“วันนี้จะตัดสินหรือยังครับ”
จำเลยมักถามทีมทนายความและผู้สังเกตการณ์ด้วยคำถามนี้ ในแทบทุกนัดของศาลตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าทนายความจะชี้แจงว่ายังอยู่ในขั้นตอนของการสืบพยาน ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก เขาก็ยังคงคิดว่าแต่ละนัดที่มาศาล จะได้รับคำตัดสินพิพากษาคดีเสียที เพื่อจะได้รู้วันเวลาที่ชัดเจนที่เขาต้องอยู่ในเรือนจำ และไม่ต้องเครียดกับการเดินทางมาศาลเป็นประจำอีกต่อไป
สมัคร (ขอสงวนนามสกุล) จำเลยในคดีนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย จากกรณีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางเข้าหมู่บ้านที่อำเภอเทิง คดีนี้มีเรื่องที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งอาการป่วยทางจิตของจำเลย กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร และการตัดสินใจกลับคำให้การของจำเลย ก่อนที่ศาลทหารจะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 6 สิงหาคม ศกนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประมวลสรุปลำดับเหตุการณ์ในคดีนี้ อาการป่วยของจำเลย ปัญหาการไม่มีกระบวนการสืบเสาะในศาลทหาร ลำดับการสืบพยานที่ล่าช้า การตัดสินใจกลับคำให้การของจำเลย และคำแถลงปิดคดีของทนายความ
.
เหตุแห่งคดี
เหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 เวลาราว 20.00 น. เมื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลปล้อง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งว่ามีบุคคลกำลังทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อยู่บริเวณปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำขุนปล้อง จึงได้เดินทางออกไปดู เมื่อเห็นบุคคลกระทำการดังกล่าวในที่เกิดเหตุจริง จึงได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ต่อมา เจ้าหน้าที่สายตรวจในพื้นที่พร้อมผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ร่วมกันเข้าจับกุมบุคคลที่ทราบต่อมาว่าคือสมัคร และพร้อมกับผู้ใหญ่บ้าน ได้นำตัวผู้ก่อเหตุไปยังสถานีตำรวจภูธรเทิง สมัครได้ให้การยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้เป็นกระทำการดังกล่าวจริง
พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวถูกจัดสร้างไว้ในลักษณะเป็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ยังมีโต๊ะหมู่บูชา พานพุ่ม และผ้าริ้วประดับซุ้มอยู่ด้วย พยานที่ไปยังที่เกิดเหตุให้การคล้ายกัน ว่าขณะเกิดเหตุนอกจากพระบรมฉายาลักษณ์และผ้าริ้วจะถูกกรีดทำลายลงมากองกับพื้นแล้ว พานพุ่มเครื่องบูชาต่างๆ ก็ลงมากองเสียหายที่พื้น เหลือเพียงแต่โครงของซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยเช้าวันถัดมา เจ้าหน้าที่สายตรวจยังได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบมีดปลายแหลมจำนวน 1 เล่ม จึงได้ยึดไว้เป็นของกลาง
เนื่องจากกรณีนี้เกิดขึ้นภายหลังประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 สมัครจึงถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดทหารบกเชียงรายในวันถัดมา และถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมานับแต่นั้น คดีถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน 57 ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะหรือหมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุอันควร
.
ชายยากจนผู้มี “อาการทางจิต”
สมัคร จำเลยในคดีนี้ บุคลิกเป็นคนเงียบๆ นิ่งๆ มักมีอาการนั่งเหม่อลอยเซื่องซึม เวลาพูดคุยมักพูดด้วยเสียงอันเบาและด้วยเสียงค่อนข้างนุ่มนวล มีรอยยิ้มที่ซื่อๆ และจริงใจ ในตอนเกิดเหตุ เขามีอายุ 49 ปี เป็นคนอำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายโดยกำเนิด ประกอบอาชีพทำนา โดยปลูกข้าวและข้าวโพดบนที่ดินราว 5 ไร่ และยังรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน สมัยยังหนุ่มเคยไปทำงานก่อสร้างในพื้นที่อื่น ก่อนกลับมาอาศัยอยู่เพียงลำพังในหมู่บ้าน
เขาแยกทางกับภรรยามาหลายปีแล้ว มีลูกชายด้วยกันสองคน ปัจจุบันอายุ 27 แล 25 ปี ตามลำดับ โดยต่างเข้าไปทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ทราบรายละเอียดของทั้งคู่และความเป็นอยู่มากนัก ทั้งคู่ไม่ได้กลับมาเยี่ยมพ่อหลังถูกดำเนินคดีนี้อีก โดยสมัครเล่าว่าได้ส่งจดหมายแจ้งเรื่องนี้ให้ลูกชายทราบแล้ว
เขายังมีน้องชายอีกคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่น้องชายก็ไม่ได้เข้ามาเยี่ยมหรือดูแลพี่ชายเช่นกัน นอกจากทนายความแล้ว จึงกล่าวได้ว่าไม่มีใครไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำอีกเลยตลอดการถูกคุมขังปีเศษๆ โดยที่เรือนจำเชียงรายเองก็มีระบบการเยี่ยมที่เข้มงวด ให้เฉพาะญาติของผู้ต้องขังเยี่ยมเท่านั้น
สมัครไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ ตัวเขาเองมีฐานะค่อนข้างยากจน จึงไม่มีเงินสำหรับยื่นขอประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดี โดยปกติคดีมาตรา 112 มักใช้เงินประกันหลายแสนบาท กระทั่งเป็นล้านบาทขึ้นไป แต่ก็ยังยากที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
สมัครยังมีประวัติการรักษาอาการทางจิตมาเป็นเวลาหลายปี เขาเล่าว่าหลายปีก่อน ตัวเองเคยมีอาการหวาดผวา กลัวคนจะเข้ามาทำร้ายอยู่ตลอดเวลา จนต้องไปรักษาอาการที่โรงพยาบาล จำได้ว่าเคยถูกมัดด้วยเชือกกับเตียงเพื่อรักษาด้วย ปัจจุบันอาการหวาดผวานี้หายไปแล้ว แต่ยังคงมีอาการหูแว่วอยู่เรื่อยมา
สมัครให้ข้อมูลว่าอาการหูแว่วมักเกิดขึ้นเมื่อตัวเองอยู่คนเดียว คล้ายมีคนมากระซิบเรียกชื่อเขาอยู่ข้างหูตลอด หรือบางทีก็มีเสียงคนจับกลุ่มพูดกันข้างหู ทั้งที่ไม่มีใคร บางทีต้องผวาตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะได้ยินเสียงผู้หญิงเรียกชื่อเขา อาการเหล่านี้ทำให้เขาทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ค่อนข้างเชื่องช้า
เขายอมรับว่าได้ดื่มสุราช่วงเย็นวันเกิดเหตุ และกระทำการต่างๆ ไปโดยไม่รู้สึกตัว ในช่วงถูกคุมขัง สมัครจึงถูกนำตัวไปอยู่ที่แดนพยาบาลภายในเรือนจำตลอดมา และยังต้องกินยารักษาอาการอยู่วันละสามมื้อทุกๆ วัน
.
.
เมื่อศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ
ในเดือนพฤศจิกายน 57 ก่อนหน้าการนัดสอบคำให้การจำเลย ทางทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารประวัติการรักษาทางการแพทย์ และเวชระเบียนจากโรงพยาบาลที่จำเลยเคยรักษาอาการป่วยทางจิตมาก่อน แต่ศาลเห็นว่าในคำร้องยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง จึงขอให้ทนายยื่นคำร้องใหม่ต่อศาลภายใน 7 วัน ก่อนจะนัดสอบคำให้การใหม่ในเดือนถัดมา
กระทั่งเดือนธันวาคม ฝ่ายจำเลยตัดสินใจให้การยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่ได้ยื่นคำร้องประกอบการพิจารณาว่าจำเลยกระทำไปโดยเหตุที่อยู่ในภาวะเป็นจิตเภท ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 จึงขอให้ศาลยกฟ้อง ให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เพื่อให้โอกาสจำเลยไปทำการรักษาอาการป่วยต่อไป โดยมีเอกสารความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบ
อัยการทหารได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว ด้วยเห็นว่าจำเลยไม่ได้รับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทั้งหมด และแถลงจะขอนำพยานหลักฐานมาสืบ ศาลชี้แจงว่าการรับสารภาพหมายถึงการรับโดยไม่มีเงื่อนไข แต่การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดโดยเหตุผลอื่น คือมีอาการทางจิตเภท ไม่ได้รับสารภาพตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงสามารถขอนำสืบพยานหลักฐานได้ และชี้แจงด้วยว่าศาลทหารไม่ได้มีขั้นตอนการสั่งสืบเสาะคดีเหมือนกับศาลพลเรือน เพราะไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่นี้
โดยปกติในศาลพลเรือนนั้น ศาลสามารถสั่งให้มีกระบวนการสืบเสาะ ให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะข้อเท็จจริงในคดี ภูมิหลัง ความประพฤติ และความเป็นอยู่ของจำเลย เพื่อทำเป็นรายงานเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการลงโทษที่เหมาะสม หรือการแก้ไขฟื้นฟูที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดแต่ละราย ใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาของศาล
พนักงานคุมประพฤตินั้นสังกัดกรมคุมประพฤติ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม ขณะที่ศาลทหารสังกัดอยู่ภายใต้กรมพระธรรมนูญของกระทรวงกลาโหม ทำให้การดำเนินคดีในศาลทหารไม่สามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะได้
อัยการทหารให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ได้เคยส่งเรื่องคดีอื่นๆ ไปให้กรมคุมประพฤติช่วยดำเนินการ แต่กรมคุมประพฤติไม่ดำเนินการให้ โดยอ้างว่าในกฎหมายเกี่ยวกับคุมประพฤติไม่รวมศาลทหารเอาไว้ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจบังคับให้กรมคุมประพฤติทำงานให้ได้
ข้อแตกต่างเช่นนี้ ทำให้ในคดีที่จำเลยรับสารภาพเพราะมีอาการทางจิตลักษณะนี้ หากเป็นในศาลพลเรือนปกติ ศาลสามารถสั่งให้มีกระบวนการสืบเสาะซึ่งใช้เวลาราวหนึ่งเดือน ก็สามารถอ่านคำพิพากษาได้ทันที หากในศาลทหารกลับต้องนำพยานมาสืบในศาล ซึ่งกินระยะเวลายาวหลายเดือนถัดมา
.
การสืบพยาน อาการในอดีตของจำเลย และการกลับคำให้การ
การสืบพยานโจทก์ในคดีนี้เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 58 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจากสถานีตำรวจภูธรเทิง ขึ้นเบิกความเป็นปากแรก เน้นเบิกความถึงการเข้าจับกุมตัวจำเลยขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สายตรวจเบิกความด้วยว่าขณะจับกุมจำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมา มีกลิ่นสุราจากตัว เจ้าหน้าที่จึงจะนำตัวจำเลยไปตรวจหาสารเสพติด แต่จำเลยไม่ยอมไป
ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของจำเลยขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ เบิกความถึงการเดินทางมาพบจำเลยกำลังก่อเหตุ หลังจากเข้าจับกุมจึงได้แจ้งเรื่องไปยังผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งแจ้งญาติของจำเลยคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้เดินทางมายังที่เกิดเหตุ จึงพากันนำตัวจำเลยไปที่สถานีตำรวจ โดยจำเลยไม่ได้พยายามจะหลบหนีแต่อย่างใด แต่ยืนยันว่ายังสามารถพูดคุยได้รู้เรื่องในขณะนั้น
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยังเบิกความตอบทนายจำเลย ว่าตนและบุคคลในหมู่บ้านทราบเรื่องที่จำเลยมีอาการทางประสาท โดยทราบว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน จำเลยเคยทุบบ้านของตนเอง ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะความเครียดในเรื่องครอบครัว ต่อมาในปี 2557 ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยยังได้เผารถจักรยานยนต์ของตนเอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านได้เห็นซากรถขณะไปตรวจที่บ้านจำเลยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยทราบว่าจำเลยได้เอารถไปซ่อม แต่ซ่อมไม่สำเร็จสักที เลยเผารถของตนเองเสีย
จากนั้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 58 ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานหนึ่งนัดในแต่ละเดือน ได้ประสบปัญหาต้องเลื่อนการสืบพยานออกไปถึง 3 นัดติดต่อกัน เนื่องจากพยานโจทก์ที่เป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มาศาล ทั้งจากการติดธุระ และจากปัญหาการไม่ได้ส่งหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้พยานไม่ทราบหมายในนัดถัดๆ มา โดยที่อัยการยังยืนยันจะนำพยานปากนี้มาเบิกความ กระบวนการพิจารณาคดีนี้จึงล่าช้าออกไป
ในช่วงระหว่างนี้ ยังได้มีการโยกย้ายอัยการทหารที่ประจำอยู่ที่ศาลทหารเชียงรายตามวาระ ทำให้อัยการที่รับผิดชอบคดีนี้มาตั้งแต่ต้นเดินทางไปรับราชการในพื้นที่อื่น โดยมีอัยการทหารประจำศาลคนใหม่เข้ามาดูแลคดีแทน
ก่อนที่ในเดือนมิถุนายน การสืบพยานจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยมีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนที่สอง มาเบิกความพร้อมกันสองปาก ทั้งสองได้เบิกความถึงการติดตามมายังที่เกิดเหตุ ภายหลังได้รับแจ้งจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยต่างเห็นจำเลยมีอาการคล้ายคนเมาสุรา มีอาการนั่งนิ่ง ไม่พูดจา ใครถามก็นิ่ง ไม่ได้มีอาการอาละวาด
ผู้ใหญ่บ้านยังเบิกความถึงประวัติรักษาอาการทางประสาท และเหตุการณ์เมื่อ 7-8 ปีก่อน จำเลยได้ไปช่วยงานศพของชาวบ้านในตำบลอื่น ขณะขนไม้ไปทำฟืนได้เกิดอาการประสาทหลอน วิ่งไปวิ่งมา จนต้องจับส่งไปรักษา และหลังจากนั้นยังมีเหตุทุบบ้านและเผาจักรยานยนต์ของตนเอง แต่ยืนยันว่าในชีวิตประจำวัน ยังสามารถพูดคุยกับจำเลยได้รู้เรื่องปกติ
แต่การสืบพยานก็ต้องหยุดลง เมื่อในนัดเดือนกรกฎาคม จำเลยได้แจ้งทนายความก่อนการพิจารณาว่าจะตัดสินใจกลับคำให้การ โดยยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาทั้งหมด เหตุเพราะไม่สามารถทนรอสืบพยานอีกต่อไปได้ ด้วยมีความรู้สึกเครียด ต้องคอยคิดตลอดว่าจะไปศาลวันไหนบ้าง จึงต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว และเมื่อได้สอบถามทางอัยการทหาร ทำให้ทราบว่ายังเหลือพยานโจทก์ที่จะนำมาเบิกความอีก 7 ปาก ทำให้คดีจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น
ทางทนายจำเลยจึงได้แถลงขอกลับคำให้การต่อศาล ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ รวมแล้วมีการสืบพยานโจทก์ดำเนินไปได้ทั้งหมด 4 ปาก ก่อนที่จำเลยจะตัดสินใจขอกลับคำให้การในที่สุด
.
.
คำแถลงปิดคดี
ก่อนหน้าการนัดวันอ่านคำพิพากษา ทางทีมทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดี โดยขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำคุกเอาไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยไปทำการรักษาอาการ โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีอาการหูแว่ว หวาดระแวง และมีระดับสติปัญญาในระดับต่ำ มีความจำเป็นต้องอยู่กับครอบครัวและบรรยากาศที่อบอุ่นใจ ซึ่งปรากฏตามใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในสำนวนคดีนี้
คำแถลงระบุด้วยว่าโรคจิตเภทของจำเลยนั้น เป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งซึ่งทำให้มีการแตกแยกของกระบวนการคิดและการตอบสนองทางอารมณ์ ส่วนใหญ่แสดงอาการเป็นหูแว่ว หวาดระแวง หลงผิดแบบแปลกประหลาด หรือมีการพูดและการคิดที่เสียโครงสร้าง และอาการจิตเภทเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวช อันมีรูปแบบอาการและการรักษาเฉพาะทาง โดยทนายจำเลยได้แนบเอกสารรายละเอียดของโรคจิตเภทท้ายคำแถลงปิดคดี
คำแถลงระบุอีกว่าคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มีความละเอียดอ่อน ย่อมต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายของกฎหมายที่ต้องการปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักของประชาชนจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำไปเป็นขบวนการ หรือมีความมุ่งหมายอันมิบังควรอันอื่น แต่หากกระทำไปด้วยระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ในทางการแพทย์
ทนายจำเลยได้อ้างอิงถึงคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้อีกสามคดี ซึ่งศาลได้พิจารณาตามรูปคดีและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นรายๆ ไป ได้แก่ คดีโอภาส (สงวนนามสกุล) ซึ่งศาลทหารกรุงเทพพิจารณาพฤติการณ์แล้วให้ลงโทษสถานเบา, คดีเฉลียว (สงวนนามสกุล) ซึ่งศาลอาญาได้พิจารณาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกไว้ และคดีของบัณฑิต อานียา ซึ่งจำเลยมีอาการจิตเภทเช่นเดียวกับคดีนี้ ศาลฎีกาก็ให้รอการลงโทษจำเลย เพื่อให้ไปทำการรักษา โดยได้แนบคำพิพากษาในคดีทั้งสามประกอบการพิจารณาของศาล
ขณะเดียวกัน ยังได้แนบหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยจากผู้ใหญ่บ้าน ว่าจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติดี ประกอบอาชีพสุจริต และไม่เคยต้องโทษทางอาญามาก่อน ท้ายคำแถลงให้ศาลพิจารณาอีกด้วย
.
สู่วันพิพากษา
นับตั้งแต่ถูกจับกุมจนถึงวันนัดอ่านพิพากษา สมัครถูกคุมขังในเรือนจำมาเป็นเวลาทั้งหมด 396 วัน คดีกำลังจะจบลงตามที่เขารอคอยมา 1 ปีเศษ
ความเครียดจากการถูกจองจำในเรือนจำ และความยากจนทำให้เขาไม่มีเงินยื่นขอประกันตัว ประกอบกับในคดีมาตรา 112 เองมีความยากลำบากในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ส่งผลถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรม ปัจจัยทั้งหมดกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจยอมรับสารภาพของจำเลย โดยไม่ต่อสู้คดีอีก เพียงแต่ต้องติดตามว่าศาลจะพิพากษาความผิดของเขาเช่นใด และจะรับฟังเรื่องอาการทางจิตของจำเลยหรือไม่
การพิพากษาโดยศาลทหารจะถือเป็นสิ้นสุดในศาลเดียว…
.