“ผมปลงแล้ว ผมน่าจะตายก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัว”
คุณพ่อของนักกิจกรรมผู้ถูกลงทัณฑ์ในคดีมาตรา 112 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือจำคุกถึง 50 ปี ให้ความเห็นเมื่อเราถามถึงสถานการณ์ของลูกชายของเขา และความหวังในการได้รับการปล่อยตัว
บ่ายวันหนึ่งของวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนแห่งเดือนมิถุนายน 2567 เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายไปที่อำเภอพาน เพื่อพบกับพ่อ แม่ และเพื่อนสนิทของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมวัย 31 ปี ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางเชียงรายในคดีข้อหาดังกล่าวมาแล้วครึ่งปีเศษ จากพฤติการณ์การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่ามีความผิดรวม 25 โพสต์ โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาเรื่อยมา หากยังยืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป
“อั๋น” เพื่อนของบัสบาสออกมาต้อนรับ เขาอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอนี้เช่นกัน ไม่ไกลจากบ้านของบัสบาสนัก จึงเดินทางมาเที่ยวเล่นหาเพื่อนได้ไม่ลำบากนัก ขณะที่พ่อกับแม่ของบัสบาสก็รอคอยอยู่ภายในบ้าน
หลังย่างก้าวเข้าไปในรั้ว สุนัขบ้าน ๆ 3 ตัว ร่วมกันออกมาต้อนรับโดยการเห่าใส่คนแปลกหน้าเสียงดัง จนเจ้าของบ้านต้องช่วยกันพวกมันให้สงบลง
ต้นมะม่วงต้นใหญ่ยืนตระหง่านอยู่ด้านหน้าติดประตูบ้าน ขณะที่กลางบ้านเป็นลานกว้างว่าง ๆ มีที่ทางให้เจ้าสี่ขาทั้งสามได้พอวิ่งเล่น ด้านติดรั้วรอบ ๆ บ้านก็ปลูกทั้งไม้ผลและไม้ประดับน้อยใหญ่ไว้ให้ความร่มรื่น
ตัวบ้านมีขนาดสองชั้นใต้ถุนสูงมุงหลังคากระเบื้อง เสาและโครงห้องด้านล่างก่อสร้างไว้ด้วยปูน แต่ด้านบนประกอบร่างไว้ด้วยไม้ รวมทั้งตัวบันไดไม้ที่พาขึ้นไปยังชั้นบน ด้านขวาของตัวบ้านมีเพิงสังกะสีถูกใช้เป็นที่จอดรถกระบะสีขาวคันเก่า
ด้านรั้วบ้าน ยังมีป้ายไวนิลเก่า ๆ ผ่านการใช้งานมาโชกโชน โฆษณาขาย “อาหารเหนือ ข้าวซอย ไก่ หมู น้ำเงี้ยว” “กล้วยทอด มันทอด มาลองเต๊อะ บ่าผิดหวังจ้าว” ขณะที่ติดรั้วบ้านอีกด้านหนึ่ง ก็มีรถเข็นคันเก่าระบุราคาข้าวซอยน้ำเงี้ยวเอาไว้ แต่สภาพรถเข็นกลายเป็นที่ตากผ้าขี้ริ้ว และตู้กระจกถูกปิดพันไว้ บ่งบอกว่ามันไม่ได้ถูกใช้งานแล้ว หากแต่ก็แสดงถึงอาชีพที่คนในบ้านเคยประกอบการ
พ่อในวัย 71 ปี กับแม่ในวัย 62 ปี เชิญผู้มาเยือนขึ้นไปนั่งพูดคุยบนระเบียงชั้นสองของตัวบ้าน พร้อมเตรียมน้ำเย็นมาให้
หลังบอกที่มาที่ไปของการมาเยี่ยมเยือน สอบถามสารทุกข์สุขดิบเล็กน้อย เราปล่อยให้บทสนทนาดำเนินไป พร้อมสิ่งละอันพันละน้อยของชีวิตวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมือง พยายามอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขี้น และต้องกลายเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองด้วยโทษจำคุกสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
.
.
บ้าน
เอาจริง ๆ บ้านหลังนี้ ก็ไม่ใช่บ้านที่บัสบาสเกิดและเติบโต เขาเพิ่งมาอยู่ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้ เนื่องจากพื้นเพของแม่เป็นคนแถบนี้ ขณะที่พ่อเป็นคนต่างถิ่น คือคนจังหวัดอุบลราชธานี แต่ทั้งคู่พบเจอและใช้ชีวิตร่วมกันในกรุงเทพฯ ทำให้สำหรับบัสบาสแล้ว เขาจะบอกเล่าว่าตัวเองเกิดและเติบโตในเมืองหลวง
ย้อนกลับไปถึงภูมิหลังของชีวิต พ่อเล่าว่าในวัยหนุ่มหลังจบการศึกษาชั้นต้นในบ้านเกิด ก็ไปเป็นทหารเกณฑ์เหมือนกับบัสบาส จนปลดประจำการมา ก็ไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ ในวัย 21-22 ปี เริ่มแรกไม่ได้ทำงานเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ก็ได้ไปช่วยงานขับรถรับส่งให้ “นาย” หรือพวกเศรษฐีในสมัยนั้น จนได้ทำงานประจำกับ “นาย” คนหนึ่ง ที่จ้างขับรถประจำ มีเงินเดือนเริ่มแรกไม่ถึงพันบาท
พ่อเล่าว่าสมัยสร้างเนื้อสร้างตัวต้องไปเช่าห้องรก ๆ เดือนละ 300-400 บาท อยู่ในซอยย่านวัดไผ่ตัน ไม่ไกลจากบ้านของ “นาย” ที่เขาทำงานด้วย แต่ละวันเขาก็ต้องไปขับรถรับส่ง “นาย” ไปคุมงานก่อสร้างต่าง ๆ ทำงานไม่เป็นเวลา บางวันก็ดึกดื่น และใช้ชีวิตค่อนข้างสมบุกสมบัน
จนราวปี 2526-27 พ่อได้งานเป็นคนขับรถให้บริษัทยาแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือนช่วงแรก ๆ ราว 2,000 บาท ซึ่งในสมัยนั้นก็นับว่าพออยู่ได้ ทำให้ทำงานนี้ไปได้ค่อนข้างยาว จนมาเปลี่ยนงานอีกครั้งราวปี 2540 ย้ายไปอยู่กับบริษัทยาอีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นบริษัทยาฝรั่ง ทำให้มีรายได้ค่อนข้างดี และนายจ้างค่อนข้างดี ทำให้อยู่บริษัทนี้มายาวจนถึงปี 2552-53
ขณะที่แม่เคยไปทำงาน “ขายครัว” หรือกับข้าวอยู่ในกรุงเทพฯ ขายมาหมดทั้งก๋วยเตี๋ยว อาหารเหนือ ขนมจีน ข้าวซอย กล้วยทอด โดยมากเป็นการขายด้วยรถเข็น และทั้งคู่พบกันในช่วงที่พ่อทำงานในบริษัทยาแล้ว โดยบัสบาสมีพี่ชายอีกหนึ่งคน ปัจจุบันอยู่ในกรุงเทพฯ
“บาสตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ซนอะไร ค่อนข้างเงียบ ๆ หนิมๆ มีอะไรดูเหมือนจะเก็บไว้ในใจ มันยังเป็นคนชอบสนุก ครูก็ชอบ ชอบไปเต้นอะไร ทำให้คนหัวเราะ” แม่ย้อนเล่าถึงวัยเด็กของบัสบาสในความทรงจำ
พ่อกับแม่ยอมรับว่าพอขึ้นชั้นมัธยมไปแล้ว บัสบาสค่อนข้างเกเร ใช้ชีวิตโลดโผน คบเพื่อนที่พากันไม่ค่อยสนใจการเรียน จนเกือบจะเรียนไม่จบ ม.3 ครูต้องเข็นไปแก้เกรดวิชาที่สอบตก ก่อนเขาจะหันไปเรียนสายอาชีพในสาขาวิชาออกแบบภายใน ที่ไทยวิจิตรศิลป
ส่วนอั๋นนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ เขารู้จักกับบัสบาสมาเรียนตั้งแต่ชั้น ม.3 โดยรู้จักกันผ่านเพื่อนอีกที แล้วก็สนิทสนมกันมาค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากมีความสนใจคล้าย ๆ กัน และทำอะไรหลายอย่างมาด้วยกัน
“ถ้าไม่ได้บาส ก็เกือบบ้าเหมือนกัน มันช่วยอั๋นเยอะ บาสไม่เคยซ้ำเติมอั๋นในเรื่องที่คนอื่นคอยมาพูด ไม่พูดให้กระทบใจเรา บางทีมันก็คอยให้กำลังใจ บางทีก็แสดงออกให้เห็นแบบเสนอว่ามึงควรต้องทำอย่างนี้นะ ก็สนับสนุนกันเรื่อยมา เราเลยไม่อยากทิ้งมัน”
อั๋นเสริมว่า บัสบาสถ้าเป็นคนที่อยู่กับเพื่อนหมู่มาก จะเป็นคนตลก พาเพื่อนขำขัน แต่พออยู่คนเดียว อาจจะดูเงียบ ๆ
ทั้งคู่ไปเป็นทหารเกณฑ์เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหารในช่วงไล่เลี่ยกัน โดยคนหนึ่งไปอยู่ในค่ายที่เพชรบุรี อีกคนไปอยู่ที่ประจวบฯ หลังจากนั้นก็ออกมาทำร้านขายเสื้อผ้ามือสองด้วยกัน ที่ตลาดรถไฟ โดยเน้นขายเสื้อผ้าเกี่ยวกับดนตรีแนวพังค์ตามที่ทั้งคู่สนใจในช่วงนั้น และหลังจากนั้น เมื่อครอบครัวบัสบาสย้ายมาอยู่เชียงราย เขาก็ย้ายมาด้วย โดยยังขายเสื้อผ้ามือสองทางออนไลน์ต่อเนื่องมา
.
อัลบั้มภาพถ่าย
เมื่อเล่าถึงเรื่องราวหนหลัง แม่เดินไปหยิบอัลบั้มภาพถ่ายเก่าหลายเล่มมาให้เราดู มีทั้งอัลบั้มภาพถ่ายขาวดำ สมัยพ่อยังเป็นหนุ่ม ก่อนเล่าว่าพ่อเป็นคนชอบเก็บรูปภาพเก่า ๆ เหล่านี้ไว้ มันจึงไม่สูญหายไป และอัลบั้มภาพถ่ายสีสวย ในสมัยบัสบาสยังอยู่ในวัยย่างเข้าวัยรุ่น ทั้งรูปที่ถ่ายขณะยังเป็นเด็ก ถ่ายขณะปลดประจำการจากทหารเกณฑ์ หรือถ่ายกับครอบครัวในช่วงวัยต่าง ๆ
ขณะที่แม่ยังให้ดูรูปถ่ายบัสบาส ที่ถูกใส่กรอบแขวนอยู่บนผนังบ้าน และใส่กรอบเล็กแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งมีทั้งรูปที่ถ่ายกับตา-ยาย และถ่ายขณะบวชเป็นพระ พร้อมเล่าเบื้องหลังเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแต่ละช่วงชีวิตให้ฟัง เสมือนเรื่องราวของผู้ถูกจองจำนั้น ยังถูกบรรจุกักเก็บไว้ส่วนหนึ่งอยู่ในภาพถ่ายที่ถูกเก็บรักษา
.
.
การเมือง
“เขามาสนใจการเมืองตอนหลัง พ่อก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอกนะ”
เอาจริง ๆ พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามการเมือง โดยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยในช่วงปี 2553 ระหว่างการชุมนุมใหญ่ ตอนนั้นพ่อยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ แล้วเห็นว่ามีม็อบ ก็สนใจไปดู อยากไปเจอชาวบ้านชาวช่องที่เข้ามาจากต่างจังหวัด เพราะเห็นว่ามากันเยอะ เมื่อติดตามฟังเรื่องราวข้อเรียกร้อง ก็อยากให้เป้าหมายการเคลื่อนไหวครั้งนั้นสำเร็จไปด้วย โดยการเข้าร่วมการชุมนุม พ่อไปแบบอิสระ ไม่ได้สังกัดกลุ่มไหน ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง ส่วนแม่ก็ติดตามพ่อไปฟังเพลง ดูบรรยากาศในม็อบด้วย
“แรก ๆ ก็ยังไม่มีอะไรมาก ก็ไปสนามหลวง แล้วก็จนมีเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว (10 เมษายน 2553) วันนั้น ผมกลับมาบ้านแล้ว แต่ทราบข่าวว่ามีการยิงกัน จากนั้นก็ไปร่วมเคลื่อนขบวนจากผ่านฟ้า ย้ายไปอยู่ราชประสงค์ ผมก็ไปดูด้วย เห็นว่าเขาแค่อยากให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่แค่นั้นเอง แต่ทำไมตอนนั้นรัฐบาลต้องใช้ความรุนแรง มีการยิงกัน เราก็ไม่เห็นด้วย”
หลังจากช่วงการชุมนุมของเสื้อแดง และพ่อย้ายชีวิตมาอยู่เชียงราย ก็ยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง และพอคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาของประเทศจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะกลายเป็นลูกชายที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มข้นแทน
อั๋นบอกว่าบัสบาสเริ่มสะสมความคิดทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงทำร้านเสื้อผ้าด้วยกันแล้ว ประมาณช่วงปี 2560-61 เขาเริ่มติดตามข่าวสารการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง การจับกุมดำเนินคดี “ไผ่ ดาวดิน” เริ่มอ่านความเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่การแสดงออกต่าง ๆ เข้มข้นขึ้นหลังเกิดการชุมนุมของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563
“บาสมันเป็นคนที่อินกับเรื่องไหน แล้วมันจะเข้าไปลึกมาก มันจะเจาะไปเรื่องนั้น บางทีก็อาจจะไม่ฟังความเห็นคนอื่น มันก็คิดของมันไป พอมาเรื่องการเมือง เลยไปไกลแบบนี้ หรืออินกับเรื่องผู้ต้องขังการเมือง ก็จะรู้สึกไปกับเขาด้วย แล้วมันไม่ได้มีกลุ่มอะไร มันไปแบบปัจเจก แล้วสู้กับรัฐทั้งหมด มันก็ยากเลย”
ส่วนพ่อบอกว่า เอาจริง ๆ ลูกชายก็ไม่เคยมาคุยเรื่องการเมืองด้วยเท่าไร เขาศึกษาของเขาเอง อาจจะเคยมีเอาเรื่องอะไรที่อ่านเจอในโลกออนไลน์มาพูดคุยกัน แต่ก็นาน ๆ ครั้ง และในการออกไปเคลื่อนไหว บัสบาสเองก็ไม่เคยบอกพ่อกับแม่เอาไว้เท่าไร
“แม้ในทางเนื้อหาเราจะสนับสนุนมัน แต่บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เช่นเรื่องวิธีการ อย่างการไปอดอาหาร หรือไปทำกิจกรรมที่กรุงเทพฯ มันมีค่าใช้จ่ายเยอะ และมีความเสี่ยงมาก” อั๋นบอก
ด้านพ่อก็ให้ความเห็นว่า คงต้องปล่อยให้ลูกชายคิด ทำ รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และเรียนรู้กับมันเอง
“ก็ปล่อยให้มันคิด เราไปบอกมันไม่ได้หรอก มันก็ไม่ได้ค่อยจะฟังเรา ก็ต้องให้เขาคิดเอง แต่ก็รู้ว่ามันอยากแสดงออก แสดงออกถึงความต้องการความเปลี่ยนแปลง หรือการทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น”
.
คดี
แน่นอนว่าทั้งครอบครัวและเพื่อน ไม่มีใครคาดว่าการออกมาเคลื่อนไหว หรือโพสต์แสดงความเห็นของบัสบาสในเฟซบุ๊กจะทำให้เขาถูกดำเนินคดี และลงโทษหนักหน่วงเพียงนี้
บัสบาสถูกจับกุม 3 ครั้ง จากคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี ที่เขาถูกกล่าวหา โดยครั้งแรกเป็นการจับกุมระหว่างเขาอดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ในกรุงเทพฯ อีกสองครั้ง ตำรวจนำหมายจับมาจับถึงบ้านแห่งนี้ หลังจากนั้นยังมีตำรวจมาติดตามสอดส่องถึงบ้านเป็นระยะ
“แม่เห็นว่าลูกโตแล้ว เขาตัดสินใจของเขาเอง เราก็ไม่ได้รู้ว่าลูกไปทำอะไร อย่างมีเจ้าหน้าที่มาเต็มบ้าน ตำรวจเอารถมาเต็มเลย เราก็บอกว่าเราไม่รู้เรื่อง แต่เราก็ไม่ได้สนับสนุนอะไร เขาก็โตแล้ว” แม่ของบัสบาสบอก
ด้านพ่อบัสบาสก็เสริมว่า “เราก็อายุมากแล้ว เราก็ไปทำอะไรไม่ได้มาก เขาจะไปทำอะไร ก็ต้องดูแลตัวเองแล้ว”
ส่วนเพื่อนของบัสบาสอย่างอั๋น ที่รู้เรื่องสถานการณ์การเคลื่อนไหวของบัสบาสอยู่บ้าง บอกว่าพอเห็นว่าโดนคดีมาตรา 112 ก็คิดว่าน่าจะเสี่ยงติดคุก แต่ไม่ได้คิดไว้ว่าโทษจะสูงขนาด 50 ปี อย่างนี้
“มันก็มีคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่มันทำแบบนี้ แต่เราก็ต้องดูเป้าหมายของสิ่งที่มันทำด้วย มันแค่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นบ้านเมืองดีขึ้น ไม่อยากให้บ้านเมืองวนอยู่ที่รัฐประหาร ให้มันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง” อั๋นย้ำ
แต่การถูกดำเนินคดีข้อหานี้ในช่วงปัจจุบัน ดูเหมือนสังคมจะมีความเข้าใจที่แตกต่างจากในอดีต เมื่อมีคนมาให้กำลังใจกับคดีที่บัสบาสต้องเผชิญอยู่พอสมควร แม้อั๋นจะบอกว่ามีเพื่อนบางคนก็ถอยออกไป เพราะอาจจะกลัวการแสดงออกของบัสบาส แต่ก็มีเพื่อนใหม่ ๆ หลายวัย รุ่นลุง ๆ ป้า ๆ สอบถามข่าวคราวเข้ามาเหมือนกัน
ด้านญาติพี่น้อง แม่ก็บอกว่าตอนแรกเขาก็ไม่ได้รู้ข่าวกัน แต่เมื่อเริ่มรู้ว่าบัสบาสโดนเรื่องนี้ แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากเข้ามายุ่งด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการต่อว่าอะไร
“มีคนมาบอกว่าบาสมันกล้า แม่ก็บอกว่าเราก็ไม่ได้สั่งได้สอนเรื่องพวกนี้ มันคิดมันทำของมัน หลายคนเขาก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ชาวบ้านเขาก็รู้อะไรเยอะขึ้น แต่เขาไม่กล้าพูด เขายังกลัว” แม่บอก
.
.
เรือนจำ
แม้ไม่มีใครอยากให้ลูกหรือเพื่อนต้องติดคุก แต่เมื่อบัสบาสเผชิญกับการถูกจองจำแล้ว ทั้งสามคนก็ต้องคอยไปติดตามเยี่ยมเยียน
หากแต่การไปเยี่ยมที่เรือนจำนั้น ก็เป็นปัญหาใหญ่อยู่เหมือนกัน เนื่องจากเรือนจำกลางเชียงรายกำหนดให้ญาติเยี่ยมได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง และลงทะเบียนเยี่ยมทางไลน์ได้อีก 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งแตกต่างจากอีกหลายเรือนจำ ที่อย่างมากก็ให้ญาติเยี่ยมได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ทำให้ในช่วงที่บัสบาสติดคุกมากว่าครึ่งปีแล้ว ทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งอั๋นที่ติดตามไป ได้ไปเยี่ยมเพียงเดือนละครั้ง และยังจำกัดเฉพาะวันพุธ ซึ่งเป็นวันเยี่ยมในแดนของบัสบาส ทั้งยังไม่ได้เยี่ยมผ่านทางไลน์ เนื่องจากพ่อและแม่ยังไม่สันทัด
“ไปเยี่ยมบัสบาสที ก็ต้องใช้จ่าย ค่าน้ำมันรถก็ 500 แล้วก็ไปฝากเงินให้บัสบาสอีกสักหน่อย ไปกลับก็เกือบร้อยกี่โล เรือนจำก็อยู่ลึกด้วย” อั๋นบอก
อั๋นยังเล่าว่าการเยี่ยมญาติที่เรือนจำเชียงราย จะไม่ได้พบหน้ากับผู้ต้องขังตัวเป็น ๆ แต่จะได้คุยผ่านสายโทรศัพท์วิดีโอคอล ที่เห็นหน้าจากในจอภาพขนาดประมาณ 14 นิ้ว และให้เวลาเยี่ยม 15 นาที นั่นคือเวลาทั้งหมดที่ทั้งครอบครัวได้พูดคุยกันในแต่ละเดือน
“คุยกันได้แป๊บเดียว 15 นาที พอให้หายคิดถึง แล้วมีเพื่อนฝูงหรือคนอยากมาให้กำลังใจก็อยากมาเยี่ยม ก็มาไม่ได้ เพราะเยี่ยมได้เดือนละครั้ง และต้องอยู่ในรายชื่อเยี่ยม 10 คน” อั๋นเล่าต่อ
อั๋นยังเล่าว่าจากการเยี่ยมครั้งล่าสุด บัสบาสก็พยายามคิดบวกมากขึ้น เพราะคิดว่าต้องอยู่ยาว แต่ก็อยากรู้ข่าวสารภายนอก ว่าสถานการณ์การเมืองเป็นยังไง มีผู้ต้องขังทางการเมืองได้ประกันบ้างไหม ขณะเดียวกัน เขายังต้องกินยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งได้รับจากทางสถานพยาบาลของเรือนจำอยู่
“พ่อเคยร้องไห้ตอนไปเยี่ยมแรก ๆ เขาก็รักลูก” แม่บอกถึงเรื่องการเยี่ยมลูกชายเพิ่มเติม
“บาสมันก็ร้องไห้ เป็นไม่กี่ครั้งที่เห็นน้ำตามัน ตอนแรกที่พ่อไปเยี่ยมครั้งแรก ก็ร้องไปด้วยกัน หลังจากนั้นก็ต้องให้กำลังใจกัน” อั๋นเสริม
แม่เล่าอีกว่า บัสบาสค่อนข้างเป็นห่วงสุขภาพของพ่อ แม้พยายามบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง พ่อยังเข้มแข็ง แต่เขาก็เป็นห่วงพ่อ
.
จดหมาย
นอกจากการเดินทางไปเยี่ยมและพูดคุยผ่านจอ พ่อยังได้รับจดหมายที่เขียนด้วยลายมือจากบัสบาส ในช่วงครึ่งปีนี้ได้รับประมาณ 3-4 ฉบับ ถือว่ายังค่อนข้างน้อย และไม่ทราบระยะเวลาการตรวจทานก่อนส่งออกจดหมายของเจ้าหน้าที่ โดยที่เรือนจำในต่างจังหวัดนั้นยังไม่มีระบบการส่งจดหมายทางออนไลน์เหมือนในกรุงเทพฯ ยังต้องส่งผ่านทางไปรษณีย์ปกติ
เมื่อคุยถึงเรื่องนี้ พ่อให้แม่เดินลงไปชั้นล่างของบ้าน หยิบกระดาษจดหมายสภาพถูกพับจนยับย่น 2 ฉบับ มาให้ดู พลางบอกว่าเก็บไว้เหลือ 2 ฉบับ อีกส่วนหนึ่งหาไม่เจอแล้ว
“เหมือนเขาเขียนมาแบบอยากให้คนอื่น ๆ อ่านมากกว่า เขียนปลุกปลอบใจเพื่อน ไม่ได้เกี่ยวกับครอบครัว ก็เขียนเหมือนกับรู้ว่าเจ้าหน้าที่ (เรือนจำ) จะอ่านอยู่แล้ว” พ่อบอก พลางชวนอ่านจดหมายที่เดินทางมาจากเรือนจำด้วยกัน
———-
5 มีนาคม 2567
เรือนจำกลางเชียงราย D1 (เขตควบคุมพิเศษ)
(ฝากส่ง)
ถึงคุณพ่อ
สบายดีหรือป่าวพี่น้องเอ้ย!!!
ผมยังแข็งแรงยืนระยะได้ยาวและเท่เหมือนเดิม ทานข้าวกันหรือยัง? อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับทุกท่าน ในเรื่องราวที่อยากจะแชร์ของผม คงจะไม่มีอะไรมาก เพราะผมคิดว่าในทางการต่อสู้ เราได้ชนะในกติกาที่เขาเขียนไปแล้ว ชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง สู้ไปด้วยกันนะครับ
ในส่วนเรื่องที่ผมถูกตัดสินในคดีมาตรา 112 โทษสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทย ถึง 50 ปี ในเรื่องนี้ผมไม่ได้ซีเรียส ก็แค่ยักไหล่แล้วไปต่อ ผมยังหายใจอยู่นี่หน่า ผมเป็นนักสู้ จะอยู่ที่ไหนผมก็ยังคงเป็นนักสู้ ชีวิตนี้มีหนเดียว แล้วถ้าสุดท้ายปลายทาง ชัยชนะแม้จะไม่มีผม ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย ผมถือว่าผมได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีที่ทางในหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม
สุดท้ายนี้ ผมก็อยากจะขอให้กำลังใจทุกท่านและมิตรสหายทุก ๆ คน เราต่างได้รับความอยุติธรรมไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม หรือจะไม่สนใจการเมืองเลยก็ตาม เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คือสิ่งที่ผมถวิลหา..
ไม่ว่าท้องฟ้าจะเปลี่ยนเป็นสีอะไร ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
จากบัสบาส มงคล ถิระโคตร
ปล. โปรดใช้ถ้อยคำที่สุภาพและห้ามส่งพัสดุ
———-
.
สุขภาพ
ในวัย 71 ปี พ่อยอมรับว่าสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว สามวันดีสี่วันไข้ มีโรคเก๊าท์เป็นโรคประจำตัว บางทีก็ปวดกระดูก หรือป่วยเป็นนั่นนี่อยู่เรื่อย ก่อนหน้านี้ เขายังมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แม้จะฟื้นฟูได้ แต่ก็ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทรงตัว ร่างกายซีกหนึ่งไม่ค่อยมีแรงแล้ว
“วันก่อนก็ข้อเท้าแพลง ผมออกไปทุ่งนา ไปตัดหญ้า ถางหญ้า ทางมันก็ขรุขระหน่อย มีหญ้าขึ้น เดินแล้วเราก็ไม่เห็นหลุมบ่อ สะดุดไป
“อาทิตย์หน้า โรงพยาบาลเขาก็ให้ไปหัดเดิน ผมไปตรวจ ขามันไม่ค่อยมีแรง กำลังมันน้อยลง นักกายภาพก็เลยให้ไปสอนกายภาพ”
พ่อบอกว่าที่บ้านก็ไม่ได้มีไร่มีนามากมาย แต่มีบ่อปลาอยู่ ช่วงหลังพอได้ออกไปทุ่งไปนา มีอะไรทำแก้เบื่อจากที่อยู่บ้านเฉย ๆ แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้อะไรมากมาย
ปัญหาใหญ่ของครอบครัวยังเป็นเรื่องรายได้ แม้ครอบครัวไม่ได้มีรายจ่ายมากนัก และการอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ก็พอหากินหาอยู่ไปได้ แต่เมื่อพ่ออายุมากแล้ว จึงไม่ได้มีอาชีพและรายได้นัก ส่วนแม่ก่อนหน้านี้เคยขายอาหารอยู่ แต่ก็หยุดไปจากปัญหาหลายอย่าง แม้จะอยากกลับมาขายกล้วยทอดที่ตลาดหน้าชุมนุม เพื่อหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ หากก็ยังไม่ได้ลงมือ
“ตอนนี้มีเบี้ยคนชราในแต่ละเดือน แล้วก็ได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ไอ้บาสก็ให้มาช่วยตรงนี้แทนที่จะส่งไปให้มัน”
ก่อนหน้านี้ตอนบัสบาสยังอยู่บ้าน ก็พอเป็นแรงหารายได้ให้บ้าง ทั้งการขายเสื้อออนไลน์ และเขาเคยไปลองขายชา-ขายน้ำที่ซุ้มด้านหน้าหมู่บ้าน แต่พอเริ่มโดนคดีก็ต้องยุติไป แม้ไม่ได้หารายได้ได้มากเท่าไร แต่อย่างน้อยการมีบัสบาสอยู่ ก็พอแบ่งเบาครอบครัวไปได้อยู่บ้าง
อั๋นเสริมอีกส่วนหนึ่งว่า “ผลกระทบอีกเรื่อง อาจเป็นเรื่องจิตใจ เพราะบ้านมันอาจจะไม่ใช่บ้านเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนบ้านอยู่กันพ่อแม่ลูก ตอนนี้มีแต่พ่อกับแม่”
.
ข่าวสาร
ระหว่างบทสนทนาดำเนินไป อั๋นขอตัวออกไปทำธุระก่อน ขณะที่พ่อหยิบมือถือมาไล่ดูข่าวสาร ก่อนเสียงจากข่าวรายงานถึงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวก รวม 39 คน กรณีจากการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ของกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2556-57 จะดังขึ้น ทำให้พ่อนั่งฟัง
ข้อกล่าวหาในคดีนี้มีทั้งเรื่องขัดขวางการเลือกตั้ง จัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญ เพื่อไม่ให้รัฐบาลขณะนั้นบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
โดยสรุปแล้วศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องในข้อหากบฎเเละก่อการร้าย รวมทั้งพิพากษาลดโทษจำคุกจำเลยแต่ละราย ที่เดิมโดนตั้งเเต่ 4-9 ปี กว่า ลดเหลือคนละ 1 ปี -1 ปีเศษ โดยไม่รอลงอาญาจำเลยทั้งหมด 14 คน โดยศาลอุทธรณ์มองว่าเป็นเหตุที่ถูกกล่าวหาการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูงกว่า และต่อมาทั้งหมดก็ยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา
พ่อให้ความเห็นขึ้นมาหลังฟังข่าวสารเรื่องนี้ว่า “ผมคิดว่าคดี 112 โทษมันไม่เหมาะไม่ควรขนาดนี้เลย อย่างคดีร้ายแรงอื่น ๆ โทษก็ไม่ขนาดนี้ อย่างสุเทพ โทษก็ยังไม่ขนาดนี้เลย ถ้าเราเอาความเสียหายมาวัดกันเลย อย่างปิดสนามบิน ปิดทำเนียบรัฐบาล มันส่งผลถึงประเทศเท่าไร เป็นมูลค่าเท่าไร แต่โทษต่าง ๆ น้อยกว่าคดีแบบมาตรา 112 นี้มาก มันเกิดจากอะไร เรื่องแบบนี้ มันควรจะคิดให้รอบคอบให้ละเอียด ในการมาปรับใช้แบบนี้”
พ่อยังพูดถึงคดีของ “ป้าอัญชัญ” ที่โทษเต็มสูงถึง 87 ปี แต่ลดโทษเหลือจำคุก 43 ปี 6 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นคดีที่เคยถูกบันทึกว่ามีโทษจำคุกสูงที่สุดในข้อหานี้ จนกระทั่งถูกคดีบัสบาสทำลายสถิติอันไม่น่าทำลาย โดยพ่อบอกว่าพอลูกถูกโทษจำคุกสูงขนาดนี้ เลยลองไปติดตามเปรียบเทียบกับคดีอื่น ๆ
“พ่อก็ติดตามข่าว ดูเพื่อเปรียบเทียบว่าเขาเป็นยังไง เห็นเขารณรงค์ถึงป้าอัญชัญ ก็อยากให้ปล่อยตัวแกด้วย”
.
.
มาม่า
เมื่อบทสนทนาเงียบลง แม่ชวนไปเดินดูห้องนอนของบัสบาสที่ชั้นล่าง
ที่คานไม้ด้านล่าง เราพบริ้วธงแขวนบนเชือก ที่เป็นภาพสกรีนหน้าผู้ต้องขังและนักกิจกรรมทางการเมือง อาทิ ป้าอัญชัญ, ทนายอานนท์, เพนกวิน พริษฐ์, รุ้ง ปนัสยา, ไผ่ จตุภัทร์
ก้าวเข้าไปในห้องนอนชั้นล่างของบ้าน มีแมวลายสลิดหางกุดท่าทางยียวนวิ่งเล่นไปมา
“มันชื่อมาม่า” แม่บอก พลางย้อนเล่าว่าก่อนหน้านี้มีแมวแถวบ้านมาเกิดลูก 5 ตัว ชาวบ้านก็แบ่ง ๆ กันไปเลี้ยง บัสบาสได้มาเลี้ยง 2 ตัว แต่ตัวสีขาวทองตัวหนึ่งหายไปจากบ้านและไม่กลับมาอีก ส่วนมาม่าเคยหายออกไปช่วงหนึ่งเหมือนกัน แต่รอดกลับมา พร้อมหางที่กุดหายไป มันอาจจะโดนรถทับ
แต่แมวกับหมาของบ้านนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกกัน ทำให้ต้องแยกเจ้ามาม่าเข้ามาเลี้ยงในห้อง และบัสบาสก็เป็นคนเลี้ยงมันเป็นหลัก
“ปกติมันก็นอนกับบัสบาสประจำแหละ เขาเป็นคนรักสัตว์” แม่เล่าถึงมาม่า
.
.
ท่ามกลางข้าวของระเกะระกะในห้อง หันไปดูที่เตียงนอน ตามผนังยังมีภาพโปสเตอร์ของวงดนตรีแนวพังก์ถูกติดไว้หลายแผ่น โดยแผ่นที่เด่นเป็นสง่า เป็นภาพของเพลง God Save the Queen ของวง Sex Pistols ที่บัสบาสเคยบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจของเขาในด้านดนตรีพังก์
จากนั้นแม่เปิดตู้เสื้อผ้าให้ดู บอกว่ามีชุดเสื้อผ้าที่บัสบาสเอามาขาย หลายตัวก็ยังแขวนอยู่ในนั้น หลายตัวก็เพิ่งสั่งมาใหม่ ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะได้ออกมาขายมันอีกเมื่อไร
และดูเหมือนข้าวของหลายอย่างจะยังถูกวางรอไว้อย่างนั้น แม้เจ้าของห้องจะไม่สามารถกลับมาได้ก็ตาม
.
.
นิรโทษกรรม
เมื่อเราออกมาคุยกับพ่อที่กำลังเล่นอยู่กับเจ้าหมาทั้งสามตัว เตรียมขอตัวเดินทางกลับ
พ่อเปรยลักษณะเดิมอีกว่าเขาเองก็ปลงแล้ว ในเรื่องการถูกคุมขังลูกชาย เพราะอาจจะต้องตายก่อน ถ้าโทษสูงขนาดนี้ หากต้องติดเต็มอัตราโทษ จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อบัสบาสอายุ 80 ปีแล้วนู้นแหละ แต่ขณะนี้คดีก็ยังอยู่ระหว่างฎีกา อัตราโทษอาจเปลี่ยนแปลงไปก็ได้
“ก็ยังมีความหวังหน่อย ติ่งไว้หน่อย ว่าลูกจะได้รับการปล่อยตัว”
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม พ่อก็พอได้ยินข่าวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รู้รายละเอียด แต่ก็พอรู้ว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง อาจจะไม่ถูกให้รวมถึงคดีมาตรา 112 อย่างคดีของบัสบาส แม้จะเป็นอีกความหวังหนึ่งให้ลูกชายได้รับการปล่อยตัว
“ส่วนหนึ่งก็คาดหวังว่ามันจะแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แม้พอจะรู้ว่าเป็นไปได้ยาก” พ่อประเมิน
หากในภาพใหญ่ของประเทศ พ่อบัสบาสกลับบอกว่า เขาคิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าช้าหรือเร็ว หรือภายในคนรุ่นไหน พ่ออาจจะตายไปก่อนแล้ว แต่มันจะเกิดขึ้น
“หลายเรื่องมันก็สมมติขึ้นมา ถ้ามันไม่ดี ก็ควรแก้ให้มันดีขึ้น เรารู้มันไม่ดี ก็เปิดโอกาสให้โต้เถียงกัน ให้แก้ได้ ให้แก้กฎหมายอะไรต่าง ๆ มันไม่มีอะไรอมตะนิรันดร์กาล เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก” พ่อทิ้งทายถึงมุมมองของเขา
.
ย้อนอ่านเรื่องราวชีวิตของบัสบาส
เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112
.