‘เตอร์’ Korat Movement: ในก้าวย่างและหนทางไปสู่การเมืองที่ดี

เรื่องโดย จิตลดา อินทพรม

.

ในขวบวัย 22 ปี ของ ‘เตอร์’ มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ  ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับการทำงาน  เขาคาดหวังจบการศึกษาไปจะมีการงานที่ดีที่พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แบ่งปันเวลาชีวิตไปกับสิ่งที่หลงใหลใฝ่หา การเดินทางเป็นสิ่ง ๆ นั้น แต่ในเรื่องจริงกลับกลายเป็นว่าเขาต้องเดินทางไปในแบบซ้ำเดิม ทั้ง สภ.เมืองนครราชสีมา สำนักงานอัยการ รวมไปถึงศาล ในการเผชิญหน้าคดีทางการเมือง ในที่ที่เขายอมรับว่า  “มันน่าเบื่อมาก”   ทั้งต้องกดดันเพราะเป็นคดีที่ฝ่ายโจทก์ทั้งตำรวจและอัยการดูจะเคร่งครัดเร่งรัดเป็นพิเศษ เพื่อจะเอาผิดเขาและคนอื่น ๆ ให้ได้

.

.

ใน 3 คดี ที่ถูกฟ้องข้อหาจัดชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ เตอร์ต้องเสียเวลาต่อสู้คดีนับเนื่อง 1 ปีกว่า ๆ   “มันมีปัญหาอย่างเดียวคือเสียเวลางานเสียเวลาชีวิตไปเยอะมาก ยังหาเช้ากินค่ำแบบนี้  ชีวิตยังติดลบแบบนี้  ถ้ายังเคลื่อนไหวอยู่แล้วโดนคดีน่าจะลำบาก”

ก่อนหน้านี้สองคดีแรกที่เขาถูกฟ้องจากการถูกกล่าวหาจัดชุมนุมคาร์ม็อบ “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เหตุเมื่อ 23 ก.ค. 2564 และ คดีสาดสีประณามที่ตำรวจทำรุนแรงกับผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ทั้งสองคดีศาลแขวงนครราชสีมาต่างมีคำพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาชี้ชัดว่า เตอร์และจำเลยคนอื่น ๆ ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม การชุมนุมช่วงดังกล่าวไม่เสียงขาดแพร่เชื้อโรคในวงกว้าง หนำซ้ำหลังเหตุการณ์การชุมนุม ยังไม่พบประชาชนรายใดใน จ.นคราชสีมา ที่ติดโควิดจากที่ชุมนุม 

อย่างไรก็ตามเตอร์ยังเหลืออีกคดีให้เดินหน้าสู้ต่อ จากกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 หลังจากศาลนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 9-11 พ.ย. 2565 ก่อนนัดฟังคำพิพากษา 16 ม.ค. 2566 สำหรับเตอร์เขาคาดหวังอย่างยิ่งว่าครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายของการเดินทางไปตามคดี เพราะตอนนี้เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว กำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในแบบเต็มตัว เป็นที่แน่นอนว่า เขาอยากเลือกเส้นทางและก้าวย่างในแบบเลือกเองบ้าง    

.

ฉากชีวิตสามัญ ก่อนเจอสิ่งอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า

จากบ้านในตัวอ.เมือง นครราชสีมา เตอร์ต้องไป-กลับที่ทำงานในร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตร หลังจากเลิกงานราว 18.00 เขาจะตรงกลับบ้านทันที นอกจากนั้นวันหยุดของเตอร์ที่มีเพียงวันจันทร์วันเดียวต่อสัปดาห์เขาจะไปช่วยแม่ขายของประเภทกิฟท์ชอปและสมุนไพรต่าง ๆ  เป็นชีวิตที่เตอร์ใช้ในรูปแบบนี้มาหลายปีจนเริ่มชินชา

 “จะมีลางานที่ร้านไปช่วยแม่บ้าง หรือถ้าขายของช่วยแม่เสร็จก่อนเที่ยงหรือ 14.00 น. ก็จะไปทำงานที่ร้านต่อเป็นพาร์ทไทม์ได้” 

ขณะเดียวกับที่เตอร์ยอมรับว่าเขาสนใจเรื่องการเมืองและศึกษาเรียนรู้กับมันบ้างระหว่างว่างเว้นจากงาน  “ตอนนั้นผมเรียนเพิ่งจบแล้วบวช หลังสึก 1 วัน ก็มีคาร์ม็อบเลย เป็นครั้งแรกที่ถูกดำเนินคดี ถึงขนาดมีคนแซวว่าสึกมาทำม็อบเหรอ”

เตอร์ยังย้อนเล่าถึงความสนใจการเมืองอีกว่า  เป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2557  มาศึกษาอย่างจริงจังก็คือช่วงเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562  “เท่าที่จำได้เขตบ้านเราคะแนนของพรรคอนาคตใหม่นำอยู่หลักพันคะแนน แล้วมีเหตุการณ์ไฟดับ ก่อนผลคะแนนออกมาเป็นพรรคพลังประชารัฐกลับมาชนะไปแบบฉิวเฉียด เลยรู้สึกว่ามันไม่โปร่งใส 

.

.

อาจเพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของบาริสต้าร์หนุ่ม  พอพบเจอสิ่งที่รู้สึกไม่โปร่งใส เขายิ่งอยากขับเคลื่อนให้เห็นสิ่งชอบธรรมมากขึ้น “อยากให้มันเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ใช่แบบที่มีเผด็จการคุมอยู่”   ยิ่งมาพบการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ที่มีนักการเมืองคนหนึ่งพูดว่า “เงินเดือนของสส. 120,000 บาท ไม่พอใช้” เป็นสิ่งที่เตอร์รับว่าเขาโมโหมาก 

หรือการยุบพรรคอนาคตใหม่ในต้นปี 2563   เกิดแฟลชม็อบในสถานศึกษาทั่วประเทศ ที่เรียนของเตอร์ก็เช่นกัน ช่วงเวลานั้นเขาตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้าร่วมชุมนุมและกล่าวปราศัยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ยอมรับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

ก่อนคลิปที่เตอร์ปราศรัยช่วงเวลานั้นจะกลายเป็นไวรัลในเฟซบุ๊กเพจหนึ่งของโคราช  กระทั่งมีตัวแทนจากกลุ่ม ๆ  หนึ่งมาชวนเข้าร่วมเพื่อขับเคลื่อนการเมือง ในฐานะคนโคราชคนหนึ่ง เตอร์ตอบรับด้วยความยินดี  แล้ววันหนึ่งเด็กหนุ่มอย่างเขาก็ค่อย ๆ กลายเป็นนักกิจกรรมทางสังคม 

.

Korat Movement พลังหนุ่มสาวที่คานอำนาจรัฐ

เตอร์ย้อนเล่าไปอีกว่า “ตอนนั้นม็อบที่โคราชโด่งดังมาก จากม็อบแรกที่ขึ้นปราศรัยเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย  พอม็อบที่ 2 เขารับว่าขึ้นปราศรัยด้วยอารมณ์  เพราะอึดอัด ทำให้เกิดกระแสตีกลับบ้าง  บางคนบอกว่าดีแล้วเพราะอัดอั้นจากสิ่งที่รัฐทำ แต่บางคนก็บอกว่าถ้าจะเอาสะใจเฉย ๆ ก็ไม่ต้องขึ้นไป ปราศรัยไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบก็ได้  กระทั่งเกิดเป็นกระแสจนครอบครัวเห็นวีดีโอนั้น จึงโทรศัพท์มาแสดงความกังวล เพราะห่วงว่าหากมีใครไม่ชอบแล้วจะมาทำร้ายเขาได้ เตอร์สะท้อนความรู้สึกว่า 

“ผมกลับบ้านมานอนร้องไห้ ผมคิดว่าจะไม่กลับไปเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกแล้วไปทำอย่างอื่นที่สนใจแล้วอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า คนจะได้ไม่เกลียด” 

 แต่เมื่อเพื่อนยังชวนทำกิจกรรม แล้วเตอร์คุยกับทางบ้านให้เข้าใจด้วยการขยับไปทำเบื้องหลังบ้าง ก่อนที่โคราช จะจัดม็อบอีกครั้ง และเตอร์ได้เข้าร่วม ยังได้รับการชักชวนไปร่วมม็อบที่ต่างจังหวัดบางแห่ง  กระทั่งกลับมานักกิจกรรมหนุ่มสาวในโคาชมีการตั้งกลุ่มใหม่ชื่อว่า Korat Movement 

.

.

ตั้งแต่ปี 2564 Korat Movement มีกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองอยู่หลายครั้ง แตกต่างไปในหลากรูปแบบ  เช่น เรียกร้องให้ผบ.ตร.รับผิดชอบที่ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้ความรุนแรงกับประชาชน เรียกร้องให้เยียวยานักดนตรีกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด รณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจรวมไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

อาจเพราะเหตุนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐจับตาทั้งตัวเตอร์ทั้งลุกลามไปถึงคนรอบตัว

 “ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐโทรหาพ่อเพื่อนเรา แล้วเพื่อนเลยโทรหาเราบอกว่ามีตำรวจโทรตามเชิงคุกคามโดยถามว่าเป็นเพื่อนกับเตอร์ใช่ไหม ? เตอร์เป็นคนหัวรุนแรงไหม ? เรื่องสถาบันกษัตริย์เตอร์มีแนวคิดอย่างไร ? 

ซึ่งเพื่อนตอบว่าเตอร์ไม่ได้หัวรุนแรง เตอร์ด่าแต่รัฐบาล   เตอร์เล่าอีกว่า   “เราจะโดน ไอโอ  ( Information Operation ) ที่ติดตามทางโซเชียลมีเดียทักมาหาเยอะมาก” ทั้งเคยเจอรูปแบบมีรถกระบะมาจอดแถวบ้าน  มีลักษณะตำรวจมาจอดเฝ้า และตำรวจเหมือนจ้างวัยรุ่นในพื้นที่มาจอดดูความเคลื่อนไหวอีกที เตอร์เล่าด้วยว่า

  “มีบางทีพอผมออกจากบ้านปุ๊บก็ขับรถตามเลย ผมไม่ค่อยออกจากบ้านเลยช่วงหนึ่ง และผมแปลกใจมาก ว่าเขารู้จักบ้านผมได้อย่างไร”

.

อยากให้ประเทศดีขึ้น อยากได้ชีวิตวัยรุ่นคืน 

จากสามคดีทางการเมืองของเตอร์ กับคนในครอบครัว ในส่วนของแม่ ก็กลัวว่าเตอร์จะติดคุก ทั้งไม่อยากให้มีประวัติคดีติดตัวก่อนที่จะมีการงานมั่นคงทำ เตอร์อธิบายเสมอว่ามันเป็นคดีที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ซึ่งแม่ก็แนะนำให้อยู่เบื้องหลังบ้างเพราะถูกดำเนินคดีแล้ว เตอร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

 “ตอนนี้ครอบครัวก็ยังทำอาชีพขายของเหมือนเดิม แต่แม่จะถามตลอดเลยว่าคดีสิ้นสุดหรือยัง จะจบตอนไหน”

ถึงอย่างนั้น การถูกดำเนินคดีทางการเมืองส่งผลกระทบต่องานของเตอร์เป็นอย่างมาก  เพียงเรื่องเดียวอาจมีประเด็นทั้งสิทธิแรงงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม ของประเทศไทยที่ไม่ได้ถูกแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์และประชาชนเลย เตอร์บอกว่า เรื่องการงานนั้นกระทบมาก  เป็นช่วงโควิด-19 ระบาดหนักด้วย  “ซึ่งช่วงหนึ่งเรายังไม่มีงานทำ เรารับงานอิสระซึ่งโดนยกเลิกหมดเลย เพราะต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายวันแล้วต้องลามาตามนัดหมายคดี  ถ้าเราลาก็ไม่ได้ค่าจ้างแถมเสียค่าอาหารค่าน้ำมันอีก” 

.

.

แม้จะมีความคิดหลายอย่างที่เกิดขณะถูกดำเนินคดี แต่การออกมาเคลื่อนไหนทางการเมืองของเตอร์เขาเองก็ไม่ได้ถูกชักจูงจากผู้มีอำนาจฝ่ายใด แต่เพราะความไม่เป็นปกติของรัฐและโครสร้างสังคมไม่เท่าเทียมแบบที่ควรจะเป็น จึงทำให้มีคนแบบเขาต้องดาหน้าออกมาแสดงจุดยืน  “ตั้งแต่เลือกตั้งนายกฯ แล้วที่มันไม่โปร่งใส บัตรเขย่ง แล้วก็ต่อเนื่องมาที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้วพรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค การกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลเผด็จการทำให้ประชาชนถูกบีบคั้นจนอึดอัดและไม่สามารถทนอยู่ในสังคมแบบนั้นต่อไปได้” เตอร์กล่าวไว้อีก

เตอร์ให้ภาพฝันว่า สังคมที่เท่าเทียมและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีเผด็จการอยู่ข้างบน อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เอาแค่ในจังหวัดที่อาศัยอยู่ตอนนี้ โคราช ถนนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องดี   แล้วก็อยากให้มีการกระจายอำนาจในทุกที่  ผู้ว่าฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เขาย้ำว่า

“อยากให้ประเทศมันดีขึ้น อยากได้ชีวิตวัยรุ่นคืน ทุกคนไม่ควรจะลำบากขนาดนี้ เพราะรัฐบาลเผด็จการทำให้วัยรุ่นหมดไฟหมดหวัง ทำให้มีภาวะซึมเศร้าเพราะประเทศห่วยแตก เหมือนไม่มีทางออกเลย ค่านิยมที่ทำลายสภาพจิตใจของวัยรุ่นและวัยอื่นๆ มาก ๆ มันไม่แปลกที่จะหมดไฟ”

สำหรับเตอร์ตอนนี้อยู่ในช่วงพักจากการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาตัวเอง ทั้ง  สภาพจิตใจ การงาน การเงิน และอยากออกเดินทางท่องเที่ยว  อยากไปอยู่ในที่ที่มีต้นไม้ล้อมรอบ มีลำธารผ่าน  อยากอยู่สงบ ๆ ไม่ต้องรีบร้อน เตอร์กล่าวอีกว่า

“จริง ๆ ผมอยากอิกนอร์มาก แต่ผมทำไม่ได้เพราะครอบครัวผม ตัวผมได้รับผลกระทบโดยตรงมาก ๆ  สำหรับผู้อื่น ครอบครัวของคุณอาจจะไม่ได้รับปัญหาแต่ถ้าคุณเห็นใจและมองเห็นคนอื่น ๆ ในสังคมที่เขาได้รับปัญหา คุณสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงหรือช่วยส่งเสียงได้ เพราะหากมันเปลี่ยนแปลงจริง ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์เหล่านั้นด้วยไม่ใช่แค่คนที่เดือดร้อนในตอนนี้” 

นี่คือสิ่งที่เผด็จการได้กระทำต่อชีวิต ความหวัง ความฝันของหนุ่มสาวที่ถูกกลืนกลบ ขาดหายแหว่งวิ่นไปในยุคทมิฬ ซึ่งเตอร์ยังมีประโยคส่งท้ายส่งพลังแด่หนุ่มสาวที่อาจผ่านมาพบเจอว่า “ขอให้ทุกคนมีความสุขกับสีของฟ้าในทุกๆ วัน”

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: จำเลยไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม – ชุมนุมไม่เสี่ยงขนาดแพร่โรคในวงกว้าง

ยกฟ้อง! อีกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โคราช สาดสีประณาม ตร.ศาลชี้ จำเลยไม่ใช่ผู้จัด ทั้งไม่มีผู้ติดโควิด น่าสงสัยว่าชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิดหรือไม่

ชีวิตที่(อยากให้)ดี กับคดีที่ได้ ของ “บุ๊ค” ครูสอนว่ายน้ำ

.

X