เลื่อนสืบพยานคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไป ส.ค. 67 เหตุ “สมยศ” ป่วย – “ไบรท์” ไม่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ ทั้งศาลยังไม่ออกหมายเรียกเอกสารสำคัญ

วันที่ 3 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 – 20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ต่อ หลังจากเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จากเหตุที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญบางส่วนให้ฝ่ายจำเลยตามที่ทนายจำเลยร้องขอ และในพยานเอกสารที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารยังไม่จัดส่งเอกสารให้ 

คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 22 ราย ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน คือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ (จำเลยที่ 1), อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 2), “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (จำเลยที่ 3), สมยศ พฤกษาเกษมสุข (จำเลยที่ 4), “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (จำเลยที่ 5), “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก (จำเลยที่ 6) และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 7) อีก 15 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 116 นอกจากนี้ยังมีข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 912 ทนายความ จำเลย และประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจนั่งเต็มห้องพิจารณาคดีซึ่งมีขนาดเล็ก อานนท์ซึ่งเป็นจำเลยและทนายความของภาณุพงศ์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำโดยถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อเท้า

.

ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ในวันนี้สมยศ จำเลยที่ 4 ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากเข้ารับผ่าตัดและมีอาการแทรกซ้อน, ภาณุพงศ์ จำเลยที่ 6 ไม่สามารถติดต่อได้และไม่ได้เดินทางมาศาล และ “ไบรท์” ชินวัตร จำเลยที่ 10 ต้องการมาฟังการพิจารณาคดี แต่ศาลไม่ได้มีคำสั่งเบิกตัวมาจากเรือนจำ จึงขอเลื่อนการสืบพยานออกไป

ด้านโจทก์แถลงว่า นัดนี้ได้เตรียมพยานเข้าสืบจำนวน 1 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหา ซึ่งทนายความยังไม่ได้ถามค้าน

ศาลเห็นว่า เมื่อทนายจำเลยทุกคนมาครบ จำเลยที่ต้องการเลื่อนคดีเป็นส่วนน้อย ประกอบกับการถามค้านยังคงค้างคาอยู่ จึงต้องการให้สืบพยานต่อในนัดนี้

ทนายจำเลยโต้แย้งว่า จำเลยคนอื่น ๆ ไม่ได้ติดขัดปัญหาว่าจะเลื่อนคดี และจำเลยที่ 4 ต้องการฟังการพิจารณาคดีต่อหน้า แต่ครั้งนี้มีเหตุจำเป็น นอกจากนี้ จำเลยหลายคนยังอยู่ด้วยกันในขณะเกิดเหตุ และอ้างกันและกันเป็นพยาน บางคนยืนยันว่าต้องให้สืบพยานต่อหน้า เนื่องจากสภาวะของคดีตอนนี้ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้ และในบางคดีศาลก็พิพากษาโดยอ้างว่าจำเลยไม่ขวนขวายหาพยานหลักฐาน ทำให้เกิดความกังวล ไม่ได้ต้องการให้คดีล่าช้าแต่อย่างใด

ทนายความแถลงต่อไปว่า ชินวัตรซึ่งถูกขังอยู่ตามคำพิพากษาของศาลนี้ในคดีตามมาตรา 112 ศาลก็ไม่ได้เบิกตัวมาจากเรือนจำ นอกจากนี้ ศาลยังปรับเปลี่ยนวิธีการบันทึกคำเบิกความไปเป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง (e – Hearing) ซึ่งทนายความเห็นว่า กระบวนการขอเข้าดูบันทึกวิดีโอค่อนข้างลำบาก จึงต้องการให้จำเลยที่ไม่ได้มาและไม่ได้ขอพิจารณาคดีลับหลังได้ฟังการพิจารณาต่อหน้า เนื่องจากพยานปากผู้กล่าวหาที่โจทก์จะนำเข้าสืบในวันนี้ย่อมพาดพิงถึงจำเลยที่ไม่ได้มาอย่างแน่นอน 

ศาลกล่าวว่า ศาลในคดีนี้ไม่ทราบว่าชินวัตรอยู่ในเรือนจำ เพราะนายประกันไม่ได้แจ้งและไม่ได้ถอนประกันในคดีนี้

อานนท์แถลงเพิ่มเติมว่า เมื่อฟังเหตุผลในการไม่ให้เลื่อนคดีแล้ว ชวนให้คิดว่าศาลเร่งคดีนี้พอสมควร เมื่อจำเลยเขาอยากจะมา กฎหมายไม่ได้ให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่ให้จำเลยมาศาลเพื่อให้มาเผชิญหน้ากัน 

ศาลกล่าวว่า ในตอนนี้มีกฎหมายกำหนดเวลาพิจารณาคดี ศาลต้องปฏิบัติตามกรอบดังกล่าว มีระยะเวลาพิจารณาคดี เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ได้เป็นการเร่งเพื่อลงโทษใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกคน โดยถ้าดูกฎหมายเอง หากมีเหตุจำเป็น ศาลสามารถสืบพยานก่อนฟ้องคดี หรือสืบจำเลยก่อนโจทก์ได้ เราต่างทำหน้าที่ของตน ศาลพิจารณาคดีตามกฎหมาย 

ทนายจำเลยจึงยกตัวอย่างคดี 112 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยคนหนึ่งเรียนต่ออยู่ที่ต่างประเทศ และขอศาลเลื่อนคดี ศาลก็ได้หาทางออกให้ว่า กฎหมายออกเพื่อจัดการคดีในช่วงโควิด-19 เพื่อจัดการคดีที่ค้างคา แต่หากกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถประกันความยุติธรรมได้ ก็สามารถหาทางออกที่สามารถประสาทความยุติธรรมได้

.

นอกจากนี้ ทนายจำเลยยังแถลงถึงเรื่องพยานเอกสารที่ทนายความมีคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียก แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ซึ่งประกอบด้วยเอกสารดังต่อไปนี้

  1. เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 
  2. เอกสารการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทการบินไทย 
  3. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณราชการส่วนพระองค์ ประจำปีงบประมาณ 2560-2563
  4. รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2560-2564

รวมทั้งยังมีพยานเอกสารอีก 2 ฉบับ ที่ศาลมีหมายเรียกไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลทั้งสองยังไม่ได้ส่งเอกสารมาให้แต่อย่างใด ได้แก่ 

  1. คําเบิกความพยานโจทก์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ของศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ กับ สมเด็จพระปกเกล้าฯ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวม 2 คน 
  2. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีหมายเลขคดีดําที่ 197/2482 ระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ กับ สมเด็จพระปกเกล้าฯ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวม 2 คน

โดยทนายความระบุว่า การที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวให้ ทำให้เอกสารสำคัญเหล่านี้ซึ่งจะพิสูจน์ว่าคำพูดจำเลยเป็นความเท็จหรือความจริงไม่เข้ามาสู่สำนวนคดี เช่น เอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของรัชกาลที่ 10 เนื่องจากในการปราศรัย จำเลยได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นเท็จ 

ศาลกล่าวว่า เรื่องความจริงหรือความเท็จ ศาลสามารถวินิจฉัยเองได้ ในการสืบพยานเพียงสืบว่าจำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท เพียงเท่านั้น

อานนท์แถลงว่า ยกตัวอย่างในคดีของตนเอง พยานหลักฐานไม่ได้เข้ามาในสำนวน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกให้ แต่ในคำพิพากษากลับระบุว่า คำปราศรัยส่วนที่กล่าวว่าในหลวงไปเยอรมนีเป็นเรื่องเท็จ และตั้งคำถามว่าเช่นนี้ยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากเมื่อไม่ได้พยานหลักฐานมาทำให้แพ้คดี

อานนท์แถลงต่อไปว่า เราเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่ได้รับความยุติธรรม ประเทศไทยกำลังใช้กระบวนการยุติธรรมปกปิดความจริง ในความเห็นของเขา ถ้าเร่งคดีแล้วไม่เกิดความยุติธรรม เขารอได้เพื่อให้เกิดความยุติธรรม

พริษฐ์ลุกขึ้นแถลงอีกคนว่า ตนไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นนักประวัติศาสตร์ ทำงานรวบรวมคำพิพากษาในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อีกสัก 40 – 50 ปี ที่พวกเราอาจไม่อยู่กันแล้ว แต่เรื่องในวันนี้จะถูกอ่านอย่างแน่นอน ดูว่ากระบวนการทั้งหมดที่ปรากฏจะเป็นธรรมหรือไม่ จึงขอแถลงใน 2 ประเด็น ดังนี้

  1. พวกเราต่อสู้กันเป็นหมู่คณะ เป็นคดีเกี่ยวกับบ้านเมือง ในการต่อสู้คดีก็อยากต่อสู้กันเป็นหมู่คณะ
  2. คำฟ้องกล่าวว่าพูดเท็จ ซึ่งตนเห็นว่าร้ายแรงที่สุด เป็นการกล่าวหาว่าโกหกประชาชน แต่ตนพูดความจริง เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเจตนาดีต่อบ้านเมือง

พริษฐ์ยังแถลงต่อไปอีกว่า กระบวนการยุติธรรมศักดิ์สิทธิ์เมื่อดำเนินการไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ หากไม่มีพยานเอกสาร คนรุ่นหลังจะมองว่ามันเป็นไปด้วยความยุติธรรมอย่างไร

“ผมพร้อมต่อสู้ ก็คงต้องขึ้นชก แต่อย่ามัดมือผมชก” พริษฐ์กล่าว

อานนท์แถลงเพิ่มเติมว่า ตนเจ็บใจมาก ที่ศาลเขียนคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นถึงทนายความรู้กฎหมาย แต่พอไม่มีพยานเอกสารก็กล่าวหาว่า พูดเท็จ 

“เอามาเขียนว่าผมพูดเท็จ มันเจ็บ ยิ่งกระบวนการยุติธรรมไม่ให้สู้ โอเคสุดท้ายพิพากษาว่าผิด จำคุก แต่ไม่ควรให้เป็นบาดแผล”

ทนายจำเลยยังแถลงว่า ในข้อหาตามมาตรา 116 ความสุจริตเป็นสิ่งสำคัญ หากเป็นเท็จเท่ากับว่าไม่สุจริต เป็นความผิดตามมาตรา 116 ซึ่งในข้อกล่าวหานี้ก็ต้องการพยานหลักฐานชุดเดียวกันมาพิสูจน์

ในส่วนความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งองค์ประกอบความผิดมีทั้ง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ก็ต้องใช้นิยามตามประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทมีข้อยกเว้นตามมาตรา 330 ว่า หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ไม่ต้องรับโทษ

อานนท์กล่าวเสริมว่า หากพูดความจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ก็ให้ความคุ้มครอง กล่าวคือ หากพระมหากษัตริย์ปฏิบัติตนไม่เป็นที่เคารพสักการะ ก็ควรวิจารณ์ได้ การบอกว่าพูดความจริงก็ผิด มันประหลาดมาก

ศาลกล่าวว่า ศาลยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า เหตุที่ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ฝ่ายจำเลยนั้น เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี  ทนายจำเลยจึงแถลงว่า อย่างไรก็จะขอส่งคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารดังกล่าวอีกครั้ง โดยจะอธิบายเหตุผลและความสำคัญของพยานเอกสารเหล่านั้นเพิ่มเติม และจะขอให้มีการติดตามเอกสารที่ยังไม่ได้รับต่อไป

ภายหลังการโต้แย้งของทนายความและจำเลยเกี่ยวกับเหตุที่ขอเลื่อนคดี และการที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่ใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยเข้ามาในสำนวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 7 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. โดยยกเลิกวันนัดเดิมในวันที่ 4 และ 5 เม.ย. 2567

X