“อานนท์” ยื่นคำร้องคัดค้าน ภายหลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้เบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายจำเลยในคดี 112 ของ “ทอปัด” ระบุ ยังมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นทนายความ เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด

30 พ.ย. 2566 เวลา 10.30 น. อานนท์ นำภา ทนายความและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาทำหน้าที่ทนายจำเลยในนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ ทอปัด (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ศิลปินนักวาดภาพอิสระ จากการวาดภาพรัชกาลที่ 10 เผยแพร่ในอินสตาแกรม ซึ่งจะมีการสืบพยานในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และ 31 ม.ค. 2567  

การยื่นคำร้องคัดค้านเกิดขึ้นภายหลังเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ศาลอาญามีคำสั่ง “ยกคำร้อง” ต่อคำร้องในคดีของทอปัด ที่อานนท์ยื่นขอให้เบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายความของจำเลย ร่วมกระบวนการพิจารณาสืบพยานในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และ 31 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ให้จำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ แม้จะยื่นประกันแล้ว 3 ครั้ง รวมถึงศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันหลังทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน จนถึงปัจจุบัน (30 พ.ย. 2566) อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 66 วัน

คำร้องคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวทนายอานนท์มาในคดีของทอปัดมีเนื้อหาดังนี้

คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวทนายจำเลย ซึ่งถูกขังโดยอำนาจของศาลนี้มาปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องและไม่เบิกตัวทนายความจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่โดยให้เหตุผลว่า ทนายความจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญา (คดีมาตรา 112) มีโทษจำคุก 4 ปี จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายได้ 

ทนายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ทนายความจำเลยยังมีศักดิ์และมีสิทธิ์ในวิชาชีพทนายความอย่างสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.ทนายความ เพราะคดีการเมืองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญย่อมถือว่าทนายความจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งการสิ้นสุดลงของการเป็นทนายความย่อมเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยทนายความ ซึ่งทนายความจำเลยยังมีชื่อเป็นทนายความ ไม่ได้ถูกเพิกถอนการเป็นทนายความแต่อย่างใด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางไม่ให้ทนายความได้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีได้

2. การที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ทนายความจำเลยมาศาลเพื่อทำหน้าที่ ทั้งที่ทนายความจำเลยถูกขังโดยอำนาจศาล ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ในการสืบพยานโจทก์จะไม่มีทนายความที่จำเลยไว้วางใจและแต่งตั้งมาทำหน้าที่ กระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงและเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่อาจดำเนินไปด้วยความยุติธรรมได้ 

ทั้งนี้ กระบวนพิจารณาคดีมาตรา 112 ได้ถูกจับตาโดยประชาคมโลกมาโดยตลอด รวมทั้งเนติบัณฑิตแห่งสหภาพยุโรปได้เคยทำหนังสือแสดงความกังวลในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความจำเลย ซึ่งถูกละเมิดจากการแสดงออกอย่างสันติทางการเมืองจนกระทบต่อการทำหน้าที่ ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกส่งไปยังสภาทนายและถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยตรง

การออกคำสั่งของศาลในคดีนี้ยังตอกย้ำถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีมาตรา 112 อย่างชัดเจนว่า มีความไม่ปกติ และอาจเกิดความไม่ยุติธรรมในการพิจารณาคดี

3. หากศาลเห็นว่า การแต่งกายในชุดนักโทษไม่เหมาะสมที่จะสวมครุยเนติบัณฑิตว่าความในห้องพิจารณา เหมือนในการพิจารณาคดีของศาลนี้ในหลายคดี หากศาลมีคำสั่งห้ามสวมชุดครุย ทนายความจำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งแม้จะไม่เห็นด้วย 

การที่ทนายความจำเลยไม่อาจแต่งกายด้วยชุดสุภาพแบบสากลนิยม แต่ต้องสวมชุดนักโทษ ก็เพราะศาลนี้และศาลอุทธรณ์ ตลอดจนศาลฎีกา ไม่ได้มีคำสั่งให้ประกันทนายความจำเลย ไม่ใช่เรื่องที่ทนายความแต่งกายไม่ถูกระเบียบเอง ทั้งการไม่อาจสวมครุยก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ ถึงขนาดจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะหากทนายความปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความยุติธรรม แม้อยู่ในชุดนักโทษก็สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ แต่หากทำหน้าที่ไปด้วยอคติหรือมิจฉาทิฏฐิ แม้จะสวมชุดครุยที่ทอด้วยไหมก็คงไม่มีค่าอันใด

ด้วยเหตุผลที่ทนายความจำเลยกล่าวมาข้างต้นทนายความจำเลยจึงขอแถลงคัดค้านคำสั่งศาลดังกล่าวไว้ 

อานนท์ นำภา

ทนายความจำเลย

X