‘อานนท์’ ถูกคุมขังแล้ว 269 วัน: ศาลฎีกายังยกคำร้อง กรณีอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว เห็นว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง – จำเลยอาจหลบหนี 

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ​ จากกรณีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 4 ปี 

เหตุที่ยื่นคำร้องครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ ส่วนหนึ่งได้ระบุว่า “การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทนายยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดีและเชื่อตามคำฟ้องโจทก์แล้วว่าการกระทำของจำเลยสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ยังมิได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ซึ่งขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขอความเป็นธรรมในการวินิจฉัยต่อศาลฎีกา

ต่อมาวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า ‘พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี กรณีเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี และให้นับโทษต่อหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง’ เป็นผลทำให้อานนท์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป

.

ทบทวนคดี: ถูก ‘แน่งน้อย’ แจ้งความ 112 จากการโพสต์ 3 ข้อความ อานนท์ยืนยันว่าวิจารณ์การใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์โดยสุจริต ต่อมาศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา

ที่มาที่ไปของคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ขณะนั้นอยู่ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาอานนท์ไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และอานนท์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 

15 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการรมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ โดยระบุว่า ข้อความทั้งหมดเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ทําให้รัชกาลที่ 10 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย โดยอัยการยังระบุว่าโพสต์ดังกล่าวมีผู้กดไลค์ 1.2-1.3 หมื่นคน มีผู้แสดงความคิดเห็น 317-544 คน และมีผู้แชร์ 361-544 ครั้ง 

ในการสืบพยานคดีนี้อานนท์ยืนยันว่าเป็นการโพสต์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์โดยสุจริต เพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม

ต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกอานนท์ 4 ปี โดยระบุว่า ข้อความทั้งสามของจำเลยแม้จะใช้คำว่า “ระบอบกษัตริย์” และ “สถาบันกษัตริย์” แต่สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 มีจุดประสงค์ให้ประชาชนที่เห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจผิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง และทรงใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเป็นความเท็จ จาบจ้วงล่วงเกิน ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ วันดังกล่าวทำให้อานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำด้วยโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี (เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 ให้จำคุก 4 ปี)

.

ทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว: ขอความเป็นธรรมในการวินิจฉัย ระบุจำเลยต้องการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ทำให้ความหมายของระบอบห่างไกลจากประชาธิปไตย หรือทำให้ประชาธิปไตยแยกห่างจากสถาบันกษัตริย์

หลังทนายความยื่นขอประกันตัวในคดีนี้เป็นครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 ศาลอาญามีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกสี่ปีและให้นับโทษต่อ ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

ต่อมาในวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ต่อศาลฎีกา โดยสามารถสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า 

ประเด็นที่ 1 ในคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาโดยตลอด เนื่องจากมิได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งคดีนี้มีประเด็นต่อสู้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

การกระทำที่จำเลยถูกฟ้องเป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์จริงหรือไม่ มิใช่เหตุที่ศาลอุทธรณ์ต้องนำมาพิจารณาในการสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตัว เพราะตามมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นมีเพียงห้าเหตุเท่านั้น 

การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดีและเชื่อตามคำฟ้องโจทก์แล้วว่าการกระทำของจำเลยสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งที่ยังมิได้ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ซึ่งขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ​ พ.ศ.​ 2560 จำเลยต้องการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวทำให้ความหมายของระบอบห่างไกลจากประชาธิปไตย หรือทำให้ประชาธิปไตยแยกห่างจากสถาบันกษัตริย์ จำเลยจึงขอความเป็นธรรมในการวินิจฉัยต่อศาลฎีกา

ประเด็นที่ 2 จำเลยประกอบอาชีพทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดี ซึ่งขณะนี้ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่เบิกตัวจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่ทนายความในคดีของ “ต้นไผ่” อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่แน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังไว้เป็นการกระทำเกินแก่เหตุและความจำเป็น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความของจำเลยและเกิดความเสียหายของลูกความเป็นอย่างยิ่ง

ประเด็นที่ 3 ศาลอาญาเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกเพิกถอนประกันตัวในคดีนี้แม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งศาลเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้เพื่อรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลับมาประเทศไทยรายงานตัวต่อศาลตามกำหนดนัด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัวแล้วจะไปก่อเหตุหรือหลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยมีบุตรผู้เยาว์จำนวน 2 คน และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดูด้วย

ประเด็นที่ 4 จำเลยยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นมิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอให้เชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยวสิทธิมนุษยชนแล้ว การใช้ดุลพินิจคำสั่งให้จำเลยได้รับการประกันตัว จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย รวมถึงได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล จะเป็นผลดีอย่างประเทศไทยเพราะเป็นการบังคับใช้กฎหมายภายในที่เป็นไปตามหลักสากล

.

ต่อมาในวันที่ 20 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า ‘พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี กรณีเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี และให้นับโทษต่อหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง’

ผลของคำสั่งศาลฎีกาในวันนี้ ยังคงทำให้อานนท์ยังถูกคุมขังระหว่างชั้นอุทธรณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป จนถึงวันนี้ (20 มิ.ย. 2567) เขาถูกคุมขังมาแล้ว ​269 วัน หรือเกือบ 9 เดือนแล้ว  ซึ่งนับว่าเป็นการถูกคุมขังต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดเท่าที่อานนท์เคยถูกคุมขังมา โดยอานนท์ต้องคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้จำคุก 10 ปี 20 วัน หลังจากมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้น 3 คดี และไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมาแม้ทนายความจะยื่นประกันทั้งสามคดีรวมแล้วเป็นจำนวน 13 ครั้ง  พร้อมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีต่าง ๆ ต่อมา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “อานนท์” อีก 4 ปี เหตุโพสต์ 3 ข้อความ ชี้ แม้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่มีนัยยะสื่อถึง ร.10 เจตนาให้ ปชช.เข้าใจผิด

X