4 แกนนำ MBK เข้ารายงานตัวตามหมายนัดที่ สน.ปทุมวัน พร้อมยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ยันการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 นายอานนท์ นำภา, นายรังสิมันต์ โรม, นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ นายเอกชัย หงส์กังวาน 4 แกนนำ MBK39 เดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ตามหมายนัด โดยทั้ง 4 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12, ข้อหาชุมนุมภายในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการจัดกิจกรรม “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดบนสกายวอล์คหน้า MBK ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 3 พ.ค. 2561
วันเดียวกันนี้ นายรังสิมันต์, นายสิริวิชญ์, นายเอกชัย, นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติม โดยคำให้การสรุปได้ดังนี้
พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรม “นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบอำนาจ คสช.” เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่าประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ได้รับรองหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ใน ข้อ 19 วรรคหนึ่งว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและวรรคสอง บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ขอ้มูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร การตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่น ตามที่ตนเลือกที่และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกใช้แล้ว เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ซึ่งประกาศออกมาใช้วันที่ 1 เม.ย. 58 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ชุมนมฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 58 เป็นต้นมา ตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าที่มีเนื้อหาเดียวกัน และตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคำสั่งของ คสช. ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 44 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีเสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและได้กำหนดเงื่อนไขทางรูปแบบไว้ด้วยว่า การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยเมื่อเสรีภาพดังกล่าวถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ องค์กรของรัฐทุกระดับย่อมมีหน้าที่ต้องผูกพันโดยตรงต่อเสรีภาพดังกล่าว
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นคำสั่งที่แทรกแซงเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ไม่ได้อนุญาตให้รัฐสามารถตรากฎหมายหรือออกคำสั่งใดเข้ามาควบคุมหรือห้ามการชุมนุมที่มีเนื้อหาบางประเภทได้ และ “ห้ามชุมนุมทางการเมือง” ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้
ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 26 กำหนดไว้ว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอีกด้วย
นอกจากนี้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ยังใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่นคำว่า “ชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่าขอบเขตจำกัดความ กว้างขวางเพียงใด อีกทั้งเป็นถ้อยคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน
การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต โดยพบว่าในปัจจุบัน รัฐมักจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน โดยหวังผลข่มขู่บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับตนหรือคัดค้านการใช้อำนาจหรือกิจการที่รัฐได้กระทำ เพื่อทำให้ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องถูกดำเนินคดี ทำเสียสูญเสียเงินทอง สูญเสียเวลา เสียความสุขในชีวิตกับการต่อสู้คดีอันยาวนาน และในที่สุดก็จะส่งผลให้ประชาชนคนอื่นๆเกิดความเกรงกลัวและก็จะ “ปิดปาก” ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในทางวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านใดๆ อีก
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ว่า “ผู้ใด มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไปนั้น เป็นคำสั่งที่ออกมาโดย คณะ คสช. หลังจากที่ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว ก็ได้ออกคำสั่งดังกล่าวมาบังคับใช้ โดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน โดยเนื้อหาห้ามชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ทางการเมืองโดยแท้ ในการแทรกแซง ยับยั้ง ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น
โดยผู้กล่าวหาในคดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทน คสช. มาแจ้งความดำเนินคดี ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ทั้งที่ทราบดีว่าประชาชนมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของรัฐบาลหรือ คสช. เกี่ยวกับการดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 ประกอบกับมาตรา 44 มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด การแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงเป็นไปโดยมีเจตนาหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องมือกำบังตน จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน เพื่อมิให้กล้าวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือ คสช.
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวมีคนถูกดำเนินคดีทั้งหมด 39 ราย โดย 28 ราย ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากเขตพระราชฐาน ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ปัจจุบันอยู่ในชั้นอัยการและเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2561 พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และจะได้ทำความเห็นพร้อมส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ให้มีความเห็นต่อไป
ส่วนอีก 2 รายยอมรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน ศาลพิพากษาให้จำคุก 12 วัน ปรับ 6,000 บาท แต่ให้การรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 วัน ปรับ 3,000 บาท เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี โดยศาลไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดพฤติการณ์ต่างๆ แต่อย่างใด ส่วนอีก 9 ราย ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำจึงมีการเพิ่มข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ปัจจุบันความคืบหน้าในคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน