วันที่ 13 – 15, 20 – 22 พ.ย., 3 – 4, 11 – 13, 17 – 20 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 – 20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ต่อ หลังจากเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จากเหตุที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญบางส่วนให้ฝ่ายจำเลยตามที่ทนายจำเลยร้องขอ และในพยานเอกสารที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารยังไม่จัดส่งเอกสารให้
คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 22 ราย ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน ส่วนอีก 15 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 116 นอกจากนี้ยังมีข้อหาอื่น ๆ อีกหลายข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
วันที่ 13 พ.ย. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 จำเลยทั้งสิ้น 10 คน ประชาชน และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนเดินทางมาศาลเพื่อสังเกตการณ์คดี ขณะที่ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จำเลยที่ 10 ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาศาลในลักษณะถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อเท้า ส่วน อานนท์ นำภา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และทนายความในคดีนี้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปฟังคำพิพากษาคดีอื่นที่ศาลแขวงดุสิตในช่วงเช้า
ทนายความของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 ประสงค์ถอนทนายความทุกคนจากการเป็นทนายความในคดีนี้ และหากศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 1 เองก็ไม่ประสงค์จะทำหน้าที่อีกต่อไป
ในประเด็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีนั้น ทนายความแถลงว่า มีคดีมาตรา 112 ของศาลนี้ ซึ่งศาลมีคำสั่งให้สืบพยานลับหลังจำเลยและได้ดำเนินการสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ทนายจำเลยในคดีดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการสืบพยานลับหลังจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนมีคำพิพากษา
ศาลกล่าวว่า กรณีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ อนุสอง ถึงแม้พยานโจทก์จะเบิกความไปก็ไม่สามารถรับฟังเป็นผลเสียแก่จำเลยที่สืบพยานลับหลังนั้นได้
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ วรรคท้าย วางหลักไว้ว่า “ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานลับหลังจําเลยคนใด ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณา และการสืบพยาน ที่กระทําลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จําเลยคนนั้น”
ทนายความแถลงอีกว่า กรณีที่จำเลยหลบหนี ควรให้จำหน่ายคดีจนกว่าจะจับตัวจำเลยได้ เนื่องจากทนายความกังวลว่าหากสืบพยานไปแล้ว แล้ววันหนึ่งจำเลยมาแถลงว่าการสืบพยานไม่ชอบก็จะเกิดปัญหา แต่หากจำหน่ายคดีที่จำเลยหลบหนีออกไป ผลในคดีนี้จะได้ไม่ผูกพันจำเลยเหล่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ทนายความยังแถลงให้ความเห็นว่า พนักงานอัยการควรฟ้องแยกคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และมาตรา 116
ศาลกล่าวว่า การใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ วรรคท้าย ก็มีผลคล้ายการจำหน่ายคดี
นอกจากนี้ ศาลกล่าวกับชินวัตรว่า ในกรณีของชินวัตรที่ถูกฟ้องตามมาตรา 116 นั้น หากในระหว่างการพิจารณาคดีชินวัตรถูกคุมขังครบ 7 ปี ตามระวางโทษในคดีนี้แล้ว ศาลก็จะปล่อยตัว ก่อนสอบถามว่า จะถอนประกันในคดีนี้หรือไม่ ชินวัตรแถลงศาลว่า ต้องการถอนประกัน
ทนายความแถลงเพิ่มเติมในประเด็นการทำหน้าที่ทนายความของอานนท์ว่า มีกรณีที่ทนายอานนท์เป็นทนายความในคดีอื่น แต่ศาลไม่อนุญาตให้ว่าความเพราะไม่ได้สวมครุย ซึ่งศาลก็ได้ส่งหนังสือถึงสภาทนายความ 2 ครั้ง โดยสภาทนายความตอบกลับมาว่า หากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ยังไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ ก่อนกล่าวในตอนท้ายว่า คดีของอานนท์ยังไม่ถึงที่สุด หากศาลกรุณาให้ประกันตัวมาอยู่กับลูกก็ดี
ศาลกล่าวว่า กรณีของอานนท์ที่ถูกจำคุกในคดีที่พิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว ศาลก้าวล่วงไม่ได้ ศาลเองก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ประกัน เป็นผู้บริหารศาลที่มีอำนาจ
ชินวัตรลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ในฐานะจำเลยที่ 10 ไม่ได้มีโอกาสพูดอะไรมาก ขอพูดในฐานะตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีครอบครัว มีลูก 3 คน ได้แก่ วัย 9 ปี, 4 ปี และ 8 เดือน ภรรยาเป็นคนลาว ตอนนี้เอาลูกไปฝากที่ลาว แทนที่เด็กจะได้เรียนก็ถูกแยกไปกันหมด ผลกระทบก็คือครอบครัวแตกแยก เด็กที่จะโตมาเป็นกำลังหลักของบ้านเมือง เขาจะคิดอย่างไร จึงขอวิงวอนต่อศาลให้ปรึกษากับผู้บริหารศาลชั้นต้นให้ประกันตัว โดยคดีเหล่านี้เป็นคดีทางความคิด ผมยอมทุกอย่าง ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมมาตลอด ผมรับสารภาพ สำนึกในการกระทำ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ศาลบอกว่าผมหลบหนี
ชินวัตรแถลงต่อไปว่า ขณะนี้โทษของเขารวม 17 ปี 1 เดือน เฉพาะมาตรา 112
ต่อมาเวลา 13.00 น. อานนท์ถูกเบิกตัวมาศาลอาญา ศาลแจ้งกับทนายความว่า ศาลปรึกษากับอธิบดีศาลแล้ว เห็นว่าเพื่อให้คดีดำเนินต่อได้ ศาลจะจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่หลบหนีออกจากสารบบความชั่วคราว ส่วนของจำเลยที่เหลือให้พิจารณาคดีต่อไป
จากนั้นโจทก์แถลงขอนำพยานปาก พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลย แต่ทนายจำเลยได้สอบถามศาลถึงพยานเอกสารสำคัญที่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียก ได้แก่ คําเบิกความพยานโจทก์และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ของศาลแพ่ง ระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ กับ สมเด็จพระปกเกล้าฯ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวม 2 คน
ศาลตรวจสำนวนแล้วแจ้งว่า ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวเข้ามาในสำนวน อานนท์จึงแถลงต่อว่า ทนายจำเลยจำเป็นต้องใช้พยานเอกสารดังกล่าวในการถามค้านผู้กล่าวหา จึงประสงค์จะรอให้ได้เอกสารมาก่อนจึงจะถามพยานปากนี้
ศาลกล่าวว่า ตามบันทึกคำเบิกความ พยานปากนี้เบิกความเกี่ยวกับพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไป อานนท์กล่าวว่า ในชั้นสอบสวนพยานปากนี้ได้ให้การว่า สิ่งที่จำเลยปราศรัยเป็นความเท็จ
อานนท์แถลงต่อไปว่า หากโจทก์รับข้อเท็จจริงได้ว่ารัชกาลที่ 7 เคยถูกฟ้องและถูกยึดวัง ทนายจำเลยก็ไม่ติดใจรอพยานเอกสารดังกล่าว แต่หากโจทก์รับข้อเท็จจริงไม่ได้ ก็ไม่สามารถสืบพยานต่อได้หากไม่มีพยานเอกสาร อย่างไรก็ตาม โจทก์แถลงว่า โจทก์ไม่สามารถรับข้อเท็จจริงตามที่ทนายจำเลยกล่าวได้
สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 แถลงว่า คดีนี้เขาโดนกล่าวหาทั้งมาตรา 116 และมาตรา 112 โดยเดิมกล่าวหามาตรา 116 อย่างเดียว ต่อมามีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในมาตรา 112 และอัยการใช้เวลาเพียง 5 วัน ในการสั่งฟ้อง เขาเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง โดยสิ่งที่เขาปราศรัย เช่น รัชกาลที่ 10 ไม่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น จึงขอออกหมายเรียกตารางการบินมาพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้กล่าวเท็จ
ศาลกล่าวว่า เอกสารจากสำนักพระราชวังและการท่าอากาศยานที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกมานั้น ศาลได้วินิจฉัยเป็นที่ยุติแล้วว่าไม่ออกหมายเรียกให้ ศาลเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์เรื่องดังกล่าว ถ้าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลก็ไม่เคยตัดสินว่าเป็นความผิด
ทนายจำเลยแถลงอีกว่า จำเลยพูดตามข้อมูลที่รับรู้มา จำเลยที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 ก็มีความลำบากใจในการต่อสู้คดี ส่วนจำเลยคนอื่น ๆ ก็ลำบากใจเพราะถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 ซึ่งไม่เป็นธรรม โดยในการปราศรัยแต่ละคนก็ตัดสินใจปราศรัยด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยก็แถลงรับข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ไปแล้วหลายปาก หากโจทก์รับข้อเท็จจริงของจำเลยได้ เช่น รัชกาลที่ 10 ไปพำนักอยู่ที่เยอรมนี เรื่องนี้ก็ตกไป
ศาลกล่าวว่า ขอให้ทนายจำเลยสืบพยานต่อไปก่อน คดีจะได้เดินไปได้ เอกสารบางอย่างที่ขอให้ออกหมายเรียก หากเป็นเรื่องความลับหรือความมั่นคง หน่วยงานรัฐก็ปฏิเสธไม่ส่งให้ได้ ทนายจำเลยกล่าวว่า หากศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ แล้วหน่วยงานเหล่านั้นปฏิเสธก็ต้องให้เหตุผลว่าปฏิเสธด้วยเหตุผลตามกฎหมายว่าอย่างไร
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 7 แถลงว่า การนำสืบให้ศาลเห็นเป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ที่บอกว่าเราพูดเท็จ แต่จำเลยก็ต้องสืบว่าไม่ใช่ความเท็จ ซึ่งถ้าเป็นความจริงนั้น เรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก
จตุภัทร์แถลงต่อไปว่า หากมีพยานเอกสาร แม้พยานโจทก์ 100 ปาก ไม่รับว่าเป็นความจริงก็ไม่เป็นไร เราเอาพยานเอกสารมาพิสูจน์กับศาล ไม่ใช่โจทก์หรือพยาน
อานนท์แถลงเพิ่มเติมว่า เหตุผลใหญ่ ๆ ที่พยานกล้าบอกว่าจำเลยพูดเท็จ เพราะเขารู้ว่าศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารมาให้ ไม่ว่าชาวบ้านหรือตำรวจ ถ้าเขารู้ว่าผมมีพยานเอกสาร เขาไม่กล้าพูด การที่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้เลยตั้งแต่แรกก็เป็นการปฏิเสธความยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง แต่ถ้าศาลออกหมายเรียกแล้วหน่วยงานที่ครอบครองเอกสารปฏิเสธไม่ส่งให้ คนจะได้ไปด่าองค์กรเหล่านั้น ด่าศาลไม่ได้ การออกหมายเรียกพยานเป็นต้นทางในการสืบพยาน
จตุภัทร์แถลงว่า ถ้าจะให้ยุติธรรมก็ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ จะให้ยอมสืบพยานไปโดยไม่มีพยานเอกสารไม่ได้
ทนายความแถลงว่า เหตุผลของผู้พิพากษาที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ในแต่ละสำนวนก็ไม่มีความชัดเจน เช่น ไม่เกี่ยวกับคดี แต่เห็นได้ชัดว่าเกี่ยว
อานนท์แถลงว่า ในฐานะจำเลยและทนายจำเลยในคดีตามมาตรา 112 หลายคดี มีบางคดีศาลระบุในคำพิพากษาว่า จำเลยไม่ขวนขวายหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาของโจทก์
ณัฐชนน ไพโรจน์ จำเลยที่ 15 แถลงว่า พยานมาศาลหลายนัดแต่ไม่ได้เบิกความ ผมเองที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ก็มาศาลหลายนัดเช่นกัน จำเลยยินดีมาทุกนัดเพื่อพิสูจน์ความจริง พวกผมก็สืบพยานได้ แต่เราสู้กันอย่างเต็มที่หรือไม่ ศาลยุติธรรมไม่ใช่สนามรบ ต้องอำนวยความยุติธรรมให้มากที่สุด ไม่ใช่สนามรบที่ฉกฉวยเอาประโยชน์
ณัฐชนนแถลงต่อไปว่า คดีนี้ไม่ได้ตัดสินแค่ชีวิตของจำเลย 22 คน ว่าจะติดคุกหรือไม่ แต่เป็นคดีที่จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ต้องแก้ไขอะไรในประเทศนี้ เราไม่ได้แค่ต่อสู้คดี เรากำลังทำให้ความจริงในประเทศนี้เกิดขึ้น
หลังจากจำเลยหลายคนแถลงคัดค้านการที่ศาลยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารบางชิ้น ศาล พนักงานอัยการ และทนายจำเลยตกลงว่า ให้พนักงานอัยการนำพยานโจทก์ปากที่ไม่เกี่ยวกับพยานเอกสารมาเบิกความก่อน ส่วนพยานเอกสารที่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้นั้น ศาลให้ทนายจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งมา
ต่อมาในวันที่ 14 พ.ย. 2567 โจทก์ได้นำพยาน สุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร เข้าเบิกความและตอบคำถามค้านทนายจำเลยจนเสร็จ
แต่เนื่องจากพยานโจทก์ที่จะเบิกความในวันที่ 15 พ.ย. 2567 ติดราชการ ศาลจึงให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 20 พ.ย. 2567