ผู้เชี่ยวชาญ UN ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยระบุผู้รายงานพิเศษฯ รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับโทษจำคุก 50 ปี ข้อหา ม. 112 ในคดีบัสบาส

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 กลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures โดยผู้รายงานพิเศษฯ หลายด้านร่วมกันส่งหนังสือ (Joint Allegation Letter) ถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการลงโทษจำคุก 50 ปี ในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ภายใต้ประมวกฎหมายอาญา มาตรา 112

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษา ในคดีของบัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ เมื่อช่วง มี.ค. และ เม.ย. 2564 ผิด 14 กระทง และศาลยังเห็นว่า บัสบาส มีความผิดในอีก 11 กระทง ในคดีที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว โดยลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงหนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ บัสบาสจึงต้องรับโทษจำคุกรวม 50 ปี 

.

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) โดยความยินยอมของบัสบาสได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดีและคุมขังบัสบาสไปยังผู้รายงานพิเศษฯ หลายด้าน ตามกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่

  • (1) ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteur on Freedom of Opinion and Expression) 
  • (2) ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association) 
  • (3) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)  
  • (4) ผู้รายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ (Special Rapporteur on the Independence of Judges and Lawyers)

.

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.  2567 กลไกพิเศษของ UN โดยผู้รายงานพิเศษฯ หลายด้านตามที่ได้ร้องเรียนไปได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย (Joint Allegation Letter Ref.: AL THA 3/2024) แสดงความกังวลต่อการที่บัสบาสถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลายาวนานเป็นประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการที่บัสบาสถูกคุกคามและกลั่นแกล้งอย่างเป็นระบบ

“พวกเรารู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่ง [alarmed] ต่อโทษจำคุก 50 ปีของคุณถิระโคตร ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็น การตอบโต้ต่อกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ของเขา รวมไปถึงการที่เขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย เรากังวลกับสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นรูปแบบการคุกคามและการกลั่นแกล้งอย่างเป็นระบบ [systematic pattern of harassment and targetting] อันเนื่องมาจากการที่เขาใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ และการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเขา เรายังกังวลว่าในขณะนี้คุณถิระโคตร ยังมีคดีที่สามที่กำลังรอการพิจารณาอยู่ ซึ่งอาจมีโทษหนักอีกด้วย”

กลไกพิเศษของ UN กล่าวว่า โทษจำคุก 50 ปีของบัสบาสเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึง การที่รัฐบาลไทย ใช้มาตรา 112 ในทางที่ผิด (abuse) โดยกีดกันและปิดปาก (deter and silence)  นักวิจารณ์ ศัตรูทางการเมือง นักข่าว ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

หนังสือได้แสดงความกังวลอีกว่า ข้อกล่าวหาต่อบัสบาสมีรูปแบบจัดการที่เป็นระบบต่อผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งมีลักษณะทั้งการกักขังโดยพลการและการดำเนินคดีทางกฎหมาย 

“การลงโทษที่สูงอย่างมากต่อคุณถิระโคตร สร้างบรรยากาศให้ผู้คนระหวาดระแวงว่าสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้หรือไม่ [severe chilling effect] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์”

นอกจากนี้ กลไกพิเศษของ UN ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่บัสบาสถูกคุกคาม ในระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัว โดยระบุว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ ดูเหมือนจะละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามกฎขั้นต่ำสุดสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ กฎเนลสัน แมนเดลา (Mandela rules)

หนังสือได้อ้างอิงถึง ข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (CCPR/C/GC/34) ที่กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยจึงต้องรับประกันสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มากไปกว่านี้ กลไกพิเศษของ UN ได้อ้างอิงถึงคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ระบุชัดเจนว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทต้องถูกตราขึ้นด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าปฏิบัติตามข้อ 19(3) ของ ICCPR และไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเชิงปฏิบัติ … บุคคลสาธารณะทั้งหมด รวมถึงประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านทางการเมืองได้” (CCPR/C/GC/34)

สุดท้าย กลไกพิเศษของ UN ได้ย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับการที่ประเทศไทย ใช้มาตรา 112 ในรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และได้มีข้อร้องเรียนต่อรัฐบาลไทยดังนี้

  1. โปรดให้ข้อมูลเพิ่มเติม และ/หรือ ความคิดเห็นที่มี เกี่ยวกับข้อกล่าวหาข้างต้น
  2. โปรดอธิบายพื้นฐานข้อเท็จจริงและทางกฎหมาย (factual and legal basis) สำหรับคดีและการพิพากษาจำคุกของนายถิระโคตร โดยเฉพาะวิธีที่พื้นฐานข้อเท็จจริงและทางกฎหมายเหล่านี้ ปฏิบัติตามบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงมาตรา 9, 19, 21 ของ ICCPR ที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิเสรีภาพและความมั่นคง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และ สิทธิการชุมนุมสงบ หากไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายดังกล่าว โปรดระบุข้อมูลเกี่ยวกับวันที่เขาถูกปล่อยตัว
  3. ในเดือน พ.ค. 2566 (1) ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteurs on the Freedom of Expression and Assembly) (2) ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association) และ (3)  คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ได้แนะนำให้ประเทศไทยทบทวนมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ ICCPR โปรดระบุสิ่งที่รัฐบาลไทยได้ทำเพื่อให้มาตรา 112 สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

โดยกลไกพิเศษของ UN ให้รัฐบาลตอบภายในเวลา 60 วัน แต่เมื่อผ่านไป 60 วัน รัฐบาลไทยไม่ได้ตอบกลับกลไกพิเศษของ UN กรณีนี้แต่อย่างใด

.

กลไกการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไทยมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งหนังสือร่วมของผู้รายงานพิเศษฯ เกี่ยวกับกรณีของบัสบาสเป็นการสื่อสารครั้งที่ 9 ที่กลไกพิเศษของสหประชาชาติได้ส่งให้รัฐบาลไทย นับตั้งแต่ปี  2563

การสื่อสารครั้งก่อนๆ นั้น องค์การสหประชาชาติเน้นย้ำว่าการบังคับใช้มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญานั้นไม่สอดคล้องข้อ 19 ของ ICCPR เช่นการที่คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ได้ระบุว่าการใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย

X