“ลูกมาร์ค” บัณฑิต มธ. เข้ามอบตัว หลังทราบมีหมายจับคดี ม.116 กรณีเป็น MC ในงานชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ปี 63 ก่อนตำรวจให้ประกันตัว

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 15.30 น. ที่ สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี “ลูกมาร์ค” (นามสมมติ) อายุ 24 ปี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้ามอบตัวในคดี ม.116 ที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 บริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2566  “สาธร” (นามสมมติ) ผู้ต้องหาในคดีเดียวกัน ได้เดินทางไปติดต่อราชการที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ แล้วพบว่าตนเองมีหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีอยู่ จึงได้ถูกตำรวจจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เจ้าของคดี โดยตำรวจได้แจ้งว่า ให้สาธรติดตามตัวลูกมาร์คมาเข้ามอบตัวในคดีเดียวกันนี้ด้วย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามกระบวนการ และลดความยุ่งยากต่อการทำสำนวนคดีของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่สาธรจะได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยวางเงินเป็นจำนวน 50,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

เมื่อลูกมาร์ครับทราบเรื่องหมายจับดังกล่าว จึงได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ เดินทางไปเข้ามอบตัวกับ สภ.คลองหลวง ด้วยตนเอง โดยมีทนายความให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ต่อมาพบว่าเป็นหมายจับที่ศาลจังหวัดธัญบุรีออกไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 โดยลูกมาร์คไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน 

พนักงานสอบสวน สภ. คลองหลวง ได้แจ้งข้อหารวม 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116,  ฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ร่วมกันโฆษณาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีพฤติการณ์ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยลูกมาร์คเป็นผู้ร่วมจัดเวที โดยแสดงตนเป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมดูแลการชุมนุมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ลูกมาร์คได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยทนายความและนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์จำนวน 50,000 บาท เช่นเดียวกันสาธร ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ พร้อมนัดหมายให้มารายงานตัวเพื่อเตรียมส่งสำนวนคดีต่ออัยการต่อไป

ทั้งนี้ ลูกมาร์คได้เปิดเผยว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่ถูกกล่าวหา เมื่อได้ฟังข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น “การชุมนุมในครั้งนั้น เกิดขึ้นในบริเวณของรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งควรเป็นสถานที่ที่นักศึกษาสามารถทำกิจกรรม และใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างปลอดภัย เราไม่ควรถูกดำเนินคดีแบบนี้” 

นอกจากนี้ ลูกมาร์คยังได้กล่าวต่อว่า ถึงแม้ข้อกล่าวหาหลักที่ตนเองโดนจะเป็นมาตรา 116 ไม่ใช่ มาตรา 112 ก็เห็นว่าไม่ควรเกิดขึ้น เพราะในวันชุมนุม ลูกมาร์คมีหน้าที่เพียงดำเนินรายการ และพูดเชิญนักกิจกรรมขึ้นมาปราศรัยบนเวทีเท่านั้น ตนไม่ได้ทำการปราศรัยใดๆ บนเวที และไม่ได้มีการพูดยุยงปลุกปั่น ตามข้อกล่าวหาที่ตำรวจแจ้งแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ลูกมาร์คได้ปิดท้ายไว้ว่า ตนเองไม่ได้มีความกังวลเรื่องคดีความที่จะต่อสู้ในชั้นศาล และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อสู้เต็มที่ และคดีความนี้ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกหมดกำลังใจหรือย่อท้อต่อการเข้าร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองแต่อย่างใด

สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวรุ้ง ปนัสยา เป็นผู้อ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ

ในตอนแรก ภายหลังการชุมนุมมีแกนนำนักศึกษาและผู้ขึ้นเวทีปราศรัยถูกดำเนินคดีในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 6 คน ซึ่งคดีได้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดธัญบุรีไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการสืบพยาน 

จากนั้นเมื่อเดือนกันยายน 2565 ตำรวจยังได้ทำการจับกุม “ไฟซ้อน” สิทธินนท์ ทรงศิริ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงที่ทำงานย่านลาดพร้าว โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 โดยไฟซ้อนทำหน้าที่เป็นพิธีกรในการชุมนุมครั้งดังกล่าว และคดีได้ถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดธัญบุรีแล้วเช่นกัน ก่อนมีการดำเนินคดีกับสาธรและลูกมาร์คเพิ่มเติมอีกสองราย รวมจนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนี้รวม 9 คน

X