วันที่ 5 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ ในคดีสืบเนื่องจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง
คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งหมด 22 ราย ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน คือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อีก 15 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามมาตรา 116
ศาลออกหมายเรียกเอกสาร คดี กท.คลังฟ้อง ร.7 แต่ยังไม่ได้เอกสาร และศาลยังคงไม่ยอมออกหมายเรียกประเด็นงบใช้จ่ายของกษัตริย์-ร.10 ไปเยอรมนี
ในคดีนี้ ศาลกำหนดนัดสืบพยานมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่นัดแรกในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 แต่จนถึงปัจจุบันดำเนินการสืบพยานโจทก์ไปได้เพียงปากเดียวเท่านั้น คือ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร รองผู้บังคับการกองกำกับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งในขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม และยังไม่ได้มีการถามค้านของทนายจำเลย
สาเหตุหลักของการเลื่อนคดีออกไปหลายครั้งและยังไม่มีการถามค้านพยานโจทก์ปากแรก มาจากสาเหตุที่ศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารบางส่วนที่ทนายความจำเลยได้ร้องขอเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี ดังนี้
- เอกสารเกี่ยวกับคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เพื่อเรียกคืนทรัพย์สินที่เห็นว่ามีการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นของส่วนพระองค์โดยไม่มีอำนาจ
- เอกสารการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงเสด็จประทับที่ประเทศเยอรมนี
- ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนพระองค์ประจำปีงบประมาณ 2563
- ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2560-2564
ในตอนแรกศาลให้จำเลยไปขวนขวายหาหลักฐานมาเองก่อน ทว่าเมื่อทนายทำหนังสือไปเพื่อขอข้อมูล กลับมีแค่หน่วยงานบางแห่งที่ตอบกลับมา ระบุว่าเอกสารเหล่านั้น ศาลอาญาต้องเป็นผู้ออกหมายเรียกเท่านั้น
จนถึงปัจจุบัน เอกสารลำดับที่ 1 ศาลยินยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ทนายความจำเลยแล้ว หลังยื่นขอให้ศาลออกหมายเรียกเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 8 ก.ค. 2565 ด้านเอกสารลำดับที่ 2-4 ศาลยังคงไม่ออกหมายเรียกให้ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ และชี้แจงว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสียหายและเป็นข้อมูลความมั่นคงเป็นข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ข้อติดขัดดังกล่าวจากการที่ศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารข้างต้น ทำให้การสืบพยานไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากทนายจำเลยขาดข้อมูล ‘ส่วนสำคัญ’ ในการใช้ถามค้านพยานโจทก์ ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนสืบพยานไปก่อนเช่นเดียวกับนัดในวันนี้
ทนายจำเลย-จำเลย ยืนยันเสียงเดียวกัน พยานเอกสารสำคัญต่อการถามค้านพยานโจทก์ ถ้าศาลไม่ออกหมายเรียก จะไม่สามารถสืบพยานได้
เวลา 10.30 น. ศาลได้ออกพิจารณาคดี ณ ห้องพิจารณาที่ 704 ระหว่างที่ศาลกำลังจะเริ่มต้นสืบพยาน เจ้าหน้าที่ศาลได้เข้าไปตักเตือน “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ เพื่อขอความร่วมมือในการหยุดใช้โทรศัพท์มือถือ
ขณะเดียวกันพริษฐ์พยายามจะลุกเดินไปนั่งด้านหน้าคอกบริเวณหน้าบัลลังก์พร้อมกับทนายความจำเลย เพราะเสียงพูดผ่านไมค์ของศาลค่อนข้างเบา แต่ศาลได้ให้พริษฐ์กลับไปนั่งยังที่เดิมของตนเอง
เมื่อศาลจะให้ดำเนินกระบวน โดยให้ทนายความจำเลยถามค้านพยานโจทก์ปากแรกที่ยังไม่ได้ถามค้าน แต่ทนายจำเลยได้ลุกขึ้นและแถลงยืนยันต่อศาลว่า “หากไม่ได้พยานเอกสารตามที่ขอให้ศาลออกหมายเรียก ทนายความจำเลยจะไม่สามารถทำการถามค้านพยานโจทก์ได้เลย”
ทนายความจำเลยแถลงต่อศาลอีกว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ศาลได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารคดีที่กระทรวงการคลังเคยฟ้องร้องรัชกาลที่ 7 ไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์แล้ว โดยทราบว่าศาลทั้งสองได้รับหมายเรียกพยานเอกสารแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งพยานเอกสารกลับมาให้แต่อย่างใด ทนายความจำเลยจึงไม่อาจถามค้านได้ จึงขอให้ศาลเลื่อนนัดคดีออกไปก่อน อีกทั้งทนายความจำเลยได้สอบถามความเห็นของจำเลยในคดีนี้ทั้งหมดแล้ว จำเลยยินดีหากศาลให้เลื่อนนัดออกไป
ทนายความจำเลยแถลงอีกว่า หากให้เปรียบเทียบการที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ตามที่ขอ คงจะเปรียบได้กับการทำคดีฆ่าคนตาย และทนายร้องขอภาพจากกล้องวงจรปิดว่าขณะนั้นจำเลยอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
ทนายความเห็นว่า การถามค้านนั้นไม่จำเป็นจะต้องถามค้านประเด็นโดยตรงกับที่พยานโจทก์เบิกความ แต่เป็นการถามค้านในบริบทแวดล้อมอื่นก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันเพื่อทำลายน้ำหนักของพยานโจทก์ปากนั้น
ทนายความจำเลยแถลงว่า หมายเรียกพยานเอกสารที่ส่งไปยังศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ ขณะนี้ทนายจำเลยยังไม่ได้รับการตอบกลับมา พริษฐ์และปนัสยา ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ถูกอัยการสั่งฟ้องไว้ชัดเจน โดยในคำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้งสองได้กล่าวปราศรัยเรื่องงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการที่กษัตริย์เดินทางออกนอกประเทศไปประทับอยู่ ณ ประเทศเยอรมนี ว่าเป็นความเท็จ
ฉะนั้นทนายความจำเลยต้องการจะพิสูจน์ว่า ตามพยานเอกสารยืนยันคำปราศรัยของจำเลยตามฟ้องว่าเป็นจริงหรือไม่ และต้องการยืนยันว่าสิ่งที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นเท็จ แต่ถ้าหากไม่ได้พยานเอกสาร กระบวนการพิจารณาคดีนี้จะเป็นไปอย่างไม่ยุติธรรม และอาจจะทำให้จำเลยต้องถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย
ทนายความจำเลยกล่าวอีกว่า “แต่ถ้าศาลยินดีออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ตามที่ขอ ทนายจำเลยและจำเลยก็จะได้ต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม และหากคำพิพากษาออกมาเป็นเช่นไรก็ยินดีจะน้อมรับผล”
จากนั้นศาลกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มีข้อยกเว้นไว้ว่า “ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ” แต่ศาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้อย่างยุติธรรม
ทนายจำเลยแถลง จะร้อง กมธ.การยุติธรรมฯ ให้ตรวจสอบ และร้องขอข้อมูลจาก กมธ.พิจารณางบฯ แทน
ทนายความจำเลยแถลงอีกว่า หากศาลไม่ยอมหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ขอ ทนายจำเลยจะดำเนินการขั้นต่อไปตามเห็นสมควร โดยจะยื่นคำร้องขอข้อมูลลำดับที่ 2-4 ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ หมวดว่าด้วยงบประมาณทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจะร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของศาลนี้ว่า เหตุใดถึงไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารตามที่ร้องขอไว้
ทนายจำเลยย้ำอีกว่า ถ้อยคำการปราศรัยเรื่องงบประมาณส่วนพระมหากษัตริย์และกรณีการเดินทางออกนอกประเทศของรัชกาลที่ 10 ไปประทับอยู่ยังประเทศเยอรมันนั้น ไม่ได้เป็นประเด็นการต่อสู้คดีที่ไกลเกินไปในคดีนี้ เพราะถ้อยคำทั้งสองประเด็นถูกอัยการสั่งฟ้องไว้และระบุไว้ชัดเจนในคำฟ้องว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวและเป็นข้อความที่เป็นเท็จ
ทนายความจำเลยกล่าวอีกว่า จะทำคำร้องขอปรึกษากับศาลนี้ กรณีศาลยกคำร้องไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารไปถึง 5 ครั้ง โดยระหว่างนี้ทนายจำเลยและจำเลยจะพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ด้วยการพยายามไปค้นหาข้อมูลส่วนนี้เอง โดยได้ร้องขอให้เลื่อนนัดสืบพยานไปในวันที่ 21 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นนัดเดิมที่นัดไว้แล้ว
11.30 น. ศาลได้ขอพักการพิจารณาชั่วคราว เพื่อปรึกษากับองค์คณะ ประมาณ 15 นาทีต่อมา ศาลกลับเข้ามายังห้องพิจารณาคดี และเสนอทางเลือกแก่ทั้งสองฝ่ายว่า เห็นควรให้ดำเนินการสืบพยานต่อไป พร้อมๆ กับรอพยานเอกสารที่ได้ออกหมายเรียกไปแล้ว หากทนายจำเลยติดใจพยานโจทก์ปากไหนก็ให้กลับมาถามค้านในภายหลัง เมื่อได้เอกสารมาแล้ว
ทนายความจำเลยแถลงว่า แม้จะสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ในประวัติศาสตร์ไทยแทบจะไม่มีใครทำกันเลย อีกทั้งในวันนี้ยังมีจำเลย 1 ราย คือ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ที่ไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้ เนื่องจากเพิ่งถูกจับกุมในคดีมาตรา 112 และปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้นจะให้ทำการพิจารณาลับหลังจำเลยรายนี้ ทนายก็ยังไม่ได้ปรึกษากับจำเลย จึงไม่สามารถตัดสินใจพลการได้ อีกทั้งจำเลยมีความประสงค์ที่จะเข้ารับฟังการพิจารณาคดีด้วยตนเองเท่านั้น
ศาลแจ้งว่า อัยการโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยาน เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย หากสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้ ศาลก็จะต้องยกฟ้องไป ทนายจำเลยไม่จำเป็นที่จะต้องหาพยานเอกสารมาแก้ต่างรอไว้ก่อน
พริษฐ์แถลงต่อศาล ขอศาลออกหมายเรียกพยาน ย้ำศาลต้องมีความสง่างาม ไม่เช่นนั้นจะทำงานไม่ได้ ดังอดีตผู้พิพากษา
พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้เดินไปยังคอกหน้าบัลลังก์ และขอแถลงต่อศาล 3 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้
1. ศาลบอกว่า อยากรีบดำเนินการพิจารณาคดีนี้ให้เร่งรัดมากที่สุด เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของจำเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเรียนและการทำงาน แต่หากศาลเห็นแก่ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจริงๆ ไม่ควรดำเนินคดีให้เสียเวลาตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อดำเนินคดีมาจนถึงตอนนี้แล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การอำนวยความยุติธรรมให้ได้ต่อสู้อย่างเป็นธรรม
2. ศาลจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ศาลต้องมีความสง่างาม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หลักฐานและความจริงของทั้งสองฝ่ายต้องได้รับโอกาสในการนำเสนอ ดำเนินไปด้วยกติกาที่เป็นเป็นธรรม หลักฐานจำเลยที่พยายามจะขอเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอัยการฟ้องว่าจำเลยปราศรัยเป็นการโกหกประชาชน โกหกสังคม จำเลยต้องการที่จะพิสูจน์ว่า การพูดตามที่ถูกฟ้องนั้นเป็นไปอย่างสุจริต ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์แต่อย่างใด
“การที่ศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานให้นั้น เท่ากับเป็นการมัดมือชกพวกเราให้สู้โดยไม่มีอาวุธป้องกันตัวเลย”
3. พริษฐ์ได้ยกคำพูดของ “สมลักษณ์ จัดกระบวนพล” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ว่า “หากประชาชนหมดศรัทธา ตุลาการจะทำงานไม่ได้” ให้ศาลฟัง
และกล่าวต่อว่า กติกาของกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง ศาลต้องดำเนินไปกับทุกคนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะความยุติธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ไม่ว่าจะคดีไหน ศาลไหน ความสง่างามเป็นสิ่งที่จะทำให้ศาลทำงานได้
พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า “เรื่องนี้นั้นแก้ปัญหาได้ง่ายนิดเดียว ไม่ได้ยุ่งยาก ศาลเพียงอนุญาตให้มีการออกหมายเรียกพยานตามที่ได้ร้องขอไปแล้ว”
ทนายจำเลยย้ำ พยานเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกใช้เพื่อ ‘ถามค้านพยานโจทก์’ ไม่สามารถให้พยานโจทก์เบิกความไปก่อนแล้วถามค้านทีหลัง
จากนั้นทนายความจำเลยแถลงอีกว่า พยานเอกสารที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกนั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการสืบพยานจำเลย ‘แต่ใช้ในการสืบพยานโจทก์’ เพราะการสืบพยานโจทก์มีทั้งขั้นตอนของการที่อัยการโจทก์นำสืบ พยานโจทก์เบิกความ ทนายความจำเลยถามค้าน และอัยการโจทก์ถามติง
ทนายความจำเลยย้ำอีกว่า ศาลอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไป ที่จะให้โจทก์นำสืบไปก่อน แล้วหากทนายจำเลยติดใจค่อยให้ถามค้านในภายหลังเมื่อได้เอกสารมาแล้ว วิธีนี้จะทำให้จำเลยเสียเปรียบ เพราะพยานโจทก์ปากอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เบิกความก็จะรู้ว่าพยานโจทก์ปากก่อนหน้านั้นได้เบิกความอะไรไปบ้าง
ศาลกล่าวยืนยันว่า “ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ วิธีที่ศาลเสนอเป็นไปตามขั้นตอนของการสืบพยานตามวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว”
ทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลอีกว่า ขอให้ศาลเลื่อนนัดออกไป เพื่อจะได้เตรียมรอพยานเอกสารจากศาลอุทธรณ์และศาลแพ่งที่ได้ส่งหมายเรียกไปแล้ว ถ้าถึงเวลานั้นแล้วยังไม่ได้พยานเอกสารอีก ค่อยพูดคุยกันอีกครั้งว่าจะเอาอย่างไรดี
ศาลตอบกลับว่า ไม่แน่ใจว่า การ ‘รอ’ จนกว่าทนายความจำเลยจะได้พยานเอกสารมานั้นจะคือวิธีที่ดีหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเลื่อนนัดออกไปไม่รู้จบสิ้นทุกครั้งไป หากเลื่อนนัดไปวันที่ 20 ก.ย. 2565 แล้วทนายจำเลยยังไม่ได้พยานเอกสารอีก ศาลจะขอให้เริ่มการสืบพยานโจทก์ในวันนั้นเลยทันที
ทนายความจำเลยกล่าวว่า ปัญหาของการพิจารณาในคดีนี้อยู่ที่ศาล ไม่ใช่จำเลย เพราะศาลไม่ยอมออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ฝั่งจำเลย ทนายจำเลยจึงไม่สามารถทำการถามค้านได้ แต่ศาลตอบว่า การหาหลักฐานมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นหน้าที่ของจำเลยมาตั้งแต่ต้นแล้ว
หลังการถกเถียงดังกล่าว ศาลจึงได้เห็นว่าเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ประกอบกับฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน จึงให้เลื่อนนัดสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 20 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 และให้ยกเลิกนัดสืบพยานในเดือนนี้
อ่านข้อมูลคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร