ศูนย์ทนายฯ ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกลไกพิเศษ UN กรณีคำพิพากษาคดี ม.112 ของ “บัสบาส” และ “เก็ท”

ในวันที่ 29 ม.ค. และ 19 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดีและคุมขัง “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร และ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ได้แก่

(1) ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteur on Freedom of Opinion and Expression) 

(2) ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association) 

(3) ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์เกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)  

(4) ผู้รายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ (Special Rapporteur on the Independence of Judges and Lawyers)

เช่นเดียวกับ คำร้องที่ส่งให้กลไกพิเศษ UN กรณีของ อานนท์ นำภา  คำร้องทั้งสองได้ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป

ศาลตัดสินลงโทษจำคุก “เก็ท โสภณ” ในคดี ม.112 ทั้งหมด 2 คดี

ในวันที่ 19 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายฯ ได้ส่งคำร้องถึงผู้รายงานพิเศษฯ เกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิธำรง โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการถูกคุมขังตาม ม. 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโสภณถูกพิพากษาลงโทษจำคุกในคดี ม.112 จำนวน 2 คดี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 และ 27 ธ.ค. 2566 รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 6 ปี 6 เดือน

คดี ม.112 ที่ 1 ของโสภณสืบเนื่องมาจากกรณีการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ซึ่งโสภณถูกกล่าวหาว่าคำปราศรัยเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ต่อมาในวันที่ 24 ส.ค. 2566 ศาลอาญา ได้พิพากษาลงโทษจำคุกโสภณภายใต้ มาตรา 112 เป็นเวลา 3 ปี และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีก 6 เดือน

คำร้องของศูนย์ทนายฯ ได้ชี้แจงต่อผู้รายงานพิเศษของ UN ว่า โทษจำคุก 6 เดือนจากการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่มีฐานกฎหมายมารองรับ (lack legal basis) เนื่องจากความผิดดังกล่าวถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 9 ซึ่งระวางโทษไว้เพียงโทษปรับไม่เกิน 200 บาท แต่ศาลกลับลงโทษจำคุกโสภณถึง 6 เดือน

คำร้องของศูนยทนายฯ ยังรายงานอีกว่า ระหว่างการพิจารณาคดีก่อนมีคำพิพากษา โสภณถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่ในวันที่ 3 – 30 พ.ค. 2565 ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะปล่อยตัวโสภณในวันที่ 31 พ.ค. 2565 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โสภณเข้าร่วมการเดินขบวนอย่างสงบในระหว่างการประชุมเอเปก (APEC Summit) ในวันที่ 17 พ.ย. 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ศาลอาญาได้เพิกถอนประกันตัวของโสภณในวันที่ 9 ม.ค. 2566 เนื่องจากเห็นว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขประกัน โสภณจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง จนศาลจะให้ประกันตัวเขาในวันที่ 20 ก.พ. 2566 โสภณอยู่ในเรือนจำรอบที่ 2 เป็นเวลา 43 วัน

คำร้องระบุว่า การคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นการละเมิดสิทธิในการประกันตัว (right to bail) ของโสภณ และขัดกับหลักว่าต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิด (presumption of innocence)

ในคดีที่ 2 สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย 2565 บริเวณวงเวียนใหญ่ โสภณถูกกล่าวหาว่าคำปราศรัยเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาธนบุรีได้ลงโทษจำคุกโสภณ 3 ปี โดยคดีนี้โสภณแสดงออกปฏิเสธอำนาจของศาล เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันแก่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง 

ศาลลงโทษจำคุก “บัสบาส มงคล” 50 ปี เป็นคดี ม.112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ในวันที่ 29 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายฯ ได้ส่งคำร้องให้ผู้รายงานพิเศษฯ เกี่ยวกับคดีที่ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย.  2564  และอีก 1 คดี ในข้อหาเช่นเดียวกัน จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ ในช่วงวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 

คดีมาตรา 112 แรกของมงคล สืบเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก จำนวน 27 โพสต์ ที่เขาเผยแพร่ระหว่างวันที่ 2 -11 มี.ค. 2564 และ 8-9 เม.ย. 2564 โดยบางโพสต์เป็นการแชร์คลิปของรายการ ทอล์คโชว์ ของ John Oliver (Last Week Tonight) ซีรีย์การ์ตูน American Dad และ สารคดี BBC “Soul of a Nation” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งมงคลถูกกล่าวหาว่าโพสต์มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รวมถึงมีบางโพสต์ที่ไม่ชัดเจนว่ากล่าวถึงบุคคลใด 

ต่อมาในวันที่ 26 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษา ว่าการกระทำของมงคลเป็นความผิดในจำนวน 14 ข้อความ และยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ในกรณีข้อความที่เกี่ยวกับอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ศาลก็เห็นว่าไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี ทั้งหมด 14 กระทง รวมโทษจำคุก 28 ปี

อย่างไรก็ดี วันที่ 18 ม.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นต่างจากศาลชั้นต้น โดยมีคำพิพากษาออกมาว่ามงคลมีความผิดภายใต้ ม.112 อีก 11 โพสต์ โดยศาลเห็นว่าตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 6374/2556 วางหลักของความผิดตาม มาตรา 112 พระมหากษัตริย์มิได้หมายความเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะที่มีการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือมิได้ทรงครองราชย์ต่อไปแล้วด้วย ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 9 โพสต์ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ด้วย 

ส่วนโพสต์ข้อความอีก 2 โพสต์ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อเข้าใจโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้กล่าวว่าองค์พระมหากษัตริย์ให้เสียหาย จึงเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ในเมื่อมงคลให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลง 1 ใน 3 เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุก 50 ปี

หลังจากนั้น ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวมงคล ระบุว่าจากพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 50 ปี หากปล่อยชั่วคราวเชื่อได้ว่าจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง ทำให้มงคลจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายในระหว่างชั้นฎีกา

นอกจากคดีข้างต้นแล้ว คำร้องของศูนย์ทนายฯ ยังรายงานอีกว่า มงคลยังถูกฟ้องในคดี ม.112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายอีก 1 คดี จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565  โดยในคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในวันที่ 30 ต.ค. 2566 ลงโทษจำคุกรวมอีก 4 ปี 6 เดือน แต่คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2567 มงคลยังประท้วงอดอาหารในเรือนจำ เพื่อต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั้งหมด 

ข้อเรียกร้องต่อผู้รายงานพิเศษฯ ของ UN

ในคำร้องที่ส่งให้ผู้รายงานพิเศษฯ ในกรณีของทั้งสองคน มีข้อเรียกร้องต่อผู้รายงานพิเศษฯ ดังนี้ 

  1. ให้ยุติการดำเนินคดี การจับกุม และปล่อยตัวผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนโดยทั่วไป และคุ้มครองบุคคลจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ จากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้สอดคล้องกับ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)
  2. ให้ประกันการใช้สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการประกันตัว
  3. ให้เคารพและตีความกฎหมายในลักษณะที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
  4. ให้มีการทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการลงโทษทางอาญา และป้องกันไม่ให้บุคคลใดสามารถกล่าวโทษต่อบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจ
  5. ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ

ท่าทีและความเห็นของ UN ต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับมาตรา 112 

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 จนถึง ม.ค. 2567 สหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือทั้งหมดราว 20 ฉบับถึงรัฐไทยเพื่อที่จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 และได้ให้คำแนะนำแก่รัฐไทยอย่างต่อเนื่องว่า ควรที่จะแก้มาตรา 112 ให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี 

ในวันที่ 25 มี.ค. 2567 ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากองค์การสหประชาชาติก็ได้เผยแพร่ความเห็นต่อรัฐไทย เรียกร้องให้มีการกลับคำพิพากษา และยุติการดำเนินคดีต่อ อานนท์ นำภา ทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ถูกดำเนินตามมาตรา 112 รวมถึงการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่มีมาอย่างยาวนานให้รัฐบาลไทย “ยกเลิก” (repeal) มาตรา 112 เพื่อให้ประมวลกฎหมายอาญาของไทยเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน

X