กฤษฎีกาไม่ส่งเอกสารความเห็นเรื่องสถานะสมเด็จพระเทพฯ ตามหมายเรียกศาล ระบุเป็นเอกสารลับ-มีผลต่อสถาบันฯ

จากกรณีศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดสืบพยานในคดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกผลประโยชน์ โดยการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2560 โดยมีการนัดสืบพยานราวเดือนละ 2-3 นัด และสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ศาลนัดหมายสืบพยานจำเลยต่อไปในช่วงวันที่ 14 และ 19-22 ธันวาคมนี้

ในคดีนี้ นางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ โดยปลอมหนังสือของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ และนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และถูกกล่าวหาว่ามีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ หนึ่งในจำเลย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้รับทราบหรือเกี่ยวข้องกับการแอบอ้าง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากกรณีนี้ เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชวนให้ไปร่วมทำบุญที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชร

ดูเพิ่มเติมใน “ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ

.

(ภาพประกอบจาก https://gnews.apps.go.th/news?news=7009)

 

เอกสารบันทึกกฤษฎีกาปี 2532 เรื่องสถานะของสมเด็จพระเทพฯ

ในช่วงการสืบพยานโจทก์นั้น มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและบันทึกไว้ คือทนายความของจำเลยที่ 2 ได้พยายามยื่นคำร้องหลายครั้ง ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารฉบับหนึ่งเพื่อใช้สนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลย เอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารของคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 281/2532 ชื่อเอกสารว่า “บันทึกเรื่องการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาทตามมาตรา 112 และในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”

เอกสารดังกล่าวลงวันที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2532 เนื้อหาระบุว่าทางกรมตำรวจ (ขณะนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัยถึงสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ โดยบันทึกฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าทางกรมตำรวจเคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังในเรื่องนี้ แลสำนักพระราชวังได้เคยแจ้งว่าในรัชกาลปัจจุบัน (หมายถึงรัชกาลที่ 9) ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า “สยามบรมราชกุมารี” ในท้ายพระนามของพระเทพฯ ซึ่งแปลว่าลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น “สยามมกุฏราชกุมารี” จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่อย่างใด

ทางกรมตำรวจได้สอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (1) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ และ (2) หากไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา จะทำอย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่สำนักพระราชวังเคยตอบต่อกรมตำรวจ กล่าวคือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้

ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 326 ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้ ดังนั้น ในกรณีสมเด็จพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ท่านซึ่งเป็นผู้เสียหาย ทรงสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ และฟ้องคดีอาญาแทนได้

เอกสารฉบับนี้ได้เคยเผยแพร่เนื้อหาอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ในลิงก์นี้) โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 บุคคลทั่วไปยังสามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวได้ จนกระทั่งภายหลังทนายความได้ขอออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวไป จึงได้พบว่าลิงก์ของเอกสารดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

ดูเพิ่มเติมในรายงาน สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต

 

ครั้งที่ 1: กฤษฎีกาปฏิเสธส่งเอกสารตามหมายศาล อ้างข้อมูลข่าวสารลับ

สำหรับลำดับเหตุการณ์การยื่นขอออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวของทนายความจำเลยที่ 2 นั้น เกิดขึ้นทั้งหมดสามครั้ง

วันที่ 30 มิ.ย.60 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรออกหมายเรียกเอกสารของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อใช้ในสนับสนุนข้อต่อสู้คดีของจำเลย ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา

จนวันที่ 18 ก.ค.60 หลังได้รับหมายเรียกเอกสาร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีเอกสารตอบกลับมายังผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารลับ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันจะเปิดเผยมิได้ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่สามารถจัดส่งเอกสารตามหมายเรียกของศาลได้ เอกสารลงนามโดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

ครั้งที่ 2: ศาลปฏิเสธออกหมายเรียกซ้ำ อ้างเป็นข้อกฎหมาย วินิจฉัยเองได้

ต่อมาวันที่ 17 ส.ค.60 ทนายความของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเดิมอีกครั้ง โดยได้ระบุเหตุผลประกอบเพิ่มเติมด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่

  1. การออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของศาล ผู้ได้รับหมายเรียกมีหน้าที่ต้องส่งเอกสารดังกล่าว หากเอกสารดังกล่าวเป็นความลับหรืออาจก่อให้บุคคลอื่นเสียหาย ก็สามารถแจ้งต่อศาลให้ทราบได้
  2. เอกสารดังกล่าวนี้ได้เคยเผยแพร่ทางเว็บไซต์เป็นการทั่วไปมาโดยตลอด การที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า เอกสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารลับ และเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น
  3. เอกสารความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เป็นความเห็นที่ระบุว่าพนักงานสอบสวนจะสามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้หรือไม่ เพียงเท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุ

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ได้ยกคำร้องของทนายจำเลยที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์รัชทายาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่นั้น มิใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง ไม่จำเป็นต้องเรียกเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยาน

 

ครั้งที่ 3: ศาลปฏิเสธออกหมายเรียกอีก ระบุกฤษฎีกาไม่ใช่เจ้าของเอกสารที่แท้จริง

ต่อมา วันที่ 19 ก.ย.60 ทนายความจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 3 เพื่อขอออกหมายเรียกเอกสารความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเดิมอีกครั้ง โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีทางใดที่จะเรียกเอกสารดังกล่าวเข้ามาในสำนวนคดีได้เอง อีกทั้งเอกสารดังกล่าวข้างต้นเป็นประเด็นข้อเท็จจริง และเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นข้อต่อสู้ของจำเลย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวม ค้นคว้า และตีความกฎหมายของประเทศ อันเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ ทนายความยังได้ร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวเข้ามาแถลงต่อศาล เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าการไม่ยอมส่งพยานหลักฐานดังกล่าวมีเหตุผลค้ำจุนหรือไม่

วันเดียวกันนั้น ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องนี้ เป็นครั้งที่ 3 โดยระบุเหตุผลว่ากรณีที่ศาลจะใช้อำนาจเรียกเอกสารใด มาเป็นพยานของคู่ความฝ่ายที่ขอได้ เอกสารนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงหรือมีอยู่จริง และอยู่ในความยึดถือของบุคคลหรือหน่วยงานที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกไป ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามที่จำเลยต้องการ เป็นความเห็นที่ได้จากการตีความกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากเจ้าของเอกสารที่แท้จริงที่แสดงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามิใช่เจ้าของเอกสารที่แท้จริงดังกล่าว และหน่วยงานที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกไปถึง ก็ไม่สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในบัญชีพยานของจำเลยเอง กรณีไม่มีเหตุที่จะออกหมายเรียกตามขอได้ จึงให้ยกคำร้องและคำขอดังกล่าว

จนถึงปัจจุบันจึงยังไม่มีการส่งเอกสารดังกล่าวโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาในคดี

ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยานในคดีนี้ ทนายความของจำเลยที่ 2 ยังได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 มาก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่ศาลได้วินิจฉัย ยกคำร้องทั้งสองครั้ง โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้

 

* ติดตามบันทึกการสืบพยานในคดีนี้ได้เร็วๆ นี้ *

 

X