ยังไม่เริ่มสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ – ด้านญาติหนึ่งในจำเลยยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด

15 ธ.ค.59 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดพร้อมในคดีของนางอัษฎาภรณ์ และพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จากกรณีการแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกผลประโยชน์ หลังจากเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา อัยการโจทก์ได้มีการยื่นฟ้องข้อหานี้เป็นคดีใหม่ต่อศาล และได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาเข้าด้วยกันกับคดีข้อหามาตรา 112 เดิม จนทำให้การนัดสืบพยานของสองจำเลยที่ให้การปฏิเสธและยืนยันต่อสู้คดี ต้องเลื่อนออกไป

เหตุแห่งการฟ้องคดีใหม่นี้ อัยการโจทก์ได้แถลงต่อศาลว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อผู้ต้องหาทั้งสี่คนมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้ว แต่การทำสำนวนในข้อหาดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อได้มีการสอบพยานชาวบ้านเพิ่มเติมอีกหลายปากแล้ว และได้พยานหลักฐานเพียงพอ จึงได้มีการสั่งฟ้องคดีใหม่ในข้อหานี้เข้ามา โดยโจทก์ตั้งใจจะฟ้องเป็นข้อ ง. จากฟ้องในคดีเดิมอยู่แล้ว

ส่วนการถามคำให้การในข้อหาฉ้อโกงประชาชนนี้ นายกิตติภพ และนายวิเศษ จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้การรับสารภาพ โดยทนายขอแรงของจำเลยทั้งสองได้แถลงประกอบคำรับสารภาพว่าฟ้องใหม่ของโจทก์นี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีเดิม ขณะที่นางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ จำเลยที่ 1 และ 4 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงให้อัยการโจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นคดีใหม่ เข้ามาภายใน 7 วัน ขณะที่ในคดีมาตรา 112 เดิม ยังต้องรอการฟ้องของอัยการในคดีใหม่นี้มา ศาลจึงได้นัดหมายสอบคำให้การและฟังคำสั่งเรื่องการรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเข้าด้วยกัน ในวันที่ 26 ม.ค.60 โดยให้ยกเลิกวันนัดสืบพยานในเดือนธ.ค.59 และม.ค.60 แต่คงวันนัดหลังจากนั้นไว้

ในช่วงบ่าย ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีฉ้อโกงประชาชน ของนายกิตติภพและนายวิเศษ โดยพิพากษาให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากศาลเห็นว่าการกระทำผิดในคดีนี้เป็นความผิดจากการกระทำเดียวกันกับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ และจำเลยทั้งสองได้รับสารภาพในคดีเดิม พร้อมกับที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เรื่องการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยไปแล้ว จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับโทษอีก ให้ยกฟ้องคดีนี้

ขณะเดียวกัน ในนัดนี้ ทนายของนางอัษฎาภรณ์และนายนพฤทธิ์ยังได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นอีกครั้ง ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 โดยยื่นเอกสารประกอบทั้งกฎมณเฑียรบาล เอกสารในคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประกาศต่างๆ ในราชกิจจานุเบกษาล่าสุดเรื่องการอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10  แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยยกคำร้องตามเดิม โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้

สำหรับเหตุในกรณีนี้ จำเลยทั้งสี่คนถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ก่อนจำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกจับกุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58

 

ญาติ “นพฤทธิ์” หนึ่งในจำเลย ยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด

ในคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ อายุ 28 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  นายนพฤทธิ์ระบุว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างตามข้อกล่าวหา ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ในกรณีนี้ เขาเพียงแต่ถูกรุ่นพี่ชวนไปร่วมทำบุญ โดยอ้างว่าให้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ที่วัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงเดือนเม.ย.58 โดยไม่ได้ทราบเรื่องการแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ แต่อย่างใด แต่เขากลับถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ส.ค.58 และไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี โดยญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลแล้ว 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 ญาติและทนายความของนพฤทธิ์ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยร้องเรียนว่าคดีนี้มูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยนั้น หารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112  โดยตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นองค์รัชทายาทไว้แล้วเพียงพระองค์เดียว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงมิใช่บุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามความหมายแห่งมาตรา 112 การกระทำตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112

ทางจำเลยจึงได้ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรไทรงาม สอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาท และขอให้ถอนฟ้องคดีในความผิดตามมาตรา 112 ด้วย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด

สามารถอ่านเรื่องราวของนพฤทธิ์ได้ในรายงาน “ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ

 

IMG_7059

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เลื่อนสืบพยานคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ เหตุอัยการฟ้องคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มอีก

ศาลพิพากษาสองจำเลยคดี 112 แอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ จำคุก 7 ปี 4 เดือน

 

X