แม้คดีสิ้นสุดแล้ว ผู้ต้องขังก็มีสิทธิพบทนายความ: ย้อนดูคำพิพากษาศาลปกครองคดี “ทนายอานนท์” ฟ้องเรือนจำไม่ให้เยี่ยมลูกความ

จากสถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้วเพิ่มมากขึ้น และในบางเรือนจำ อาทิ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม พบสถานการณ์เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ทนายความได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง โดยอ้างว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องพบหรือปรึกษากับทนายความอีก แม้กรณีเช่นนี้จะไม่ได้พบในทุกเรือนจำ แต่ก็พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ แม้ไม่ใช่กรณีผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับการเมืองก็ตาม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าปัญหาดังกล่าวกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังในการพบและปรึกษากับทนายความมาเป็นเวลานานหลายปี โดยในช่วงปี 2559 อานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ เคยถูกเรือนจำกลางเชียงรายไม่อนุญาตให้เยี่ยมผู้ต้องขังที่เขาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยอ้างว่าเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว ผู้ต้องขังก็ไม่มีเรื่องต้องพบทนายความอีกต่อไป ทนายอานนท์จึงได้ยื่นฟ้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองเชียงใหม่ 

ต่อมาทราบในภายหลังว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในกรณีนี้ไปเมื่อช่วงปี 2564 โดยเห็นว่าแม้สถานะเป็นผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ต้องขังย่อมต้องได้รับสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมหรือพบทนายความ ตามที่รัฐธรรมนูญให้ได้รับการรับรองและคุ้มครอง คำกล่าวอ้างของทางเรือนจำเรื่องผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้วจึงไม่อนุญาตให้พบกับทนายความนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ ชวนอ่านสรุปรายละเอียดในคดีนี้ทั้งหมด

.

ทบทวนคดี “ทนายอานนท์” ฟ้องศาลปกครอง เหตุเรือนจำกลางเชียงรายไม่อนุญาตให้เยี่ยมลูกความที่คดีสิ้นสุด

สำหรับคดีที่ฟ้องไปที่ศาลปกครองเชียงใหม่นั้น เหตุเกิดจากกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 อานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ ได้ยื่นคำร้องขอเข้าพบ “สมัคร” (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีตามมาตรา 112 ที่คุมขังอยู่ภายในเรือนจำกลางเชียงรายในช่วงเวลาดังกล่าว โดยที่อานนท์เคยเป็นทนายความช่วยว่าความให้กับสมัคร ขณะถูกพิจารณาที่ศาลทหารในช่วงยุคหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  แต่ปรากฏว่าหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยมได้ โดยระบุเหตุว่าเนื่องจากคดีได้สิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว

ต่อมาวันที่ 26 ก.ย. 2559 ทนายอานนท์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าพบสมัคร ต่อผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย โดยระบุว่าทนายความได้ขอเข้าพบลูกความ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการขอพิจารณาคดีใหม่ ติดตามอาการป่วยทางจิตเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามกฎหมาย และแจ้งเรื่องขอรับพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย การที่หัวหน้างานเยี่ยมญาติมีคำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าว กระทบต่อสิทธิตามกฎหมายและการทำหน้าที่ทนายความ แต่ปรากฏว่าผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์ ไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้เช่นเดิมโดยระบุว่าเหตุอุทธรณ์ของทนายในกรณีดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลเพียงพอที่จะหักล้างและเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้

จากนั้นวันที่ 16 ม.ค. 2560 อานนท์จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ โดยมี กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 และหัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงราย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในคดีละเมิดเนื่องจากการไม่ให้เข้าพบลูกความ เป็นการโต้แย้งสิทธิของทนายความที่จะให้คำปรึกษากับลูกความเป็นการเฉพาะตัว และเป็นการออกคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายหลายบท

ทนายอานนท์ผู้ฟ้องจึงร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้พบสมัคร, ขอให้หัวหน้างานเยี่ยมญาติของเรือนจำกลางเชียงรายและผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงรายมีคำสั่งอนุญาตให้ทนายความเข้าพบสมัคร, ขอให้กรมราชทัณฑ์ชดใช้เงินจำนวน 200,000 บาท และขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสามร่วมกันออกกฎหรือระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้ออกคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดอีก

.

.

ผู้ถูกฟ้องทั้งสามให้การ แม้เป็นทนายความก็ไม่สิทธิเข้าเยี่ยมนักโทษเด็ดขาด เพราะไม่มีกิจการต้องปรึกษาคดีกันอีกต่อไป คำสั่งไม่อนุญาตเป็นไปตามข้อบังคับกรมราชทัณฑ์แล้ว

หลังจากทนายอานนท์ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การเป็นหนังสือโต้แย้งว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้ตรวจคำร้องของทนายความขอเข้าพบผู้ต้องขัง ปรากฏว่าคำร้องเพียงแต่ระบุว่าเพื่อปรึกษาอรรถคดีมาตรา 112 เท่านั้น โดยไม่ได้ระบุเหตุผลให้ทราบว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความของนักโทษแล้วหรือไม่ หรือติดตามอาการป่วยเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามกฎหมาย หรือเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย หรือเพื่อแสวงหาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีระบุข้อความดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ทราบ จะได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ทราบเพื่อใช้ดุลยพินิจในการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีพบผู้ต้องขัง ตามข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555

กรณีของสมัครนี้ ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ฟ้องเข้าพบผู้ต้องขังเพื่อแต่งตั้งทนายความในการแก้ต่างหรือปรึกษาคดีอีก เนื่องจากเมื่อตรวจสอบประวัตินักโทษเด็ดขาดชายสมัคร เป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2558 ทำให้ไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนหรือไต่สวนมูลฟ้อง หรือผู้ต้องขังในคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลที่ทนายความสามารถเจ้าพบผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดีได้ ตามข้อ 15 วรรค 1, 2 จากข้อบังคับดังกล่าว 

อีกทั้งไม่ได้เป็นกรณีที่ทนายความประสงค์จะขอเข้าพบผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง และไม่ใช่กรณีเหตุพิเศษอันเกี่ยวข้องกับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2 อาจพิจารณาอนุมัติให้เข้าพบได้ตามข้อ 15 วรรค 3 และข้อ 17 ตามข้อบังคับดังกล่าว ดังนั้นคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบนักโทษเด็ดขาดชายสมัครของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงเป็นไปตามข้อบังคับกรมราชทัณฑ์แล้ว

อีกทั้ง แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นทนายความ แต่หากได้รับอนุญาตเข้าไปในเรือนจำเพื่อทำกิจธุระ เยี่ยมผู้ต้องขัง หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น จักต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่อธิบดีตั้งและประกาศไว้ ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นจิตแพทย์ หรือผู้มิวิชาชีพและความสามารถเฉพาะ ไม่อาจอ้างอาการเจ็บป่วยทางจิตของผู้ต้องขังเพื่อเข้าเยี่ยม และไม่ใช่ผู้มีอำนาจทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เนื่องจากคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และไม่ใช่กรณีเป็นผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาในคดีที่ต้องการพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความได้ ดังนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทนายความของนักโทษเด็ดขาดชายสมัครก็ไม่มีสิทธิเข้าพบเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อบังคับดังกล่าวและ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แล้ว และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องซึ่งเป็นทนายความพบนักโทษเด็ดขาดชายสมัครเป็นไปตามข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุแล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยผิดกฎหมาย หรือเป็นการโต้แย้งสิทธิอันจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี

.

.

ทนายอานนท์คัดค้านคำให้การ ยันการพบทนายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และคำสั่งไม่อนุญาตเป็นการตีความกฎหมายที่เลื่อนลอย

ทนายอานนท์ ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้อง โดยสรุปว่า ทนายความย่อมมีสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถือว่าเป็นสิทธิที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสิทธิตามกฎหมาย

ทนายความสามารถเข้าพบและให้คำปรึกษากับนักโทษเด็ดขาดเป็นการเฉพาะตัวได้ตามกฎหมาย โดยคำนิยามคำว่า “จำเลย” ตามมาตรา 2 (3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดแต่เพียงระยะเวลาการเริ่มต้นเป็นจำเลย แต่ไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดลงไว้ รวมถึงคำนิยามคำว่า “ผู้ต้องขัง” ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ได้กำหนดให้ทั้งนักโทษเด็ดขาด คนต้องขัง คนฝาก มีฐานะเป็นผู้ต้องขังทั้งหมด โดยไม่มีการแยกความแตกต่างหรือการสิ้นสุดสิทธิในการติดต่อจากทนายความ และ มาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 กำหนดหลักทั่วไปว่าผู้ต้องขังทั้งหมดมีสิทธิได้พบหรือปรึกษาทนายความ ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ดังนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องตีความกฎหมายต่าง ๆ ว่าสิทธิของผู้ฟ้องคดีในฐานะทนายความสิ้นสุดลงเมื่อผู้ต้องขังเป็นนักโทษเด็ดขาดตามคำพิพากษา จึงเป็นการตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลอย่างเลื่อนลอยและปราศจากฐานทางข้อกฎหมาย 

ในการขอพบผู้ต้องขังผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ตามข้อ 13-15 ของข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่องานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 กล่าวคือ 1. ผู้ฟ้องเป็นทนายความ มีใบอนุญาตว่าความถูกต้องตามกฎหมาย 2. สมัครได้แต่งตั้งให้ผู้ฟ้องเป็นทนายความถูกต้องตามกฎหมาย 3. สมัครไม่ได้แสดงเจตนาไม่ยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีเข้าพบ และ 4. ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอเข้าพบผู้ต้องขังตามแบบที่กรมราชทันฑ์กำหนดแล้ว ซึ่งในแบบไม่มีช่องให้ผู้ฟ้องคดีให้ข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลในการเข้าพบแต่อย่างใด 

ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ดุลยพินิจตัดสินใจออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะทนายความเข้าพบสมัคร จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตีความกฎหมายว่ามีอำนาจที่จะออกคำสั่งปฏิเสธสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นดุลยพินิจที่ผิดพลาดในการตีความกฎหมายอย่างร้ายแรง ซึ่งหากพิจารณาข้อ 13-17 ของข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 แล้ว จะเห็นว่า กฎหมายเพียงแต่กำหนดรูปแบบการใช้สิทธิของทนายความในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำมาอ้างในการออกคำสั่งไม่อนุญาต

.

ข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ข้อ 13-15

.

เดิมศาลปกครองเชียงใหม่สั่งไม่รับฟ้อง เหตุผู้ฟ้องไม่ได้เดือดร้อนเสียหาย แต่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กลับมารับฟ้อง เพราะคำสั่งปกครองกระทบสิทธิแล้ว

หลังการโต้แย้งดังกล่าว ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากเห็นว่าข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่องานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญา และสิทธิของผู้ฟ้องคดีในฐานะทนายความเป็นการเฉพาะ แต่ไม่ได้บัญญัติเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดี คำสั่งไม่อนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาล ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ทนายอานนท์ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ไม่รับฟ้อง เนื่องด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 8 วรรค 1 ได้กำหนดสิทธิของจำเลยในการปรึกษาและติดต่อกับทนายความเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งทนายความก็ย่อมมีสิทธิพบและให้คำปรึกษากับจำเลยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจำเลยจะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด การที่ผู้ถูกฟ้องมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าพบจำเลยย่อมกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายฯ ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังกล่าวแล้ว

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจาก ถือว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายจากคำสั่งดังกล่าว โดยคำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าพบผู้ต้องขังของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว ต่อมาผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งและผู้ถูกฟ้องคดียกอุทธรณ์ ก็เป็นคำสั่งทางปกครองเช่นกัน 

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องเรียกร้องจากราชทัณฑ์ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้รับผิดโดยตรง จะเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยทั่วไปการเรียกร้องค่าเสียหายจะต้องเรียกร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดแล้ว แต่ยังไม่มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากจะต้องทำตามขั้นตอนตามกฎหมายก่อน 

ดังนั้น การเริ่มนับสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจึงเริ่มนับตั้งแต่ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิฟ้องคดี มิใช่วันรู้ถึงการละเมิด จึงเป็นการยื่นฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตาม มาตรา 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลจึงรับฟ้องไว้พิจารณาได้

.

.

ศาลปกครองชี้ ราชทัณฑ์กีดกันผู้ต้องขังไม่ให้ไม่ให้รับสิทธิในการเยี่ยมตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายพบนักโทษเด็ดขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สุดท้าย ศาลปกครองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ในขณะที่ทนายอานนท์ผู้ฟ้องคดีต้องขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในขณะนั้น จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง และผู้ช่วยทนายความได้ติดตามผลคดีในภายหลัง

ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาโดยสรุปได้ว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 29 ประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้รับรองและให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้จะเป็นผู้กระทำความผิดและถูกจำกัดเสรีภาพในระหว่างถูกคุมขังจากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็มิอาจถูกกระทำการใด ๆ อันเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงได้ 

สิทธิการเยี่ยมจากญาติหรือพบทนายความผู้ต้องขัง จึงถือเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังที่พึงได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของผู้ต้องขังมิอาจกระทำได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจตามกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนั้นกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสมัคร เป็นนักโทษเด็ดขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเชียงราย จึงมีสถานะเป็นผู้ต้องขัง การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังย่อมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และโดยข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 7/1 และมาตรา 8 อันเป็นบทกฎหมายที่มีบทบัญญัติสอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และบางบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

เมื่อทนายความยื่นคำร้องขอเข้าพบผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงราย แต่ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าห้องเยี่ยมกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีเข้าพบผู้ต้องขังในวันเดียวกันนั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้แจ้งแก่สมัคร ให้ทราบตามข้อ 14 ของข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมฯ หรือไม่ การกระทำของผู้ถูกฟ้องที่ 3 จึงเป็นการกีดกันผู้ต้องขังไม่ให้ได้รับสิทธิในการเยี่ยมหรือพบทนายความ อันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญฯ

นอกจากนี้ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 มีข้อสงสัยในคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีว่าเป็นทนายความ ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 หรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ก็มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม โดยไม่จำต้องผูกพันกับคำขอหรือพยานหลักฐานของผู้ฟ้องคดี ตามที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติไว้ แต่กลับมีคำสั่งไม่อนุญาตในทันที ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องเข้าพบนายสมัคร ผู้ต้องขังจึงเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามป.พ.พ.มาตรา 420 

แต่อย่างไรก็ตามศาลไม่ต้องออกคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ที่ไม่อนุญาตให้เข้าพบสมัคร เนื่องจากสมัครได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2560 

ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องอ้างว่า คดีของนักโทษเด็ดขาดชายสมัครถึงที่สุดแล้ว จึงไม่อนุญาตให้เข้าพบนั้น เมื่อพิจารณานายสมัครมีสถานะเป็นผู้ต้องขังได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนักโทษเด็ดขาดหรืออยู่ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีของศาล ย่อมต้องได้รับสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือพบทนายความ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องไม่อาจรับฟังได้

ประเด็นเรื่องผู้ถูกฟ้องจะต้องชำระค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ศาลจะต้องวินิจฉัยตามสมควรแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 434 วรรค 1 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสมัครได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อ 27 ม.ค. 2560 ถัดจากวันฟ้องคดีเพียง 11 วัน ประกอบกับผู้ฟ้องไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่รับมาในคำฟ้อง เมื่อพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดจึงไม่สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามคำขอ พิพากษายกฟ้อง

.

.

แม้คำพิพากษาฉบับนี้สุดท้ายแล้วจะมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากสมัครได้รับการปล่อยตัวแล้วขณะพิพากษา และเมื่อพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงจึงไม่สมควรกำหนดค่าสินไหมให้ผู้ฟ้องคดีก็ตาม แต่ศาลปกครองก็ได้วางหลักการสำคัญอันจะเป็นบรรทัดฐานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ในการคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและจะไม่ออกคำสั่งโดยอาศัยการตีความกฎหมายกีดกันสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขัง โดยการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงนี้ จะเป็นการละเมิดต่อผู้ต้องขังและทนายความด้วย 

ทั้งนี้ แม้คำพิพากษาจะได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนถึงสิทธิผู้ต้องขังและทนายความแล้ว และคดีนี้ก็ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ปัจจุบันปัญหาเจ้าหน้าที่เรือนจำออกคำสั่งห้ามไม่ให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องขังคดีถึงที่สุดแล้วยังปรากฏอยู่ในเรือนจำอีกหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านมาตรฐานของเรือนจำแต่ละแห่งที่ไม่อาจคาดเดาบรรทัดฐานได้ การให้สิทธิแต่ละด้านของเรือนจำแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน สร้างความสับสนในหมู่ประชาชนและทนายความที่จะใช้สิทธิเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง และยังสะท้อนให้เห็นถึงการออกคำสั่งโดยปราศจากมูลฐานทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่เรือนจำแต่ละแห่งอีกด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมที่จะยื่นหนังสือต่อกรมราชทัณฑ์ให้เปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติดังกล่าวโดยภาพรวมในทุกเรือนจำ โดยนำคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่นี้ยื่นประกอบต่อไป

.

X