธอทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตามหาตัวเธอที่บ้านของลูกอีกคนหนึ่ง โดยไปถามหาชื่อเธอ แต่เมื่อเธอไม่ได้อยู่บ้านนั้น เจ้าหน้าที่ก็กลับไป และทราบว่าน่าจะมีการแวะเวียนมาอีก 1-2 ครั้ง แต่เมื่อไม่เจอตัว ก็ไม่ได้มีการพยายามติดตามอีก

หลังรัฐประหาร ภายใต้บรรยากาศของการปิดกั้นการแสดงออก ป้าดาวเรืองเองก็แทบไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมมากนัก และกิจกรรมชุมนุมเหมือนสมัยก่อนก็ไม่ได้สามารถจัดขึ้นได้อีก

ในช่วงหลายปีหลัง เธอเริ่มใช้สื่อออนไลน์ มีไลน์และเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยมีลูกและเพื่อนๆ คอยช่วยสอนใช้บ้าง ทำให้สามารถอ่านข้อความ ดู youtube และส่งไลน์โต้ตอบสั้นๆ รวมทั้งติดตามข่าวสารทางการเมืองได้ ป้าดาวเรืองยังติดตามข่าวสารทางช่องโทรทัศน์อยู่เสมอด้วย

จนในช่วงต้นปี 2561 เมื่อเริ่มมีกระแสการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ป้าดาวเรืองก็ได้ติดตามข่าวสาร และตัดสินใจลงไปร่วมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นไม่ได้มีการเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัย และไม่ได้มีการดำเนินคดีกับใคร

เธอเองไม่เคยรู้จักกับน้องนักศึกษาหรือผู้จัดการชุมนุมมาก่อน แต่เมื่อได้เห็นข่าวที่น้องๆ ออกมาทำกิจกรรม เห็นว่าเขากล้าหาญ เหมือนกับเอาอนาคตมาเสี่ยง จึงอยากสนับสนุน และแน่นอนว่าเธอเองก็อยากเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งเช่นกัน

“การเลือกตั้ง มันทำให้เราได้คนที่ประชาชนเลือกมา ได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน เราสามารถเลือกคนที่มาช่วยเหลือประชาชนได้ ไม่ใช่คนที่เข้ามาโดยพลการ ยึดอำนาจเข้ามา แล้วก็มาครองอำนาจอยู่โดยประชาชนไม่ได้เลือก ถ้ามีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม แล้วคนที่เราเลือกแพ้ เราก็ยอมรับได้ แล้วก็ไปเลือกตั้งกันใหม่”  

เมื่อใกล้ครบรอบ 4 ปี ของการรัฐประหาร ป้าดาวเรืองได้รับข่าวสารว่าจะมีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งอีกครั้ง โดยจะมีการเดินขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลด้วย จึงมีการชักชวนกับเพื่อนๆ ประมาณ 3-4 คน เดินทางไปร่วมชุมนุมด้วยกัน โดยนั่งรถไฟแบบใช้สิทธิผู้สูงอายุ ที่ให้สวัสดิการนั่งรถไฟได้ฟรีเดือนละ 500 บาท

ป้าดาวเรืองกับเพื่อนเข้าไปร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเย็นวันที่ 21 พ.ค. ก่อนจะกลับไปพักที่ห้องพักราคาถูกที่เปิดนอนกับเพื่อนไว้ และมาร่วมกิจกรรมอีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 22 พ.ค. เธอเข้าไปร่วมเดินขบวนออกจากธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเดินออกมาหน้ามหาวิทยาลัยก็ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไว้ เดินขบวนไปต่อไม่ได้

เมื่อมีฝนตกลงมาในช่วงสาย เธอกับกลุ่มเพื่อนที่มาด้วยกัน ตัดสินใจกลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย และได้เจอเจ้าหน้าที่ที่เข้าใจว่าเป็นสันติบาลจากจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาพูดคุยด้วย และมีการขอถ่ายรูปเธอกับเพื่อนๆ เอาไว้

“ป้าก็ให้ถ่ายไปเลย เพราะเชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร โดยรูปที่ถ่ายก็มีป้า แล้วก็เพื่อนที่อยู่ข้างหลังด้วย 2 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกให้ถ่ายด้วยกัน แต่ต่อมาคนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเหมือนกัน คนจากเชียงใหม่ มีป้าเพียงคนเดียวที่ถูกออกหมายเรียก”

.

ภาพผู้ถูกดำเนินคดี UN62 ขณะเข้ารายงานตัวกับอัยการเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61

.

ในความเป็นแม่ และการต่อสู้หลังถูกดำเนินคดี

หลังจากการร่วมชุมนุมวันนั้น มีหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาส่งมาที่อยู่ตามทะเบียนของเธอ และเพื่อนเธอก็โทรมาแจ้งข่าวว่าเธอถูกดำเนินคดี

“ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าถูกดำเนินคดี คือมันมาจ้องอะไรคนเฒ่า คนหนุ่มสาวมันไม่เอา เพราะคนที่ไปด้วยกันก็ไม่โดน แล้วเราก็ไม่ใช่แกนนำ แต่ก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร

หลังจากถูกหมายเรียก เธอต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ มาแล้วสามครั้ง ไปรับทราบข้อหา, ไปส่งตัวให้อัยการ และล่าสุดก็มีการส่งฟ้องศาลคดีศาลแขวงดุสิต โดยศาลนัดพร้อมคดีอีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค. นี้

แต่ละครั้ง เธออาศัยการเดินทางโดยรถไฟ โดยใช้สิทธิผู้สูงอายุ แต่ก็ต้องเป็นรถไฟราคาถูก ไม่ใช่รถแอร์ ไม่ใช่รถนอน เพราะงบประมาณมีจำกัด และต้องไปหาอาศัยพักกับคนรู้จัก หากต้องค้างคืน

“โดนคดี ไม่ได้เครียดมาก แต่ภูมิใจที่เราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง คนที่จับเราต่างหาก มันน่าอาย เรามาเรียกร้องแค่นี้ แต่จับดำเนินคดี ป้าสู้ขนาด ขอให้บอก กลัวแค่ว่าไม่มีแรง เฒ่าไปไม่มีแรง ไปไหนไม่ได้ ไปสู้ไม่ได้ แต่เราไม่ได้ฆ่าใคร ไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำอะไรน่าอาย เราไม่อาย เราภูมิใจที่ได้มาต่อสู้ ที่ได้ไปต่อสู้”

สำหรับป้าดาวเรือง เรื่องการถูกดำเนินคดี หรือการต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ บ่อยๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เธอหนักใจเป็นหลัก แต่เรื่องสำคัญสำหรับเธอคือภาระการถูกดำเนินคดี ทำให้มีปัญหาในการดูแลหลานตัวน้อย

“ป้าเป็นห่วงหลาน เพราะไม่มีใครจะไปรับไปส่งหลาน เพราะเด็กก็ยัง 6 ขวบ เราเลี้ยงมาเหมือนลูก ถ้าป้าไม่อยู่ ถ้าไปกรุงเทพฯ ก็ต้องให้น้องที่เช่าห้องอีกห้องไปช่วยรับกลับมาที่ห้องเช่า แล้วให้หลานรอแม่กลับมาอยู่คนเดียว ป้าก็เป็นห่วงหลาน”

“เราก็อยากให้หลานโตมาในสังคมที่ดี ได้เรียนรู้ว่าอันไหนดีหรือไม่ดี ได้ซึมซับเรื่องของความถูกต้อง เราต่อสู้ไปแบบนี้ก็เพื่อลูกเพื่อหลานในวันข้างหน้า”

เนื่องจากคดีต้องใช้เวลาต่อสู้ค่อนข้างยาว ส่วนตัวเธอเองก็ต้องเก็บหอมรอมริบเตรียมค่าใช้จ่ายเผื่อไว้ในการเดินทางแต่ละครั้ง ลูกเธอเองก็มีเงินเดือนไม่ได้มากนัก ต้องแบ่งใช้จ่ายเลี้ยงปากท้องรวมสามชีวิตในครอบครัว เธอเองได้เบี้ยเลี้ยงคนชราเดือนละ 600 บาท แต่ก็มีค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ ค่าเช่าห้อง และค่าเล่าเรียนของหลาน ยังดีที่ครอบครัวไม่ได้มีหนี้สินก้อนใหญ่ มีแต่ต้องผ่อนส่งรถจักรยานยนต์เป็นรายเดือนทุกเดือน

สำหรับป้าดาวเรือง ต่อไปเสื้อแดงอาจจะไม่ได้มีอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เธอเองก็แทบไม่ได้ใส่เสื้อแดงแล้ว แม้จะยังเก็บมันไว้ในตู้เสมอก็ตาม แต่เธอบอกว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงจะมีต่อไป อาจจะในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเธอก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร

“มันก็ต่อสู้ยากนะ เราไม่ได้มีอำนาจ ไม่ได้มีกำลังอะไร แต่เขามีพร้อม ที่ทำได้ เราก็ต้องช่วยกันต่อสู้ต่อไป ป้าไม่กลัวตาย ไม่กลัวเข้าคุก”

เมื่อถามว่าที่ออกมาต่อสู้ ที่เข้าร่วมชุมนุมมาตลอดกว่า 10 ปีนั้น จนถึงวันนี้ เธออยากเห็นอะไรบ้าง

“อยากเห็นบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง มีความถูกต้อง มีความยุติธรรม ให้กฎหมายมันเที่ยงตรง ไม่ใช่เอียงแบบนี้ คดีหลายอย่าง ป้าเห็นว่ามันกลับผิดเป็นถูกหมด แล้วขอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราไม่ชอบการปฏิวัติ ไม่อยากเห็นคนโกงประชาชน โกงประเทศชาติ อย่างรัฐบาลนี้ก็โกงเบิ้ลโกง ตอนนี้ มันถอยหลังเข้าคลอง ลงไปในเหวลึก ไม่รู้จะดึงขึ้นมาได้ไหม”

.

X