ทบทวนมหากาพย์การร้องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

วันที่ 20-23 ก.ย. 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ต่ออีกครั้ง

คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 22 ราย ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ส่วนอีก 15 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 116 

แม้ว่าคดีนี้ได้เริ่มนัดสืบพยานโจทก์ปากแรกมาตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2564 นับเป็นเวลากว่า 9 เดือนแล้ว แต่ทนายจำเลยยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการถามค้านพยานโจทก์ปากแรกได้ เนื่องจากทางจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารเพื่อจะใช้ในการถามค้าน แต่ศาลพิจารณาที่จะไม่ออกหมายเรียกให้ในบางรายการ ส่วนรายการที่ศาลพิจารณาออกหมายเรียกให้แล้ว ทางจำเลยก็ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด

ชวนย้อนอ่านลำดับเหตุการณ์การขอออกหมายเรียกพยานหลักฐานของทนายจำเลยที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นมา

17 พ.ย. 2564

ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานต่างๆ จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วย

1. หมายเรียกถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10
2. หมายเรียกถึงบริษัทการบินไทย เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10
3. หมายเรียกถึงหน่วยราชการส่วนพระองค์ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณราชการส่วนพระองค์ ประจำปีงบประมาณ 2560-2563
4. หมายเรียกถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2560-2564
5. หมายเรียกถึงศาลแพ่ง คําเบิกความพยานโจทก์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ กับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวม 2 คน
6. หมายเรียกถึงศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ กับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวม 2 คน

การขอออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าว เนื่องจากทางอัยการโจทก์ได้สั่งฟ้องคดี โดยระบุไว้ในคำฟ้องว่า คำปราศรัยของจำเลยในประเด็นอาทิ เรื่องงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการที่เสด็จออกนอกประเทศไปประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมนี เป็นข้อความที่เป็นเท็จ ทำให้ฝ่ายจำเลยต้องการเอกสารของทางราชการที่ยืนยันข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

.

26 พ.ย. 2564

ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารอีกครั้ง

.

2 ธ.ค. 2564

ภายหลังพยานโจทก์ปากที่ 1 เบิกความเสร็จสิ้น ทนายความได้แถลงประเด็นขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานเอกสารเพื่อนำมาใช้ในการซักค้านพยาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีการปราศรัยที่เป็น “ความเท็จ” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 

อย่างไรก็ตามศาลอ้างว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกมานี้ เป็นของหน่วยงานภายนอกจึงไม่สามารถก้าวล่วงองค์กรอื่นได้ หากการเรียกพยานหลักฐานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคดี

ศาลกล่าวว่าการหาพยานหลักฐานในชั้นนี้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหามา และขอให้ดูก่อนว่าพยานฝ่ายโจทก์มีความเกี่ยวข้องอย่างไร ถึงอย่างไรหากทนายความถามค้านพยานโจทก์แล้ว ก็เป็นฝ่ายโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จตามที่ฟ้องมาหรือไม่ แต่ศาลก็ไม่ได้ห้ามจำเลยนำพยานหลักฐานดังกล่าวหากหามาได้ และจะนำมาใช้

.

21-22 ก.พ. 2565

ทนายความซึ่งรับมอบอำนาจจากพริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงศ์ จาดนอก ได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานรวม 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศาลแพ่ง, ศาลอุทธรณ์, สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, บริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน เพื่อร้องขอให้จัดส่งเอกสารซึ่งอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานเหล่านี้เข้าไปในคดีความของศาลอาญา
.

8 มี.ค. 2565

ศาลอุทธรณ์ได้ตอบกลับหนังสือมายังทนายจำเลยว่าผู้ร้องต้องดำเนินการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกเอกสารจากผู้ครอบครองก่อน

18 มี.ค. 2565

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้มีหนังสือตอบมายังทนายจำเลยว่าเอกสารการเดินทางที่ได้ขอไปนั้นไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ร้องขอได้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ตาม มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 โดยผู้ร้องขอข้อมูลสามารถอุทธรณ์คําสั่งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
.

29 มี.ค. 2565

ทนายจำเลยได้แถลงต่อว่า ในนัดที่ผ่านมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานไปยังศาลแพ่ง รัชดา, ศาลอุทธรณ์, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, บริษัทการบินไทย รวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ศาลให้จำเลยไปขวนขวายหาหลักฐานมาเองก่อน จำเลยจึงได้ส่งเอกสารไปยังหน่วยงานดังกล่าวเพื่อขอเอกสารหลักฐาน เช่น หลักฐานการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารที่กระทรวงการคลังฟ้องของรัชกาลที่ 7 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดังกล่าวมีจดหมายตอบกลับมาเพียงบางแห่ง โดยระบุว่าเอกสารนั้น ศาลอาญาต้องเป็นผู้ออกหมายเรียกมา

ศาลได้พักการพิจารณา เพื่อปรึกษากับคณะผู้บริหารศาลอาญาเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยซึ่งขอให้ออกหมายเรียกพยานหลักฐานดังกล่าว ก่อนศาลกลับมาแจ้งแก่จำเลยว่า คณะผู้บริหารศาลยังคงยกคำร้องดังกล่าวของฝ่ายจำเลย โดยกล่าวว่าไม่มีเหตุในการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง เนื่องจากพยานเอกสารที่ขอให้ออกหมายเรียกนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการสืบพยานในปากนี้ และขอให้ทนายจำเลยเริ่มถามค้านไปก่อน หากโจทก์นำสืบเรื่องคำปราศรัยเป็นเท็จและพยานโจทก์ได้เบิกความถึงเนื้อหาดังกล่าวค่อยว่ากันอีกครั้ง

นัดพิจารณาคดีครั้งนี้ ทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนคดีเพื่อดำเนินการติดต่อผู้บริหารศาลพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการออกหมายเรียกพยานหลักฐาน ก่อนจะถึงวันสืบพยานโจทก์ในนัดหน้า
.

27 เม.ย. 2565

ทนายจำเลยยื่นหนังสือขอเข้าพบผู้บริหารศาลอาญาในวันที่ 10 พ.ค. 2565 เวลา 13.30 น. เพื่อหารือเรื่องขอออกหมายเรียก
.

10 พ.ค. 2565

ภายหลังทนายจำเลยเข้าพบกับเลขาธิการศาลฯ และอธิบดีศาลแล้ว เพื่อชี้แจงว่าเอกสารที่อยากให้ออกหมายเรียกนั้นมีความสำคัญต่อการสู้คดี ทางอธิบดีและเลขาฯ ชี้แจงว่า อำนาจในการออกหมายเรียกเป็นอำนาจของผู้พิพากษาองค์คณะ ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหาร

.

24 พ.ค. 2565

ในนัดนี้มีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาเนื่องจากมีการโยกย้ายตามวาระ ศาลรับปากว่าจะนำข้อมูลคดีอื่นๆ ของจำเลยในคดีนี้และข้อมูลศาล ส่งต่อให้กับทางอธิบดีเพื่อประสานงานจัดการนัดต่อไป พร้อมทั้งรับคำร้องเรื่องขอออกหมายเรียกพยานเอกสารไปพิจารณา

ศาลยังระบุเกี่ยวกับการขอหมายเรียกเอกสารอีกว่า ศาลจำเป็นต้องดูภาพรวม เพราะมีกฎหมายอื่นนอกเหนือจากที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี ต้องดูความถูกต้องเหมาะสม ความพร้อม และประเด็นที่กล่าวหาเป็นหลัก แต่เรื่องอื่นที่ปลีกย่อยออกไป อาจจะทำให้เสียเวลาของทนายเอง

ศาลได้พิจารณาให้เลื่อนการสืบพยานในวันที่ 24 – 27 พ.ค. นี้ออกไปทั้งหมด เพราะจำเลยหลายรายติดภารกิจต้องรายงานตัวครบสัญญาประกันฯ ประกอบกับในวันที่ 25 พ.ค. พยานโจทก์เองก็ติดภารกิจอื่น โจทก์จึงต้องขอเลื่อนการสืบพยานเช่นกัน

.

2 มิ.ย. 2565 

ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอติดตามคำสั่งการขอออกหมายเรียกพยาน

7 มิ.ย. 2565

ศาลได้กล่าวถึงคำร้องขอให้ออกหมายเรียกพยานหลักฐานที่ทนายจำเลยได้ยื่นเข้ามาอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ซึ่งในคำร้องดังกล่าว กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคในการส่งหนังสือไปขอความอนุเคราะห์ต่อหน่วยงานผู้ครอบครองเอกสาร โดยผลการติดตามปรากฎว่าไม่มีหน่วยงานใดยินยอมส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้ ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้จําเลยไปดําเนินการขอออกหมายเรียกต่อศาลก่อน 

จากนั้น ศาลได้มีคำสั่งต่อคำร้องดังกล่าว ระบุว่า “เพื่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายเป็นหลักประกันหรือคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา เห็นควรออกหมายเรียกคำฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และคำเบิกความพยานโจทก์ให้

“ส่วนรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เห็นว่าเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 ไม่อาจออกหมายเรียกให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้ผู้ร้องรับหมายไปส่งได้”

นัดนี้ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดี เนื่องจากอัยการติดเชื้อโควิด ทำให้ในนัดสืบพยานตลอดเดือน มิ.ย. ต้องเลื่อนออกไป ขณะเดียวกันทางฝ่ายจำเลยได้ขอเลื่อนการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากมีทนายจำเลยหลายคนป่วยจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด
.

8 ก.ค. 2565

ทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนการพิจารณาคดี เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ศาลอาญาออกหมายเรียกพยานหลักฐานไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับคดีที่กระทรวงการคลังฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 แต่ศาลอาญาได้มีคําสั่งแก้ไขคำร้องของทนายจำเลย จากให้หมายถึง “ประธานศาลอุทธรณ์” เป็นหมายถึง “ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอุทธรณ์”

แต่ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอุทธรณ์ได้แจ้งกลับมาว่า การขอหมายเรียกกําหนดให้ประธานศาลอุทธรณ์มีอํานาจสั่งคําร้องคําขอต่างๆ ที่ยื่นต่อศาล ผู้อํานวยการไม่มีอํานาจ จึงเป็นอํานาจหน้าที่ของประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือผู้พิพากษาตามที่ประธานศาลอุทธรณ์มอบหมาย จึงไม่สามารถส่งหมายมาศาลอาญาได้ 

นอกจากนี้ศาลอาญาได้มีคําสั่งให้ส่งเอกสารภายในวันที่ 7 มิ.ย. 2565 แต่ทางผู้อํานวยการเพิ่งได้รับหมาย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2565 จึงเป็นเหตุขัดข้องไม่อาจดําเนินการตามหมายเรียกได้

ขณะที่หมายเรียกที่ส่งไปยังศาลแพ่ง แต่ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลแพ่งปฏิเสธไม่ยอมรับหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าว โดยอ้างว่าหมายเรียกดังกล่าวมีการแก้ไขและวันที่ระบุให้ส่งเอกสารไปยังศาลแพ่งได้ล่วงเลยเวลามาแล้ว จึงไม่อาจส่งหมายให้ได้ โดยเอกสารที่ทางทนายได้ขอให้ออกหมายเรียกเป็นเอกสารสําคัญและจําเป็นต้องใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ในปากผู้กล่าวหา 

ขณะเดียวกัน “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายเรียกพยานหลักฐานจำนวน 4 รายการที่เหลือ ซึ่งศาลอาญายังไม่ออกหมายเรียกให้อีกครั้งหนึ่ง
.

12 ก.ค. 2565

ทนายจำเลยส่งคำแถลงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลนำส่งหมายเรียกพยานเอกสารไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ โดยได้ย้ำว่ามีการวางเงินค่าส่งหมายเรียกไปยังศาลแพ่งแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565
.

5 ส.ค. 2565

ในนัดนี้ ทนายความจำเลยแถลงต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ศาลได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 ไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์แล้ว โดยทราบว่าศาลทั้งสองได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งเอกสารกลับมาให้แต่อย่างใด ทนายจำเลยจึงไม่อาจถามค้านได้ จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดคดีออกไปก่อน


ทนายความจำเลยแถลงอีกว่า ในเรื่องการขอออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เหลือ จะยื่นคำร้องขอข้อมูลลำดับที่ 2-4 ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ หมวดว่าด้วยงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจะร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของศาลนี้ว่า เหตุใดถึงไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ร้องขอไว้

ศาลได้ขอพักการพิจารณาชั่วคราว เพื่อปรึกษากับองค์คณะ ประมาณ 15 นาทีต่อมา ศาลกลับเข้ามายังห้องพิจารณาคดี และเสนอทางเลือกแก่ทั้งสองฝ่ายว่า เห็นควรให้ดำเนินการสืบพยานต่อไป พร้อมๆ กับรอพยานเอกสารที่ได้ออกหมายเรียกไปแล้ว หากทนายจำเลยติดใจพยานโจทก์ปากไหนก็ให้กลับมาถามค้านในภายหลัง เมื่อได้เอกสารมาแล้ว

ศาลแจ้งว่า อัยการโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยาน เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย หากสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้ ศาลก็จะต้องยกฟ้องไป ทนายจำเลยไม่จำเป็นที่จะต้องหาพยานเอกสารมาแก้ต่างรอไว้ก่อน

หลังการถกเถียงดังกล่าว ศาลจึงได้เห็นว่าเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ประกอบกับฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน จึงให้เลื่อนนัดสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 20 ก.ย. 2565


อ่านข้อมูลคดีชุมนุม
#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 


X