22 พ.ย.59 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสืบพยานโจทก์ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรกับนางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ เพื่อเรียกผลประโยชน์ แต่อัยการโจทก์ได้มีการยื่นฟ้องคดีใหม่ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเข้ามาเพิ่มเติม และได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีเดิม ทำให้การสืบพยานต้องเลื่อนออกไป โดยต้องรอถามคำให้การในคดีใหม่ของจำเลยอีกสองคนก่อน ศาลจึงให้นัดถามคำให้การใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
สำหรับเหตุในกรณีนี้ ประกอบด้วยจำเลยจำนวนสี่คนได้แก่ นางอัษฎาภรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ก่อนจำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกจับกุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58
ต่อมา นายกิตติภพและนายวิเศษ ได้ให้การรับสารภาพในคดีข้อหาตามมาตรา 112, ปลอมแปลงเอกสารราชการ และสวมเครื่องแบบเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ ศาลจึงพิพากษาความผิดจำเลยทั้งคู่ ให้จำคุกคนละ 7 ปี 4 เดือน ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 3 ปี 8 เดือน เนื่องจากให้การรับสารภาพ ขณะที่นางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการแยกฟ้องจำเลยทั้งสองคนเป็นคดีใหม่เข้ามา และกำหนดนัดเริ่มสืบพยานตั้งแต่เดือนพ.ย.59 เป็นต้นไป
แต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย.59 พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้ยื่นฟ้องจำเลยสี่คนในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตนเป็นคนอื่นเข้ามาเพิ่มเติม อัยการโจทก์ได้แถลงศาลถึงเหตุที่เพิ่งมีการฟ้องคดีเพิ่มเติม ว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อผู้ต้องหาทั้งสี่คนมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้ว แต่การทำสำนวนในข้อหาดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้ส่งฟ้องคดี แต่เมื่อได้มีการสอบพยานชาวบ้านเพิ่มเติมอีกหลายปากแล้ว และได้พยานหลักฐานเพียงพอ จึงได้มีการสั่งฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชนเข้ามา
อีกทั้ง อัยการโจทก์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรวมการพิจารณาคดีในข้อหามาตรา 112 และข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่ฟ้องเข้ามาใหม่เข้าด้วยกัน เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลเดียวกัน และพยานหลักฐานที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวพันกันและเป็นพยานชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาคดี
ศาลจึงได้สอบถามจำเลยสองคนที่ถูกนำตัวมาศาลในนัดนี้ คือนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ทั้งคู่ได้ยืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่คัดค้านการรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน ด้านนายนพฤทธิ์ ยังได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาล ว่าตนไม่คัดค้านในการรวมการพิจารณาคดี แต่ตนติดคุกมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือนแล้ว โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาทั้งหมดที่มีการฟ้องมา ตนพร้อมจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ขอให้ศาลได้ให้ประกันตัวออกไปต่อสู้คดีและจัดการภาระส่วนตัว โดยตนโดนจับกุมมาขณะอยู่ในชุดทำงาน ไม่มีหมายเรียกมาก่อน งานก็ไม่ได้กลับไปทำอีก และตนก็เพิ่งจะแต่งงานก่อนหน้าโดนจับกุม
ภายหลังการสอบถามจำเลย ศาลได้ขอเข้าไปปรึกษากับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ก่อนจะมีความเห็นว่าเพื่อไม่ให้เสียวันนัดความ ที่มีการนัดสืบพยานไว้แล้วในช่วงวันที่ 22-24 พ.ย. จึงให้เบิกตัวนายกิตติภพและนายวิเศษ จำเลยที่ถูกฟ้องข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมด้วย มาสอบคำให้การในวันต่อมา ขณะที่การสืบพยานให้ยกเลิกนัดในเดือนพ.ย.ไปก่อน
วันที่ 23 พ.ย.59 ได้มีการเบิกตัวจำเลยทั้งสี่คนมาศาล โดยศาลได้มีการแจ้งสิทธิ์ต่อจำเลย และให้อัยการโจทก์ชี้แจงถึงคดีใหม่ข้อหาฉ้อโกงประชาชนที่มีการฟ้องเพิ่มเข้ามา จากนั้น นางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ได้ยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาใหม่นี้ ขณะที่นายกิตติภพได้ขอเวลาติดต่อกับมารดาที่ไม่ได้มาศาลก่อน เพื่อขอคำปรึกษา ส่วนนายวิเศษได้ขอปรึกษากับทนายความ เนื่องจากทั้งคู่เพิ่งทราบว่ามีการฟ้องร้องคดีใหม่เข้ามา แต่เนื่องจากยังไม่มีทนายความ ศาลจึงได้แต่งตั้งทนายความขอแรงเพื่อได้ให้คำปรึกษากับนายวิเศษ และให้เวลาจำเลยได้พิจารณาตัดสินใจ
จนการพิจารณาคดีในช่วงบ่าย จำเลยทั้งสองคนก็ได้แถลงต่อศาลขอเวลาในการตัดสินใจ ปรึกษาทนายความ และพิจารณารายละเอียดในคดีต่างๆ ก่อนจะให้การ ศาลจึงให้เลื่อนการสอบคำให้การในคดีฉ้อโกงประชาชนไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค.59 ขณะที่คดีมาตรา 112 ของนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ ให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานในเดือนพ.ย.และธ.ค.59 ที่นัดไว้เดิม และเลื่อนการวินิจฉัยเรื่องการรวมการพิจารณาคดีไปในวันที่ 15 ธ.ค.เช่นเดียวกัน
สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ อายุ 28 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นายนพฤทธิ์ระบุว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างตามข้อกล่าวหา ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ในกรณีนี้ เขาเพียงแต่ถูกรุ่นพี่ชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58 โดยไม่ได้ทราบเรื่องการแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ แต่อย่างใด แต่เขากลับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ส.ค.58
ระหว่างการพิจารณาคดี ญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลแล้ว 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต และทนายความของนพฤทธิ์ยังพยายามขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งมาตรา 112 หรือไม่ แต่ศาลได้ยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่าชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย (ดูเรื่องราวของนพฤทธิ์)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
“ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ
ศาลพิพากษาสองจำเลยคดี 112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ จำคุก 7 ปี 4 เดือน