เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 และ 7 มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการดำเนินคดี อานนท์ นำภา ภายใต้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไปยังกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Procedures) ได้แก่
- คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention)
- ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการสมาคม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association)
- ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) และ
- ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders)
โดยคำร้องได้รายงานกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่า ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาได้พิพากษาว่าอานนท์มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และตัดสินลงโทษจำคุก อานนท์ นำภา 4 ปี ในคดีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกอานนท์อีก 4 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในคดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ปัจจุบัน อานนท์ ยังถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อีกกว่า 12 คดี
สำหรับ 2 คดีนี้ อานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์หลังศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 เรื่อยมา แม้จะมีการยื่นประกันมาแล้วอย่างน้อย 7 ครั้ง* ทำให้อานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน (29 มี.ค. 2567) เป็นเวลา 186 วัน
ในคำร้องที่ส่งถึงผู้รายงานพิเศษ ฯ ระบุว่า การบังคับใช้และดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาเป็นระยะเวลายาวนานทั้งในระดับภาคประชาสังคม และตามการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกขององค์การสหประชาชาติ แต่กระนั้นเองภาครัฐของไทยยังคงมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง และกักขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนโดยทั่วไป
การควบคุมตัวภายใต้ ม.112 ขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ในคำร้องเรียนถึงคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่า การลงโทษจำคุกและคุมขังอานนท์ นำภา นั้นเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) อันเนื่องมาจากเหตุผล 4 ประการ
- ขาดฐานทางกฎหมายมารองรับ (lack of legal basis):
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการวางหลักไว้ว่า การควบคุมตัวบุคคลในทุกกรณีต้องมีฐานกฎหมาย (legal basis) มารองรับ เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำการควบคุมตัวบุคคลโดยไร้ซึ่งฐานกฎหมายมารองรับได้ ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่ากฎหมายที่จะมารองรับการควบคุมตัวต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวต้องมีนิยามและขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อที่บุคคลทั่วไปสามารถวางแผนชีวิตภายในขอบเขตของกฎหมายได้
คำร้องเรียนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธินุษยชนและ The Observatory ยืนยันว่า มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดและแย้งกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) เนื่องจากตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาของศาลไม่มีความชัดเจนว่าการแสดงออกใดบ้างเข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 112 ศาลไม่เคยวางหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนสำหรับขอบเขตของความผิดดังกล่าว บุคคลทั่วไปจึงไม่สามารถรู้ได้ถึงเส้นแบ่งระหว่างการแสดงออกเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาต เพราะเหตุนี้ การคุมขังภายใต้ มาตรา 112 จึงขัดกับหลัก principle of legality และถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention)
ข้อโต้แย้งดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานฯ เกี่ยวกับ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่มีมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2566 รวมทั้งสิ้น 10 ความเห็น ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานว่า มาตรา 112 มีความคลุมเครือและกว้างจนเกินไป (vague and overly broad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตัดสินว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดมากจนเกินไป มาตรา 112 จึงขัดกับหลัก principle of legality
- การคุมขัง อานนท์ นำภา เป็นการละเมิดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก (right to freedom of expression):
การลงโทษจำคุกและคุมขัง อานนท์ นำภา จากการปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์ ซึ่งได้ถูกรับรองไว้ใน ข้อ 19(2) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี เสรีภาพในการแสดงออกครอบคลุมไปถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ และการถกเถียงอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชน
ถึงแม้ว่า ข้อ 19(3) ของ ICCPR อนุญาตให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้ในบางกรณี การจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องไม่ขัดกับหลักความจำเป็น (necessity) และความได้สัดส่วน (proportionality) และต้องถูกบัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุข หรือศีลธรรม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ The Observatory มีความเห็นว่า หากพิจารณาความเห็นทั่วไปที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) โทษจำคุกรวม 8 ปี ของ อานนท์ นำภา ขัดกับหลักความจำเป็น (necessity) และความได้สัดส่วน (proportionality) อีกทั้งภาครัฐไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการแสดงออกโดยสันติวิธีของอานนท์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของอานนท์จึงไม่เป็นไปตามหลักภายใต้ ข้อ 19(3) ของ ICCPR
- การละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (right to fair trial):
คณะทำงานฯ ได้อธิบายในประเด็นของการควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีไว้ว่า การคุมคุมตัวระหว่างการรอพิจารณาคดีต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นและความสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ทั้งหมด และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการป้องกันการหลบหนี การแทรกแซงพยานหลักฐาน และการกระทำผิดซ้ำ การควบคุมตัวไม่ควรเป็นไปตามคำสั่งที่อยู่บนฐานของอัตราโทษอันน่าจะเกิดขึ้นกับบุคคลดังกล่าว แต่ควรเป็นไปตามหลักความจำเป็น ศาลต้องพิจารณามาตรการอื่นแทนการควบคุมตัวระหว่างการรอพิจารณาคดี เช่น การให้ประกันตัว หรือมาตรการอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคุมขังตัวบุคคลโดยไม่มีความจำเป็นในกรณีดังกล่าว
การคุมขัง อานนท์ นำภา ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองคดีเป็นระยะเวลากว่า 139 วัน โดยอ้างถึงความหนักเบาแห่งข้อหาและจำนวนอัตราโทษมาเป็นฐานของการไม่อนุญาตให้การประกันตัวในหลายต่อหลายครั้งนั้น เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ถูกรับรองไว้ตามข้อ 9(3) ของ ICCPR ที่ได้วางหลักการมิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี อีกทั้งการกระทำตามข้อเท็จจริงของคดี อันได้แก่ การปราศรัยในการชุมนุมและการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค ยังเป็นการกระทำที่ได้การคุ้มครองตามข้อ 19(2) ของ ICCPR ฉะนั้นแล้วการที่ศาลออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างถึงการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิของบุคคลในระหว่างรอการพิจารณาคดี
การตัดสินโทษจำคุกในความผิดในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ต่อ อานนท์ นำภา ในทั้งสองคดีนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 9(1) ของ ICCPR กล่าวคือ ข้อ 9(1) ของ ICCPR ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุสำคัญสำหรับการจับกุมหรือคุมขังจะต้องถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย และควรกำหนดไว้โดยละเอียด เพื่อป้องกันการตีความหรือการปรับใช้กฎหมายที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ
ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา โดยให้เหตุผลว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งเป็นเหตุที่จะไม่ให้ประกันภายใต้ มาตรา 108/1(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คำร้องเรียนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ The Observatory ชี้แจงว่า ศาลไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงอันจะทำให้เชื่อได้ว่าอานนท์จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี กล่าวคือ อานนท์ยังมีภาระงานในฐานะทนายความที่ต้องรับผิดชอบอีกกว่า 13 คดี รวมถึงยังมีพันธะทางครอบครัวที่ต้องดูแลบุตรทั้ง 2 คน ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แสดงได้อย่างชัดเจนว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หรือเจตนาที่จะหลบหนีดังเช่นว่า จึงถือได้ว่าเป็นการตีความและบังคับใช้ มาตรา 108/1(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กว้างเกินไปหรือโดยพลการ
นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการดำเนินการในการเริ่มพิจารณาคดีในคดีแรกและคดีที่สองนั้นยังกินระยะเวลาไปกว่า 916 วัน และ 667 วันตามลำดับ หลังจากที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาภายใต้ มาตรา 112 ต่อ อานนท์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็นอันขัดกับพันธกรณีตามตามข้อ 14(3)(c) ของ ICCPR
- เป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความคิดเห็นทางการเมืองและในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (discrimination on the basis of political opinion and status as a human rights defender):
คณะทำงานฯ วางหลักไว้ว่า การคุมขังบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองเป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบรูปแบบหนึ่ง ให้ถือว่าการคุมขังดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ (arbitrary detention) เนื่องจากขัดกับหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย และความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายตามข้อ 2 และข้อ 7 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 2(1) และข้อ 26 ของ ICCPR ที่กำหนดให้รัฐประกันไว้ซึ่งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคล และบุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ
การลิดรอนเสรีภาพของ อานนท์ นำภา เป็นการคุมขังที่มีเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองของอานนท์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และการบังคับใช้ มาตรา 112 และมีเหตุมาจากการที่อานนท์เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันจะเห็นได้จากที่อานนท์ได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงยังได้ออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในประเด็นของการบังคับใช้มาตรา 112 และนโยบายของรัฐบาลอันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้อานนท์ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางฝั่งผู้มีอำนาจมองว่าอาจเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล
ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยจากกรณีคำพิพากษาคดี ม. 112 ของ อานนท์ นำภา
ในคำร้องฉบับนี้ได้ขอให้กลไกพิเศษของ UN เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย รวมถึงองค์กรตุลาการ ดังต่อไปนี้
- ให้ยุติการดำเนินคดี การจับกุม และปล่อยตัวผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนโดยทั่วไป และคุ้มครองบุคคลจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบ จากการที่บุคคลดังกล่าวใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพให้สอดคล้องกับ ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
- ให้ประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการได้รับการประกันตัว
- ให้ตีความกฎหมายภายใน ในลักษณะที่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมไปถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
- ให้มีการทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการลงโทษทางอาญา และป้องกันไม่ให้บุคคลใดสามารถกล่าวโทษต่อบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจ
- ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ
จนถึง ณ ขณะนี้ อานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกกว่า 26 คดี ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 กว่า 14 คดี จากการที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชน
*การยื่นประกันใน 2 คดีนี้เป็นการนับจำนวนครั้งในการยื่นประกันตัวหลังมีคำพิพากษา โดยยังไม่ได้รวมถึงจำนวนครั้งของการยื่นการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ UN เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่ออานนท์ นำภา และผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112
เมื่อประชาชนใช้กฎหมายเป็นอาวุธทำร้ายกันเอง: เปิดสถิติคดี ม.112 ที่ผู้กล่าวโทษคือ “ประชาชน”