วันนี้ 30 พ.ค.61 ข่าวสดและมติชน รายงานว่า เมื่อจันทร์ (วันที่ 28 พ.ค. ) ที่ผ่านมา พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ คณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” และเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหมด 62 คน ต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดี จากการไปร่วมชุมนุมครบรอบ 4 ปี การทำรัฐประหารของ คสช.
ข่าวระบุว่ามีบุคคลจำนวน 21 คน ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีใน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/ 2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 (2) (3) และมีบุคคลที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/ 2558 ข้อ 12 รวม 41 คน
นอกจากนั้น ครั้งนี้ คสช. ได้ดำเนินคดีกับผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย 1 คน(ในกลุ่ม 41 คน) คือน.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมในครั้งนี้ในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความฯ โดยน.ส.นีรนุชได้แขวนป้ายและสวมเสื้อแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความฯ อย่างชัดเจนและปฏิบัติหน้าที่อย่างเปิดเผยในระหว่างสังเกตการณ์ และก่อนหน้านี้เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่มาแล้วหนึ่งครั้งจากการร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมเสวนา “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.59 ซึ่งอยู่ในช่วงการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา
จากรายชื่อที่ปรากฏในข่าวสามารถแบ่งได้ตามข้อหา และคดีอื่นๆ ที่ผู้ชุมนุมบางรายเคยถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ ได้ที่ตารางท้ายข่าวนี้ และการแจ้งความดำเนินคดีของ คสช. ครั้งนี้ทำให้มี “คนอยากเลือกตั้ง” ถูกดำเนินคดีรวมแล้วทั้งหมด 133 คน 10 คดี ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
การดำเนินคดีกับกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ครั้งนี้ สืบเนื่องจากการชุมนุมต่อเนื่องกัน 2 วันเมื่อ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และผู้ชุมนุมพยายามเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยไปที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสกัดไว้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสนามหลวง ทำให้ผู้ชุมนุมพยายามเจรจาเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ให้ทางแต่ไม่เป็นผลสำเร็จจนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนกระจายตัวและไปรวมตัวกันใหม่หลังแนวตำรวจก่อนออกเดินไปที่ทำเนียบฯ ตามแผน แต่ภายหลังก็ถูกตำรวจตั้งด่านสกัดบริเวณหน้าหน้าองค์การสหประชาชาติ ตำรวจได้เข้าจับกุมบุคคลไปทั้งหมด 10 คน ก่อนที่แกนนำด้านสนามหลวงจะเข้ามอบตัวอีก 3 คน และตำรวจได้จับกุมตัวเพิ่มอีก 2 คนในภายหลัง ทำให้ในเย็นวันที่ 22 พ.ค. จะมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 15 คน