“ใครก็ตามในโลกนี้ที่ไม่สามารถติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ คำยกย่องหรือสรรเสริญก็จะกลายเป็นแค่เรื่องโกหก” เปิดคำเบิกความมาตรา 112 คดีที่ 3 ของ ‘อานนท์ นำภา’ จากการปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 

อานนท์ นำภา ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลเพื่อเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อปี 2564 ซึ่งการสืบพยานในคดีนี้เสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษา 29 เม.ย. 2567 นับเป็นคดี 112 คดีที่ 3 ของอานนท์ที่ศาลจะมีคำพิพากษา 

.

19 ก.พ. และ 4 มี.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดสืบพยานจำเลยในคดีมาตรา 112 ของ อานนท์ นำภา จากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่หอศิลป กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ซึ่งอัยการฟ้องอานนท์ใน 4 ข้อหา ประกอบไปด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

สำหรับคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับอานนท์หลังจากปราศรัยผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ โดยมี นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน หลังจากอานนท์เข้ามอบตัวในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเลยตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา แม้จะมีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งทนายความยื่นประกันเป็นครั้งที่ 11 ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ศาลจึงอนุญาตให้ประกัน โดยให้ติด EM พร้อมเงื่อนไขประกันหลายข้อ รวมเวลาถูกขังครั้งนั้นยาวนานถึง 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน

ย้อนอ่านคดีนี้ >> เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “อานนท์” ปราศรัย 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

.

ในวันที่ 19 ก.พ. 2567 อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ด้วยชุดนักโทษสีน้ำตาล สวมกุญแจข้อเท้า บรรยากาศในห้องวันนั้นมีประชาชนเข้ามานั่งรอฟังการเบิกความและรอให้กำลังใจอานนท์จนเต็มที่นั่ง

หลังจากอานนท์มาถึงห้องพิจารณาคดีได้พักหนึ่ง ศาลก็เริ่มการสืบพยานในเวลา 09.47 น. อานนท์ซึ่งเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยปากแรก ใช้เวลาเบิกความนานกว่า 3 ชั่วโมง ตลอดเวลาพิจารณาคดีในช่วงเช้า มีเนื้อหาดังนี้

พยานจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ประกอบอาชีพทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด เคยทำคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเรื่องการชุมนุมของชาวบ้านที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือ นปช. และคดีมาตรา 112 อีกหลายคดี ได้รับรางวัลกวางจูของประเทศเกาหลีใต้ และเคยได้รับรางวัลเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต ติดอันดับ 100 คนแรก ปรากฏตามข่าวที่อ้างส่งต่อศาล

เกี่ยวกับคดีนี้ หลังจากที่พยานได้รับการปล่อยตัวจากทุกศาล ได้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์การจัดการวัคซีนโควิด รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงนั้น กลุ่ม DRG ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งองค์กรภาคีอื่น ๆ ก็ได้เชิญพยานไปพูดบนเวที

เมื่อมีการจัดกิจกรรม โปสเตอร์ที่ประกาศเชิญชวนจะปรากฏโลโก้ของกลุ่มที่จัด ซึ่งตามพยานเอกสารของโจทก์ ไม่ปรากฏว่า พยานมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่จัดกิจกรรมในคดีนี้ ดังนั้น กลุ่มผู้จัดจะขออนุญาตจัดชุมนุมหรือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งหากพยานเป็นผู้จัดการชุมนุม พยานก็จะโพสต์ว่าพยานเป็นผู้จัด และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งกลุ่มแพทย์อาสามาช่วยดูแลการชุมนุม มาตรวจวัดอุณหภูมิ และบริการเจลแอลกอฮอล์ 

หลังจากที่กลุ่ม DRG โพสต์เชิญชวนชุมนุมในวันที่ 2 ส.ค. 2564 เวลา 14.22 น. พยานก็โหลดเอาโปสเตอร์มาโพสต์ในเฟซบุ๊กของตนเองในเวลา 14.28 น. ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นการประชาสัมพันธ์จากโพสต์ของกลุ่ม DRG ไม่ใช่ของพยาน

ในวันเกิดเหตุพยานเดินทางไปถึงเวทีปราศรัยประมาณ 17.30 น. พยานใส่แมสก์และรักษาระยะห่างกับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ก็สวมใส่แมสก์ และเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโควิด หลังจากที่พยานปราศรัยเสร็จก็กลับบ้านทันที ซึ่งตามภาพถ่ายในสำนวนของโจทก์ทั้งหมดก็ไม่ปรากฏว่าพยานไปคลุกคลีกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรืออยู่ใกล้ผู้ใด

ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย นั้น ข้อกำหนดใช้คำว่า “สถานที่แออัด” อีกทั้งศาลอาญาและศาลจังหวัดอุดรธานีก็เคยมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยว่า “สถานที่” หมายถึง สถานที่แออัด ไม่ใช่จำนวนผู้คนที่แออัด ซึ่งพยานเห็นว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง ไม่ใช่สถานที่แออัด

นอกจากนี้ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ (ฉบับที่ 9) เป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขยายอำนาจและองค์ประกอบความผิดไปจากข้อกำหนด กล่าวคือ ขยายฐานความผิดจากเดิมที่ว่า “สถานที่แออัด” เป็น “ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค” ด้วย ซึ่งศาลเคยมีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้แล้ว

.

ตามคำฟ้องที่โจทก์บรรยายว่า สถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจคนไทยทั้งชาติ และ คนไทยทุกคนล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ พยานเห็นว่า เป็นการบรรยายฟ้องที่ประจบประแจงเกินจริง ความจริงคนไทยจำนวนมากก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จะเห็นได้ตามโซเชียลว่า มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยหน่วยงานรัฐ แต่ปิดคอมเมนต์หรือไม่ให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็น จำนวนคนที่แสดงออกในวันสำคัญต่าง ๆ ก็ลดลง คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ทั้งทางโซเชียลมีเดียและในที่ชุมนุม ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คนที่เลือกพรรคที่มีการตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์มาเป็นอันดับ 1 ส่วนพรรคที่แสดงความจงรักภักดีแบบไม่ลืมหูลืมตาก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

พยานคิดว่า มีคนจำนวนมากที่ตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยความเคารพ ซึ่งก็จะถูกคนที่รักสถาบันกษัตริย์แบบไม่ลืมหูลืมตากล่าวหาว่าเป็นพวกล้มเจ้า จนหลายคนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และต้องลี้ภัยทางการเมือง

พยานเชื่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้สิ่งที่เราวิจารณ์นั้นปรับตัวให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันถ้าหากเราชื่นชมอย่างเดียว ก็จะทำให้สิ่งที่เราชื่นชมไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง และจะนำไปสู่ความเสื่อมในที่สุด

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้เกี่ยวกับตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 6 บังคับต่อองค์พระมหากษัตริย์ ส่วนที่บังคับประชาชนทั่วไปจะอยู่ในหมวดหน้าที่พลเมืองชาวไทย ซึ่งในมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะ หมายความว่า ตราบใดที่กษัตริย์ดำรงตนเป็นที่เคารพสักการะ ประชาชนจะละเมิดมิได้ หมายถึง ฟ้องร้องไม่ได้ กล่าวหาไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้ากษัตริย์ไม่ทรงดำรงตนตามมาตรา 6 ประชาชนก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ 

การที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์หรือติชม คือการที่สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง การตรากฎหมายก็ต้องมีผู้รับสนองเสมอ ไม่ใช้อำนาจทางตรง หรือหลักการที่เรียกว่า ปกเกล้าไม่ปกครอง เมื่อสถาบันกษัตริย์ดำรงตนอยู่ในที่เคารพสักการะแล้ว ประชาชนก็ไม่มีสิทธิกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์หรือฟ้องร้อง ความหมายของมาตรา 6 เป็นเช่นนั้น ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหลายประเทศก็บัญญัติไว้เช่นนี้ เช่น ประเทศนอร์เวย์

.

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “เราเปลี่ยนวิธีคิดของกษัตริย์จากเดิมเป็นเจ้าชีวิต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ เราก็เปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนเท่ากัน มึงกูเท่ากัน … นั้น พยานพูดถึงการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม หลังจากการปฏิวัติ 2475 ประเทศไทยซึ่งเดิมทีปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความคิดเดิมที่กษัตริย์เป็นเจ้าชีวิตก็เปลี่ยนไปตามระบอบที่เปลี่ยนไป 

ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เริ่มมีความคิดเรื่องคนเท่ากันมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ แต่หมายถึงความเป็นมนุษย์ในทุกรูปแบบ เช่น เพศสภาพ สิทธิการกำหนดชีวิตของตนเอง อย่างในปี 2563 จะเห็นได้ว่าทุกการชุมนุมจะมีการปราศรัยที่หลากหลาย เช่น การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพทางวิชาการ และอื่น ๆ ซึ่งก็ถูกจัดการโดยรัฐไทยอย่างรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น การเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ในประเทศไทยก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112

เจตนาในการพูดของพยานนั้นมุ่งหมายถึง สถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยโดยรวม ซึ่งคำปราศรัยของพยานเกี่ยวกับเรื่องรัฐไทย โจทก์ก็ไม่ได้นำมาบรรยายในฟ้อง และตามคำฟ้องในข้อนี้ ไม่มีข้อความใดในคำปราศรัยที่ระบุว่า กษัตริย์อยู่เบื้องหลังการสั่งการหรือสนับสนุนให้รัฐหรือประชาชนมาตอบโต้กับอีกฝ่าย ที่พยานพูดถึงสถาบันกษัตริย์ หมายถึงองค์รวมของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีหลายบุคคลรวมอยู่ในนั้น หากพยานจะวิจารณ์องค์พระมหากษัตริย์โดยตรง พยานจะใช้คำว่า รัชกาลที่ 10 หรือระบุชื่อว่า วชิราลงกรณ์

.

คำปราศรัยตามฟ้องที่พยานใช้คำว่า “ท่านหน้าแตกไปครั้งหนึ่งแล้ว คือคนมาแค่หยิบมือ ไม่เป็นไร ท่านก็ยังไปต่อ… สุดท้ายหน้าแตกเป็นครั้งที่สอง น้องมัธยมชูสามนิ้วกันหมด” พยานหมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10 พยานไม่ได้กล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 ไประดมคนมา แต่เมื่อมีภาพว่าคนมาไม่มากพอ คนที่รู้สึกใจแป้ว หน้าแตก ก็คือ รัชกาลที่ 10 

ซึ่งส่วนตัวแล้วพยานไม่คิดว่า รัชกาลที่ 10 จะสั่งให้ระดมคนมาเข้าเฝ้า แต่ในการปราศรัยพยานใช้คำพูดว่าสถาบันกษัตริย์หรือรัฐไทย อย่างเช่น ในจังหวัดหนึ่ง ผู้ว่าฯ คนเก่าย้ายไป และคนใหม่ย้ายมา ถ้ามีคนมาต้อนรับน้อย คนที่ใจแป้วก็คือผู้ว่าฯ คนใหม่ พยานไม่ได้กล่าวหาว่าผู้ว่าฯ คนใหม่สั่งการให้ไประดมพลมา ผู้ที่กระตือรือร้นไประดมพลก็คือข้าราชการในจังหวัด

ในกรณีนี้มีหลักฐานเอกสารราชการหลุดออกมาว่า หน่วยงานรัฐมีการเกณฑ์คนไปเข้าเฝ้ารับเสด็จ มีภาพข่าวว่าขนคนใส่รถบรรทุกขยะไปรับเสด็จอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการพยายามยัดเยียดความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้นักเรียนมัธยม โดยให้ทหารไปอบรม แต่ก็ถูกต่อต้านโดยการชูสามนิ้วใส่ 

คำฟ้องของอัยการที่ว่า “มิได้ทรงตนอยู่เหนือการต่อสู้ขับเคลื่อนทางการเมือง ทรงอยู่เบื้องหลังสั่งการ หรือสนับสนุนให้ภาครัฐ และประชาชนอีกกลุ่มซึ่งไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองตรงกันกับกลุ่มของจำเลย เข้าตอบโต้ต่อสู้กับกลุ่มของจำเลยอย่างรุนแรง” พยานไม่ได้มุ่งหมายที่จะปราศรัยให้คนเข้าใจเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่าอัยการบรรยายถูกข้อหนึ่ง กล่าวคือ พยานเห็นว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม 

พยานมีหลักฐานคือ กลุ่ม ศปปส. ที่ไปแจ้งความและเป็นพยานในชั้นศาลหลายคดี รวมถึงไปขัดขวางการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ เขาอ้างว่ามีการเซ็นให้กำลังใจบนธงของกลุ่ม ศปปส. ซึ่งกลุ่ม ศปปส. นำมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ

นอกจากนั้น กลุ่ม ศชอ. ที่ไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ก็จะถือป้ายสีเหลือง บนป้ายมีข้อความเขียนว่า “ขอบคุณที่เป็นกำลังที่เข้มแข็ง ขอให้ทุกท่านประสบความสุขความเจริญ” และลงชื่อว่า สุทิดา เมื่อค้นคว้าหาข้อมูลก็พบข่าว พระราชินีเขียนให้กำลังใจคนกลุ่มนี้ โดยในข่าวปรากฏภาพนพดล ผู้กล่าวหาในคดีนี้ และแน่งน้อย พยานในคดีนี้อยู่ด้วย อีกทั้ง สมาชิก ศปปส.ก็มาเป็นพยานในคดีนี้ด้วย

อาจมีคนโต้แย้งว่า ท่านอาจจะไม่ทราบข่าวสารบ้านเมืองว่าเกิดอะไรขึ้น และใครเป็นใคร แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อการเสด็จในวันที่ 23 ต.ค. 2563 มีชายคนหนึ่งไปรับเสด็จ พระราชินีก็เดินไปหาและพูดว่า “คนนี้ไปยืนชูป้ายกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้” จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็พูดว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านรู้ข่าวสารบ้านเมือง

.

คำปราศรัยตามคำฟ้อง “เราเรียกร้องให้ในหลวงเสด็จกลับมาอยู่ในไทย ไม่ต้องไปอยู่ที่เยอรมัน …” นั้น เป็นคำปราศรัยตามความจริง กล่าวคือ หลังจากที่ขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 10 ก็ไปอยู่เยอรมันจริง สภาเยอรมันก็มีการอภิปรายตั้งคำถามว่า มีการใช้อำนาจนอกราชอาณาจักรหรือไม่ หรือมีการออกคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเยอรมันหรือไม่ 

การที่พยานพูดเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การพูดเรื่องการโอนทรัพย์สิน มีเหตุมาจาก ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ 10 ทรงอยู่ที่เยอรมัน ระหว่างนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงป่วยหนักอยู่ ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 มีการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้น นายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ แต่รัชกาลที่ 9 ยังไม่ทันได้ลงพระปรมาภิไธยก็สวรรคตไปเสียก่อน 

กระทั่งต้นปี 2560 รัชกาลที่ 10 ก็ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ให้นายกฯ นำกลับไปแก้ไขใน 2-3 ประเด็น เช่น แก้จากเดิมที่เป็นจารีตสืบต่อกันมาว่า ถ้ากษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศ ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เป็นว่า เมื่อกษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ก็ได้ และมีการแก้เกี่ยวกับส่วนราชการในพระองค์ ปรากฏตามเอกสารที่อ้างส่งต่อศาล

ผลจากการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็คือ ช่วงปี 2560 – 2563 องค์พระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในประเทศเป็นหลัก แต่ไปอยู่ที่แคว้นบาวาเรียของเยอรมัน และมีการออกกฎหมายที่เป็นการขยายพระราชอำนาจคือ 1. พ.ร.บ.ส่วนราชการในพระองค์ 2. พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2560 3. พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ พ.ศ. 2561 และ 4. พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

เหตุผลที่พยานต้องพูดเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลังผ่านประชามติแล้ว เพราะเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การสั่งให้แก้ไขของรัชกาลที่ 10 ส่งผลตามมาอีกหลายประการ อย่างเช่น เมื่อกษัตริย์อยู่ต่างประเทศ การลงพระปรมาภิไธยหลาย ๆ เรื่องก็จะล่าช้า มีอยู่ปีหนึ่งงบประมาณไม่สามารถอนุมัติได้ทัน ผู้พิพากษาต้องเลื่อนเวลาเข้าเฝ้าก่อนเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่เยอรมันด้วย

.

คำปราศรัยของพยานที่ว่า “เราพูดถึงการที่กษัตริย์โอนเอาทรัพย์สินของหลวงไปเป็นของตัวเอง ทำให้พวกเราโดนคดีหลายคน สถาบันก็ยังอยู่เหมือนเดิม คือยังไม่ยอมปรับตัว…” พยานเห็นว่าเป็นความจริง เพราะมีการตรากฎหมายซึ่งก็คือ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  2 ฉบับ ทำให้ทรัพย์สินซึ่งเดิมเป็นของราชบัลลังก์หรือของสถาบันกษัตริย์ถูกโอนไปเป็นของกษัตริย์ในนามส่วนตัวทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานซึ่งสำนักงานฝ่ายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่า ทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์เดิมได้เปลี่ยนสภาพไปตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว 

บางคนอาจออกมาโต้แย้งว่า ออกกฎหมายเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์ แต่พยานเห็นว่า ไม่ใช่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ทั้ง  2 ฉบับ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการรัฐประหาร  3 วาระรวด ไม่ได้ผ่านจากสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าหากกษัตริย์ไม่เห็นด้วยท่านก็ยับยั้งโดยการไม่ลงชื่อได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยับยั้ง

อีกทั้งหลังกฎหมายผ่าน ก็มีการโอนทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่เป็นของหลวงไปเป็นของส่วนตัวหลายอย่าง เช่น หุ้น SCB, หุ้นปูนซีเมนต์ไทย รวมทั้งมีการเปลี่ยนสภาพ เช่น ย้ายสวนสัตว์ดุสิต, ล้อมรั้วลานพระบรมรูปทรงม้า, เปลี่ยนแปลงสนามม้านางเลิ้ง รวมทั้งการทำลายมรดกของคณะราษฎร เช่น การที่หมุดคณะราษฎรถูกขุดและเปลี่ยนเป็นหมุดหน้าใส, การเปลี่ยนชื่อค่ายพระยาพหล และค่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ลพบุรี เป็นค่ายภูมิพลและค่ายสิริกิติ์, การทำลายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่แยกบางเขน เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้ลืมคณะราษฎร

แม้หลายคนมีความเห็นว่า รัฐสภาเดิม, สนามม้านางเลิ้ง ฯลฯ ทรงนำไปสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ร่วมกัน พยานขออธิบายว่า ความเป็นเจ้าของมันเปลี่ยนมือไปแล้วตามกฎหมาย นั่นคือจะหวงห้ามเมื่อไหร่ก็ได้และจะตกทอดเป็นมรดกไป ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณะหดหายไปในอนาคต

ความน่ากังวลคือ เมื่อทรัพย์สินที่เป็นของราชบัลลังก์ทั้งหมดเป็นของส่วนตัวไปแล้ว เราก็จะไม่มีทรัพย์สินของราชบัลลังก์หลงเหลืออยู่ และทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรม ซึ่งรัชกาลที่ 10 ก็มีทายาทหลายคน หรือจะทำพินัยกรรมมอบให้ใครอื่นอีกก็ได้ 

ที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยใช้คำว่า ยักยอก นั้น เป็นการตีความตามความเชื่อของโจทก์เอง ในคำปราศรัยพยานไม่ได้กล่าวเช่นนั้น ถ้าหากโจทก์นำ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มาพิจารณาประกอบดุลพินิจในการสั่งฟ้อง คำสั่งก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่ามันเป็นความจริง และเป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วน ไม่มีใครกล้าออกมาทักท้วง 

พยานจึงต้องออกมาทักท้วงเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้สถาบันกษัตริย์กลับไปอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเหมือนเดิม เจตนาของพยานคือต้องการให้ทรัพย์สินกลับไปเป็นของสาธารณะหรือเป็นของราชบัลลังก์เหมือนเดิม เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็จะมีราชสมบัติ นั่นหมายความว่าสังคมไทยก็จะมีสถาบันกษัตริย์ต่อไป การพูดความจริงเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

ตามคำฟ้องของอัยการที่บรรยายว่า คำปราศรัยของพยานทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติและภาพลักษณ์ พยานเห็นว่า หากจะมีการเสื่อมเสียพระเกียรติก็ไม่ได้เป็นเพราะพยานหรือคนอื่นออกมาพูดความจริง

.

คำปราศรัยที่ระบุว่า คุณจุลเจิมจะกล้าพิพากษาไหมว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่เคยโอนเอาทรัพย์สินของสาธารณะไปเป็นของตนเอง หุ้นไทยพาณิชย์ เป็นต้น…” พยานเห็นว่า แม้แต่ราชนิกุลที่สนิทก็ยังไม่กล้าออกมาพูดความจริงเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่าคนที่รักสถาบันกษัตริย์ทำให้ทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ลดน้อยถอยลง เพราะไม่ออกมาตักเตือนหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่คนที่ออกมาตักเตือนกลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ส่วนคนไม่กล้าออกมาวิจารณ์ก็กลับเป็นผู้สนับสนุนให้ใช้มาตรา 112 และทำให้กระบวนการยุติธรรมปิดปากคนที่ออกมาพูดความจริง

.

คำปราศรัยตามคำฟ้องที่ว่า ประยุทธ์เชื่อว่าห้อยพระดีมีชื่อว่าสถาบันกษัตริย์… นั้นเป็นความจริง เพราะหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ สาบานตนเป็นนายกฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ตัดคำว่า “จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ” จนมีคนวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง แทนที่จะไปสาบานตนให้ครบแต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับนำข้อความของรัชกาลที่ 10 มาอ้างว่า ทรงให้กำลังใจในการทำงาน แล้วก็ถือว่าจบไป

ความแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประยุทธ์ก็เป็นความจริง ประยุทธ์เติบโตมาจากทหารเสือราชินี รับใช้พระราชินีในรัชกาลที่ 9 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 10 

.

คำปราศรัยตามฟ้องที่ว่า “ถ้าบริษัทสยามไบโอไซน์ไม่ใช่คนที่ถือหุ้นใหญ่ ชื่อ วชิราลงกรณ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาเงินภาษีเราไปอุดหนุนไหม..” นั้นเป็นเรื่องวัคซีนซึ่งเป็นหัวใจหลักในการปราศรัยในวันดังกล่าว

ตอนแรกที่กลุ่ม DRG มาขอให้พยานปราศรัย พยานปฏิเสธเพราะเกรงจะถูกถอนประกัน ไม่อยากติดคุกอีก แต่พยานตัดสินใจปราศรัยเพราะเห็นว่า ช่วงนั้นโควิดระบาด มีคนตายรายวัน คนขาดแคลนอาหารไปรอรับข้าวกล่องที่ราชดำเนิน คนไข้ไม่มีเตียง คนล้นโรงพยาบาล เป็นผลมาจากรัฐบาลจัดการวัคซีนผิดพลาด เนื่องจากต้องการเอื้อประโยชน์ให้รัชกาลที่ 10 ในทางธุรกิจ โดยการนำเงิน 600 ล้านบาท ไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซน์ ซึ่งเป็นของรัชกาลที่ 10 โดยไม่ผ่านการประมูลใด ๆ อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้เกิดภาพวัคซีนพระราชทานมาคลี่คลายสถานการณ์ 

แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคระบาดนั้นไม่สามารถรอกันได้ เราไม่มีการจองวัคซีนดี ๆ เหมือนต่างประเทศ เพราะมารอวัคซีนจากสยามไบโอไซน์ ระหว่างที่รอก็นำวัคซีนซิโนแวคที่จีนบริจาคให้มาใช้ ซึ่งไม่ได้ผลในการต่อต้านโรคโควิด และก็อดทนดูคนตายรายวัน

พยานเห็นว่า จำเป็นต้องออกมาพูดความจริงอย่างตรง ๆ รัฐบาลอยากให้ซีนกับสถาบันกษัตริย์ว่าทรงมีเมตตา ขณะเดียวกันก็ให้ผลประโยชน์ 600 ล้านด้วย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าบริษัทนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตวัคซีนเลย

ก่อนหน้านั้นมี “กลุ่มหมอไม่ทน” ออกมาเรียกร้องให้มีการนำเข้าวัคซีนเชื้อเป็น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้นำเข้าอย่างจริงจัง และมีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่หลายครั้งเรียกร้องเรื่องวัคซีน แต่ก็เป็นคดีความไป จนเมื่อกลุ่ม DRG มาขอให้พยานพูด เพราะเห็นว่าพยานเป็นคนพูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา แต่หลังจากที่พูดพยานก็ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ถอนประกันเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 หลังจากนั้นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบก็ไปเรียกร้องเรื่องวัคซีนจนเกิดเป็น ‘ทะลุแก๊ซ’ และช่วงนั้นแกนนำก็ถูกถอนประกันเช่นกันต่อให้ไม่ออกมาพูด

หลังจากที่พยานปราศรัยและมีคนรุ่นใหม่ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันกดดัน ทำให้มีการนำเข้าวัคซีนเชื้อเป็น (Moderna, Pfizer) เข้ามาฉีดให้กับประชาชน พยานเห็นว่าเป็นการติดคุกที่คุ้มค่า 

แต่ความพยายามในการสร้างซีนให้กับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้หยุดแค่นั้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ไปนำเข้าวัคซีน Sinopharm ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ แต่รัฐบาลสั่งแก้กฎหมายในตอนเช้าและสั่งซื้อวัคซีนในตอนบ่าย มีการแจกจ่ายไปให้เอกชนโดยหักเอาไว้ 10% นำไปให้ประชาชนและบอกว่าเป็นวัคซีนพระราชทาน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดมันรอวัคซีนไม่ได้แล้วเพราะประชาชนรู้ทัน ดังนั้น เมื่อสยามไบโอไซน์ผลิตวัคซีน Astrazeneca ออกมา ก็มีแนวคิดเอาไปไขว้กับวัคซีนอื่นเพื่อให้ขายออก 

พยานออกมาพูดเรื่องวัคซีนเพื่อให้เกิดการนำเข้า และให้เห็นความจริงว่า เหตุที่ล่าช้าเพราะอะไร อาจจะกระทบกับสถาบันกษัตริย์บ้าง แต่ก็เป็นความจริง

พยานไม่คิดว่า รัชกาลที่ 10 ต้องการเงิน 600 ล้านบาท หรือสั่งให้ประยุทธ์เอาเงินมาให้ แต่มันเกิดจากภาครัฐต้องการสร้างซีนให้สถาบันกษัตริย์ สร้างซีนให้รัชกาลที่ 10 มีความเมตตาเหมือนรัชกาลที่ 9 แต่ในสภาวะฉุกเฉินที่มีการระบาดอย่างหนักของโควิด เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการล้อเล่นกับความเป็นความตายของคน

.

ข้อความที่นำมาฟ้องในคดีนี้ทั้งหมด ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความยืนยันว่า เป็นข้อความเท็จ ในขณะเดียวกันก็มีพยานโจทก์หลายปากที่กระอักกระอ่วนที่จะพูดถึงเป็นความจริง เช่น ปฏิเสธการเบิกความบ้าง ไม่ตอบบ้าง หนีกลับบ้านบ้าง เจตนาของพยานในการออกมาพูดมี 2 ส่วน ส่วนแรกเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ว่า 1 ปีที่ผ่านไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และส่วนที่ 2 เรียกร้องให้มีการนำเข้าวัคซีน โดยชี้ปัญหาว่าทำไมถึงล่าช้า 

ปัญหาของมาตรา 112 ก็อย่างที่พยานปราศรัย การพูดความจริงก็ถูกตีความให้เป็นความผิด คนที่ต้องการให้ราชสมบัติคงอยู่ก็ถูกฟ้องว่าเป็นคนทำลายสถาบันฯ ซึ่งเป็นเรื่องประหลาด พยานหวังว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เราจะย้อนกลับมามองตัวเองว่าเราได้สร้างบาดแผลให้กับคนรุ่นใหม่ไว้อย่างไร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ก็จะเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ในสภาโดยการออกกฎหมาย เช่น กฎหมายนิรโทษกรรม แก้ไขกฎหมายให้ทรัพย์สินกลับมาเป็นของราชบัลลังก์เหมือนเดิม

“ใครก็ตามในโลกนี้ที่ไม่สามารถติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ คำยกย่องหรือสรรเสริญก็จะกลายเป็นแค่เรื่องโกหก” อานนท์กล่าวปิดท้ายการเบิกความ 

ในช่วงอัยการถามค้าน อานนท์เบิกความตอบว่า การจัดชุมนุมหากไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องไปแจ้งการชุมนุมที่สถานีตำรวจท้องที่ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่มีผลบังคับใช้ และแม้ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ระบุให้ผู้จัดชุมนุมขออนุญาตผู้ว่าฯ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการไปขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งในคดีนี้พยานไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุมจึงไม่ทราบว่าจะมีการขออนุญาตผู้ว่าฯ แล้วหรือไม่ และไม่ได้สอบถามกลุ่ม DRG ว่า ได้ขออนุญาตชุมนุมแล้วหรือไม่

พยานรู้จักกลุ่ม DRG ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย มาหลายปีแล้วแต่ไม่ได้สนิท เมื่อกลุ่ม DRG จัดการชุมนุมครั้งนี้ได้โทรมาชักชวนพยานให้ขึ้นปราศรัย แต่พยานปฏิเสธ เพราะมีลูก เกรงว่าจะถูกถอนประกันและเข้าเรือนจำอีก แต่ทางกลุ่มได้มาพูดคุยถึงสถานการณ์ว่ามีคนตาย เด็กนักเรียนจะเปิดเทอม อยากไปโรงเรียน แต่ไม่มีวัคซีน และคำพูดที่ทำให้พยานตัดสินใจไปปราศรัยคือ “ไม่มีใครกล้าพูดแล้ว”

เพจเฟซบุ๊กของพยานมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากและเปิดเป็นสาธารณะ อย่างไรก็ตาม การที่พยานไปพูดกับคนรุ่นใหม่ เขาก็ไม่ได้เชื่อที่พยานพูดทันที ต้องค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบก่อน อย่างน้อยก็ค้นหาใน Google ซึ่งสิ่งที่พยานพูดเป็นความจริง สามารถตรวจสอบได้

พยานเห็นว่า การมีความเห็นที่หลากหลายในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่งดงามอย่างมาก และต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีอารยะ

ในช่วงทนายจำเลยถามติง อานนท์กล่าวว่า ในการปราศรัยพยานจะพูดถึงหรือไม่พูดถึงข้อกฎหมายก็ไม่ส่งผลต่อความจริงที่พยานพูด

.

นอกจากอานนท์แล้ว พยานฝ่ายจำเลยยังมีอีก 4 ปาก ได้แก่ ธนาพล อิ๋วสกุล ได้เบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 และกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล และพวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้เบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อคำปราศรัยของอานนท์ในคดีนี้

และสุดท้าย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้มาเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด การจัดการวัคซีนโควิด และคำปราศรัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่ถูกฟ้องว่าผิดมาตรา 112

.

หลังพยานจำเลยดังกล่าวเข้าเบิกความเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. โดยระหว่างนี้อานนท์ยังคงถูกคุมขังด้วยโทษจำคุก 8 ปี หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 เหตุจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 และต่อมาในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาจำคุกอีก 4 ปี จากการโพสต์ 3 ข้อความ และให้นับโทษต่อจากคดีแรก ซึ่งอานนท์ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ทั้งสองคดี

จนถึงปัจจุบัน (10 มี.ค. 2567) อานนท์ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 167 วัน

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง  เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “อานนท์” ปราศรัย 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์

ฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 ‘อานนท์ นำภา’ ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

X