หลังจากที่ได้นัดสอบคำให้การของพยานจำเลยในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งหน้า มธ.และ UN ในส่วนของแกนนำทั้ง 10 คนไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ล่าสุดในวันนี้ (30 กันยายน 2562) ศาลได้นัดคู่ความมาเพื่อตรวจพยานหลักฐาน และมีคำสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 2 ธันวาคม 2562 เวลา 9.00 น. เหตุในการเลื่อนนัดเนื่องจากโจทก์และจำเลยเห็นร่วมกันว่า หลังจากที่ได้ฟ้อง นางสาวศรีไพร นนทรี, นายวันเฉลิม กุนเสน, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายประจิณ ฐานังกรณ์, นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายอานนท์ นำภา, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ ในคดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเพิ่มอีก 10 คน จากเหตุเดียวกันและอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนนำตัวมาส่งโจทก์เพื่อยื่นฟ้อง จึงควรรอการสืบพยานเพื่อรวมคดีจะได้ไม่เป็นการเสียเวลาในการกำหนดนัดสืบพยานนัดต่อไป
ในวันเดียวกันนี้ ทางโจทก์ยังได้ยื่นหลักฐานสำหรับการสืบพยาน 89 ฉบับ พยานบุคคล 77 ปาก และ DVD บันทึกเหตุการณ์อีก 8 แผ่น ทั้งยังชี้แจงว่ามีวัตถุพยาน DVD อีก 1 แผ่นที่ยังอยู่ระหว่างการติดตามจากพนักงานสอบสวน จึงขอนำส่งในภายหลัง ทางด้านทนายจำเลยแถลงว่าจะขอตรวจดูเอกสารและ DVD หลักฐานก่อน จึงขอทำการเลื่อนคดีออกไปโดยที่ทางโจทก์ไม่ได้คัดค้าน
10 แกนนำ UN62 สู้คดี ศาลให้ปล่อยตัวไม่ต้องวางหลักทรัพย์
จำเลยคดีคนอยากเลือกตั้ง ‘UN62’ เล่า 5 ชั่วโมงในห้องขังใต้ถุนศาล ระหว่างถูกสั่งฟ้องคดี
คดีนี้เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และองค์การสหประชาชาติ ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยเจ้าหน้าที่สกัดกั้นการชุมนุมทั้งสองวัน เหตุการณ์จบลงที่การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม 10 ราย ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ และแกนนำที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 5 ราย เข้ามอบตัว นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ ตำรวจยังออกหมายเรียกผู้ชุมนุมอีก 47 ราย โดย 6 ราย ถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ
อัยการสั่งฟ้อง 10 แกนนำ คดี UN62 อ้าง หากปลุกระดมมวลชนได้จะทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
เลื่อนตรวจพยานฯ “UN62” โจทก์อ้างรอความเห็นฟ้อง ‘เนติวิทย์’ เพิ่มอีกราย
จากนั้นอัยการได้มีคำสั่งฟ้องจำเลย 10 คน ในฐานะผู้จัดการชุมนุม (จากที่ทางตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องในตอนแรก ทำให้รวมทั้งหมดเป็น 21 คน) ตามความผิดฐานต่าง ๆ ได้แก่
- มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
- มาตรา 215 เป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- มาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก
- ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 15,16 ไม่จัดการชุมนุมตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม, มาตรา 18 ไม่เลิกชุมนุมตามระยะเวลาที่กำหนด, มาตรา 19 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยมีบทกำหนดโทษไว้ตามมาตรา 27, 29, 30, 31
- ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 108 และ 148 เดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร
- ข้อหาตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ 9 จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากทางโจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว ยังได้ขอให้ศาลสั่งลงโทษจำเลยให้ร่วมกันจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนเงิน 140.24 บาท แก่การไฟฟ้านครหลวงอีกด้วย
เลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดีผู้ชุมนุม UN62
คดีผู้ชุมนุม “UN62” ศาลยังไม่วินิจฉัยว่าคำสั่งห้ามชุมนุมใน 3/58 ถูกยกเลิกแล้วหรือไม่
การเคลื่อนไหวครั้งดังกล่าวเป็นหนึ่งในซีรีย์การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเพื่อเรียกร้องไม่ให้ทางรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ ในขณะนั้นทำการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกฟ้องกลุ่มแกนนำคดี RDN 50 ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, อานนท์ นำภา, ณัฏฐา มหัทธนา, สุกฤษฏิ์ เพียรสุวรรณ และชลธิชา แจ้งเร็ว จากความผิดตามมาตรา 116
อ่านเพิ่มเติม:
ผู้ชุมนุม “UN62” ยื่นศาลวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกยกเลิกแล้ว
“ป้าภูมิใจที่ได้ออกมาต่อสู้”: รู้จัก “ป้าดาวเรือง” ในความเป็นแม่ และความเป็นจำเลยคดี UN62