สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต ก่อนเริ่มสืบพยานคดีแอบอ้างที่กำแพงเพชร

ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 60 เป็นต้นไป ยาวไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีกำหนดเริ่มสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีมาตรา 112 ของนางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) กรณีแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกหาผลประโยชน์ รวมทั้งหมด 20 นัด เฉลี่ยมีการสืบพยานราวเดือนละ 2-3 นัด

จำเลยสี่รายในกรณีนี้ ได้แก่ นางอัษฎาภรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยปลอมหนังสือของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ และนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ก่อนจำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกจับกุมตัวในช่วงเดือน ส.ค. 58

ในคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ หนึ่งในจำเลย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้รับทราบหรือเกี่ยวข้องกับการแอบอ้าง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากกรณีนี้ เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชวนให้ไปร่วมทำบุญที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชรในช่วงเดือนเม.ย. 58 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (ดูเรื่องราวของนพฤทธิ์)

คดีนี้ดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยตั้งแต่อัยการสั่งฟ้องคดีในเดือน พ.ย. 58 ยังไม่สามารถเริ่มสืบพยานได้ ทั้งเนื่องจากจำเลยมีแนวทางต่อสู้คดีไม่เหมือนกัน โดยนายวิเศษและนายกิตติภพได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่จำเลยอีกสองรายเลือกจะต่อสู้คดี ทำให้ต้องรออัยการแยกฟ้องจำเลยที่สู้คดีเข้ามาใหม่ และทั้งเหตุที่ทางอัยการโจทก์ได้มีการฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมเข้ามา ภายหลังกำลังจะเริ่มสืบพยานในเดือน พ.ย. 59 แล้ว ทำให้ต้องมีการนัดพร้อมถามคำให้การใหม่ และรอศาลสั่งให้รวมการพิจารณาคดีที่ฟ้องเข้ามาใหม่นี้กับคดีเดิม ส่งผลให้การสืบพยานเนิ่นช้าออกไป

ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมา นายนพฤทธิ์เองยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และแม้ทนายความจะพยายามยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 และขอให้ศาลยกฟ้องในข้อหานี้ เพื่อส่งผลให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว เนื่องจากไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญบางข้อ แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยยกคำร้องมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้

รวมทั้งญาตินพฤทธิ์เอง ยังพยายามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับทางอัยการสูงสุด โดยร้องเรียนว่ามูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อัยการฟ้องจำเลยนั้น หารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 การกระทำตามฟ้องไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด จึงได้ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้อัยการจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาท และขอให้ถอนฟ้องคดีในความผิดตามมาตรา 112 ด้วย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด

รายงานชิ้นนี้ชวนย้อนกลับไปทบทวนองค์ประกอบของบุคคลที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครองกันใหม่อีกครั้ง พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าทั้งสำนักพระราชวัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลยุติธรรมในคดีที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 คดี ล้วนวินิจฉัยว่าสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามความหมายที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครอง การปล่อยให้มีการดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมและตัวกฎหมายมาตรานี้เองอีกด้วย

.

.

อ่านมาตรา 112 และกฎมณเฑียรบาลซ้ำๆ อีกครั้ง

หากดูเนื้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” จะเห็นได้ว่าตัวบทคุ้มครองบุคคลที่อยู่ใน 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ความผิดตามมาตรานี้จึงไม่ใช่เรื่องของ “การหมิ่นเบื้องสูง” หรือ “หมิ่นสถาบัน” อย่างที่สื่อมวลชนมักใช้คำเหล่านี้ในการรายงานข่าว เพราะไม่ได้มีองค์ประกอบเรื่องการคุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ หรือบุคคลอื่นใดนอกเหนือไปจากบุคคลใน 4 สถานะดังกล่าวเท่านั้น

กรณีความเข้าใจว่ามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพฯ อาจเนื่องมาจาก “ความเข้าใจผิด”, “ความสับสน” หรือ “ความตั้งใจตีความ” ก็ตาม ว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงอยู่ในตำแหน่ง “รัชทายาท” ด้วย อันเนื่องมาจากการได้รับการสถาปนาเป็น “สยามบรมราชกุมารี”

หากพิจารณากรณี “รัชทายาท” ในทางกฎหมายนั้น ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 (1) ระบุว่า “พระรัชทายาท คือเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป”

ขณะที่ตามมาตรา 5 ของกฎมณเฑียรบาลระบุว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นพระรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดําริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ว่าท่านพระองค์นั้นจะสามารถสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์

“แต่การที่สมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ให้เป็นพระรัชทายาทเช่นนี้ให้ถือว่าเป็น การเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น”  (เน้นโดยผู้เขียน)

จากความดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ควรจะทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยมและขัตติยราชประเพณี…” (เน้นโดยผู้เขียน)

ขณะที่การประกาศสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2520 ก็ไม่ได้เป็นการระบุเรื่องการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทแต่อย่างใด เป็นแต่อย่างเพียงการ “สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสรยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฏลเศวตฉัตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปตามโบราณขัตติราชประเพณี” (ถ้อยความในประกาศสถาปนา)

สรุปความได้ว่าตลอดเกือบห้าสิบปีที่ผ่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาบุคคลในตำแหน่งองค์รัชทายาทไว้เพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ดังที่ต่อมา สมเด็จพระบรมฯ เองก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี  ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่ได้คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แต่อย่างใด

.

สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท: ความเห็นสำนักพระราชวังและกฤษฎีกา ปี 2532

ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่สถาบันในกระบวนการยุติธรรมเองก็ตระหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยหากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2532 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ ไว้แล้ว (ดูในเอกสารเลขเสร็จที่ 281/2532 เดือนมิถุนายน 2532 บันทึกเรื่องการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาทตามมาตรา 112 และในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

ในครั้งนั้น ทางกรมตำรวจ (ขณะนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัยถึงสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ โดยบันทึกฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าทางกรมตำรวจเคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังในเรื่องนี้ และสำนักพระราชวังได้เคยแจ้งว่าในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า “สยามบรมราชกุมารี” ในท้ายพระนามของพระเทพฯ ซึ่งแปลว่าลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น “สยามมกุฏราชกุมารี” จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่อย่างใด

ครั้งนั้น ทางกรมตำรวจได้สอบถามมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (1) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ และ (2) หากไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะทำอย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่สำนักพระราชวังเคยตอบต่อกรมตำรวจ กล่าวคือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้

ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 326 ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้ ดังนั้น ในกรณีสมเด็จพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ท่านซึ่งเป็นผู้เสียหาย ทรงสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ และฟ้องคดีอาญาแทนได้

.

คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ที่นครสวรรค์

ขณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบข้อมูล ก็ปรากฏกรณีที่มีการกล่าวหาและดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ อยู่เช่นกัน รวมทั้งมีการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายเอาไว้

คดีแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2547 เป็นคดีของนายประจวบ นักธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ในศาลจังหวัดนครสวรรค์รวม 2 กรรม โดยกล่าวหาว่าได้แอบอ้างตัวว่าเคยถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถ และกล่าวหาว่าแอบอ้างกับผู้สื่อข่าวว่าเคยถวายงานสมเด็จพระราชินี และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้มีคำพิพากษาในปลายปี 2547 ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 โดยให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี 2 กระทง รวม 10 ปี โดยในประเด็นเรื่องสมเด็จพระเทพฯ นั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าคำว่า “รัชทายาท” หมายความถึง “พระราชโอรส” หรือ “พระราชธิดา” ทุกพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หาใช่เพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านทรงอยู่ในความหมายของคำว่า “รัชทายาท” แห่งมาตรา 112 แต่ทั้งนี้มิได้มีประเด็นก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด

หากแต่ในปี 2548 ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษาแก้ว่าการถอนหรือแต่งตั้งองค์รัชทายาทเป็นไปตามกฎมณเทียรบาล อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อันเป็นกฎหมายเฉพาะ และเนื่องจากสมเด็จพระเทพฯ มิใช่องค์รัชทายาท การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112  แต่ในส่วนที่จำเลยอ้างถึงสมเด็จพระราชินีฯ และสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ ถือเป็นความผิด ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี

ส่วนในชั้นศาลฎีกา เมื่อปี 2552 ได้พิพากษาเห็นตามศาลอุทธรณ์ แต่ได้แก้ให้ลดโทษจำคุกจำเลยจาก 5 ปี เป็น 4 ปี เพราะจำเลยไม่เคยทำความผิดทางอาญามาก่อน และยังคงแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน

.

คดีแจกปลิวการเมืองที่ศาลนนทบุรี

กรณีที่พบอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของนายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี โดยจำเลยถูกกล่าวหาจากกรณีการแจกใบปลิวเอกสารบริเวณท่าน้ำนนทบุรีในช่วงปี 2550 โดยมีฟ้องตามมาตรา 112 จำนวน 4 กรรม โดยกรรมหนึ่งในคำฟ้องได้ระบุถึงการแจกจ่ายเอกสารที่มีข้อความใส่ความสมเด็จพระเทพฯ ต่อประชาชน โดยอัยการโจทก์ระบุว่าทรงเป็น “องค์รัชทายาท” ทำให้เข้าข่ายมาตรา 112 ขณะที่กรรมอื่นๆ เป็นข้อความที่พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

คดีนี้มีการสืบพยานในช่วงปี 2558 โดยข้อต่อสู้หนึ่งของจำเลยที่ถูกคุมขังตลอดมาในเรือนจำ คือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 โดยที่พนักงานสอบสวนสภ.เมืองนนทบุรี ในฐานะพยานโจทก์ ได้ขึ้นเบิกความระบุว่าหลังจากได้ส่งสำนวนคดีนี้ไปยังพนักงานอัยการแล้ว อัยการได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นรัชทายาท พนักงานสอบสวนจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง และได้รับหนังสือตอบจากสำนักพระราชวังว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียว โดยมีการอ้างส่งหนังสือของสำนักพระราชวังเข้าเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยที่เอกสารดังกล่าวศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาเอาไว้

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อเดือน ธ.ค. 58 โดยพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 6 ปี แต่ศาลไม่วินิจฉัยในประเด็นสมเด็จพระเทพฯ ว่าเป็นบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 หรือไม่ เนื่องจากศาลให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกันทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ (ดูในรายงานข่าว)

.

คดีกล่าวข้อความพาดพิงสมเด็จพระเทพฯ ที่ศาลธัญบุรี

คดีล่าสุดที่พบ ได้แก่ คดีของ “อานันท์” (นามสมมติ) ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้กล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2555 โดยถูกกล่าวหาว่าได้พูดข้อความดังกล่าวระหว่างการสนทนาส่วนตัว อัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยตามมาตรา 112 และมาตรา 326 โดยระบุว่าสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นองค์รัชทายาท

คดีนี้ ฝ่ายจำเลยได้รับการประกันตัว และมีการต่อสู้คดีเช่นกันว่าทั้งสองพระองค์ไม่ได้เป็นบุคคลตามองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 แต่ในคดีนี้ ศาลได้ให้มีการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ทำให้องค์กรหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถทราบรายละเอียดระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีได้

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยได้ใส่ความบุคคลทั้งสองพระองค์จริง แต่การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจาก “รัชทายาท” ตามมาตรา 112 หมายถึงสมเด็จพระบรมฯ เท่านั้น ศาลจึงให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี หากต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และมีรายงานว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยในทั้งสองข้อหาแล้ว

.

.

การโยนภาระให้จำเลยต่อสู้คดี และพิสูจน์ข้อกฎหมายเอง

จะเห็นได้ว่าคดีความข้างต้น แม้ในที่สุดศาลจะมีคำพิพากษาไปในแนวทางที่ว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพฯ ก็ตาม แต่กระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ หรือแม้แต่ศาลเอง ได้โยนภาระให้ฝ่ายจำเลยต้องต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ด้วยตนเอง โดยที่จำเลยบางรายเองก็ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี

เช่นเดียวกับคดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลเอง ได้ปฏิเสธจะพิจารณาหรือตีความข้อกฎหมาย ทั้งที่การสั่งฟ้องและดำเนินคดีมาโดยตลอดนั้น ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาตามมาตรา 112 แต่อย่างใด หากกลับผลักภาระให้ฝ่ายจำเลยต้องพยายามพิสูจน์และนำเสนอประเด็นทางกฎหมายเอง

ทั้งในส่วนของจำเลยสองรายในคดีนี้ที่ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลยังพิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 โดยไม่มีการพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายใดๆ ว่าการกระทำของจำเลยที่รับสารภาพนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามข้อหานี้หรือไม่ อย่างไร

อีกทั้ง ไม่เพียงประเด็นเรื่ององค์ประกอบบุคคลที่ตัวบทให้การคุ้มครอง หากตีความมาตรา 112 อย่างเคร่งครัด กรณีการกระทำผิดในการแอบอ้างต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรานี้เช่นกัน เนื่องจากการแอบอ้างมีเจตนาต่างจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการกระทำในลักษณะการแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็มีความผิดฐานฉ้อโกงกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว แต่การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีต่อกรณีแอบอ้างก็เป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้นภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ (ดูเพิ่มเติมในรายงานโดยไอลอว์)

การไม่ยอมพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเรื่องมาตรา 112 ดังกล่าว ยังส่งผลต่อสิทธิในการประกันตัวของจำเลย โดยญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลเรื่องที่คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งข้อกล่าวหาที่มีโทษสูงนั้นก็คือข้อหาตามมาตรา 112 นั่นเอง ทำให้การไม่ยอมวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวส่งผลมาถึงดุลยพินิจการให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างมาก

การตีความขยายความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง และปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงส่งผลต่อสิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ทำให้จำเลยถูกปฏิบัติเสมือนราวกับ “นักโทษ” ที่ถูกคุมขังตลอดมา ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด ขัดต่อหลักการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence)

การไม่ยึดหลักการตีความโดยเคร่งครัดในกฎหมายอาญา และปล่อยให้มีการดำเนินคดีที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของตัวบทกฎหมายอยู่เรื่อยมานั้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และความน่าเชื่อของระบบกฎหมายในประเทศไทยไปเสียเองอีกด้วย

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ

“ผมเป็นแค่คนที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกปฏิบัติราวกับนักโทษ”: เสียงจากจำเลยคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ หลังการสืบพยานยังไม่เริ่ม

หมายเหตุ 

เอกสารความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเลขเสร็จที่ 281/2532 ที่อ้างอิงถึง ขณะกำลังเขียนรายงานนี้ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.60 ยังสามารถเข้าถึงออนไลน์ได้ แต่ปัจจุบัน (วันที่ 17 ก.ค.60) กลับไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

X