แจ้ง ‘112’ หนุ่มโคราช พูดไลฟ์สด ปฏิรูปสถาบัน-ยกเลิก 112 ในกิจกรรมยืนหยุดขัง ปี 64

วันที่ 13 ธ.ค. 2565 “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ วัย 23 ปี เดินทางไป สภ.เมืองนครราชสีมา ตามหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจาก พ.ต.ท.อุกฤษฏ์ แพงไธสง สว.สส.สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งเตอร์เองยังไม่ทราบสาเหตุที่เขาถูกออกหมายเรียกครั้งนี้มาจากเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ใด

เวลา 10.00 น. ท่ามกลางตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 50 นาย เฝ้าระวังอยู่บริเวณสถานีตำรวจ พร้อมแจ้งกำชับกับทนายความว่า จะมีเพียงเตอร์ ทนาย และบุคคลผู้ไว้วางใจ เข้ารับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาได้เท่านั้น เมื่อไปถึงห้องประชุมของ สภ.เมืองนครราชสีมา ที่ใช้เป็นห้องสอบสวนชั่วคราว พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ่มทองหลาง พนักงานสอบสวนได้อ่านบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาใจความว่า 

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 เวลา 17.30 น. เตอร์กับคนอื่น ๆ ราว 15 คน ทำกิจกรรมยืนหยุดขัง 112 นาที บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา, ป้ายกระดาษเขียนข้อความ ยกเลิก 112 พร้อมชูภาพแกนนำที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น

พ.ต.ท.โกสินทร์ ระบุด้วยว่า มีการเปิดเพลงปลุกระดม และไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก Korat Movement มีการกล่าวถึงจุดประสงค์ในการทำกิจกรรม คือ โจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มราษฎรที่ถูกคุมขังจากการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง

พนักงานสอบสวนอ้างว่า ระหว่างไลฟ์สด เตอร์ได้พูดใส่ความ ร.10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ไทย โดยประการจะทำให้ ร.10 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม และเป็นการลดคุณค่าทางสังคม โดยยกถ้อยคำมาเป็น 4 ตอน มีเนื้อหาในทำนองว่า ให้ยกเลิก 112 และปฏิรูปสถาบัน เนื่องจากกษัตริย์ไทยใช้ภาษีประชาชนไปในการดูแลตนเองและครอบครัว ไม่ดูแลประชาชน ทั้งที่มีสถานการณ์โควิด วัคซีนที่กล่าวกันว่าเป็นวัคซีนที่พระราชทานก็ไม่ได้มาตรฐาน 

พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ้งว่า การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

เตอร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกล่าวสั้น ๆ ว่า เขาไปอยู่ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในวันดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้พูดข้อความที่้เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่อย่างใด 

จากนั้น พ.ต.ท.โกสินทร์ สอบปากคำเตอร์ ถึงประวัติส่วนตัวสั้น ๆ ก่อนถามว่า มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม Korat Movement อย่างไร โดยที่เตอร์ตอบว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movement เพราะตนหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองมาได้ 1 ปีกว่าแล้ว เมื่อพนักงานสอบสวนถามว่า เตอร์เคยถูกดำเนินคดีอะไรมาก่อนหน้านี้ เขาตอบไปว่า มีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมชุมนุม ที่ศาลแขวงนครราชสีมายกฟ้องไป 2 คดี ส่วนอีกคดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา

ก่อนที่ตำรวจจะพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและลงบันทึกประจำวัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งว่า วันนี้จะไม่ควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน และนัดส่งตัวให้อัยการในวันที่ 12 ม.ค. 2566 เตอร์จึงเดินทางกลับในช่วงเวลา 11.45 น. 

สำหรับเตอร์ในวัย  23 ปี เพิ่งจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา โดยตัวเขากล่าวว่า หยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองมาได้พักใหญ่แล้ว เพราะต้องการมุ่งมั่นทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

กิจกรรมยืนหยุดขัง ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อ 17 เม.ย. 2564  เป็นกิจกรรมแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพียงเพราะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี ทั้ง ๆ ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา

เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามหลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 คดีของเตอร์นับเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คดีที่ 2 ของ จ.นครราชสีมา (คดีแรกทราบเพียงว่ามีผู้ถูกดำเนินคดี แต่ไม่ทราบชื่อและพฤติการณ์คดี) เตอร์กล่าวว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้สร้างภาระ ทำให้เสียเวลาในการต้องมาต่อสู้คดีอีกครั้ง ทั้งที่เขาเองเคยคาดหวังว่า ชีวิตนับจากนี้จะไม่ต้องมาเสียเวลาทำงานเพื่อสร้างชีวิตอีกแล้ว ยิ่งกับมาตรา 112 ที่อัตราโทษสูง การที่ต้องมาสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล ก็คงจะใช้เวลาอีกไม่น้อย 

ก่อนหน้านี้ คดีของเตอร์ที่ถูกถูกกล่าวหาว่าจัดคาร์ม็อบ “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 และคดีสาดสีประณามที่ตำรวจทำรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ทั้งสองคดีศาลแขวงนครราชสีมาต่างมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่เตอร์ยังมีอีกคดีจากคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 ที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 ม.ค. 2566

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

‘เตอร์’ Korat Movement : ในก้าวย่างและหนทางไปสู่การเมืองที่ดี

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: จำเลยไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม – ชุมนุมไม่เสี่ยงขนาดแพร่โรคในวงกว้าง

ยกฟ้อง! อีกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โคราช สาดสีประณาม ตร.ศาลชี้ จำเลยไม่ใช่ผู้จัด ทั้งไม่มีผู้ติดโควิด น่าสงสัยว่าชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิดหรือไม่

X