ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี ม.112 “นรินทร์” ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูป ร.10 ชี้พยานโจทก์มีพิรุธสงสัย ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำตามฟ้อง

วันที่ 2 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีของ นรินทร์
(สงวนนามสกุล) จำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดคาดตาบนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีการะหว่างที่มีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 

คดีนี้มี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ในขณะนั้น เป็นผู้กล่าวหา ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานไประหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. และ 1 มี.ค. 2565 โดยได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์ จำนวน 11 ปาก รวม 3 นัด โดยไม่มีพยานจำเลยเข้าเบิกความแม้แต่ปากเดียว เนื่องจากศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการของคู่ความทั้งสองจนหมด จำเลยจึงมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเข้าเบิกความ เนื่องจากรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต่อมาศาลได้นัดฟังคำพิพากษาหลังสืบพยานแล้วเสร็จเพียง 3 วัน

.

ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 3 ปี กรณีติดสติกเกอร์ “กูKult” บนรูป ร.10 ชี้เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์

วันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุมีลักษณะการแต่งกายตรงกันกับของจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ และเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ไปติดที่พระบรมสาทิสลักษณ์ที่ดวงพระเนตรของรัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าศาลฎีกา ซึ่งพระบรมสาทิศลักษณ์ดังกล่าวหน่วยงานที่ดูแลได้ติดตั้งโคมไฟส่องสว่าง เพื่อให้มองเห็นเป็นสง่าอันเป็นการเทิดพระเกียรติ แต่จำเลยกลับนำสติกเกอร์ที่มีโลโก้บัญชีเฟซบุ๊กที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ปีนขึ้นไปติดทับพระเนตรทั้งสองข้าง จึงเป็นการสื่อว่ากลุ่มบุคคลตามบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว มีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ เป็นการลบหลู่ ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อกษัตริย์โดยตรง แต่การกระทำของจำเลยก็สื่อความหมายดังกล่าวได้

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอาญาจะอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

.

จำเลยอุทธรณ์คดี ยืนยันโจทก์มีเพียงพยานบอกเล่า-ศาลชั้นต้นตีความ ม.112 ขยายความ

ต่อมาฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยสรุปมีประเด็นการอุทธรณ์สำคัญ ได้แก่

1. พยานโจทก์ทุกปากที่เบิกความในคดีนี้ ล้วนแต่แล้วแต่เป็นพยานบอกเล่า มิได้มีพยานปากใดเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์และยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปีนขึ้นไปติดสติกเกอร์ พยานผู้กล่าวหาคือ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ก็ได้เบิกความรับว่าขณะเกิดเหตุมิได้อยู่ที่บริเวณเกิดเหตุบริเวณศาลฎีกาแต่อย่างใด ภาพถ่ายผู้ก่อเหตุก็ไม่สามารถดูได้ว่าเป็นใคร ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นจำเลยหรือไม่ การกล่าวหาว่าบุคคลดังกล่าวเป็นจำเลยเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น พยานหลักฐานยังมิได้ปรากฏภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวที่ยืนยันใบหน้าผู้กระทำว่าเป็นจำเลย การสันนิษฐานจากการแต่งกายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าผู้ก่อเหตุเป็นจำเลยแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คดีนี้ยังปรากฏว่า พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กล่าวหาเพิ่งจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยหลังจากที่เกิดเหตุมาแล้วเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน มิได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับจำเลยทันทีตามที่กล่าวอ้าง

2. จำเลยโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ระบุคำเบิกความของ พ.ต.ท.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล เจ้าพนักงานตำรวจจาก บก.ปอท. ว่าเฟซบุ๊กชื่อว่า “กูkult” มีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจากตามคำเบิกความของพยานปากดังกล่าว มิได้รับรองหรือยืนยันว่าในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบ ยังไม่พบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กเพจ “กูkult” อย่างไร

3. ส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำตามฟ้องเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์นั้น จำเลยเห็นว่าสิ่งที่ศาลชั้นต้นบรรยายมิใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นความรู้สึกทางอัตวิสัย ไม่มีพยานหลักฐานชัดแจ้งว่าการติดสติ๊กเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าอย่างไร เนื่องจากโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่าข้อความคำว่า “กูkult” มีความหมายว่าอย่างไร หรือมีความยิ่งใหญ่อย่างไร

การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้นั้นจะต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งดำรงพระชนม์ชีพขณะเกิดเหตุ ลำพังการติดสติ๊กเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นได้

การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่มิใช่การทำผิดกฎหมาย การตีความว่าการติดสติ๊กเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นการดูหมิ่นจึงเป็นการตีความขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างเกินสมควรขัดต่อหลักการบังคับใช้กฎหมายอาญาที่ต้องบังคับใช้โดยตีความอย่างเคร่งครัด

.

.

ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ให้ยกฟ้อง “นรินทร์” ชี้แต่งกายต่างจากคนร้าย และคำรับของจำเลยขัดกับข้อเท็จจริง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ในวันนี้ (2 พ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณา 709 มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีประมาณ 10 คน หนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีพี่ชายของนรินทร์ รวมถึงกลุ่มนักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เดินทางเข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย

จนกระทั่งเวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาศาลอาญาได้เริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 27 ม.ค. 2566 โดยสรุประบุว่า จากพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยใส่เสื้อยืดสีขาว มีลายหน้าอกเป็นวงกลมสีแดงและตัวอักษรสีน้ำเงินภาษาอังกฤษคาดกลาง แตกต่างจากสติกเกอร์ของเสื้อคนร้ายในภาพถ่าย อันเป็นการแตกต่างจากคนร้ายตามภาพถ่ายก่อนและขณะเกิดเหตุกับบุคคลที่โจทก์อ้างว่าพบในตอนเช้า ทั้งที่เป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน 

ทั้งไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยกับบุคคลที่พยานโจทก์ตรวจพบก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง จะมีที่พักอาศัยและเปลี่ยนเสื้อผ้าในบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างใด  ซึ่งสรุปได้ว่าบ้านทั้งสองไม่ได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่จำเลยจะสามารถกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และกลับมาบริเวณที่เกิดเหตุและสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามอีกในเวลาต่อเนื่องกันดังกล่าวได้

และไม่ปรากฏว่ามีการตรวจยึดเสื้อผ้าที่คนร้ายใส่ในตอนเกิดเหตุของคดีนี้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยฃเป็นคนร้ายที่ใส่เสื้อผ้าดังกล่าว

ข้อเท็จจริงของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า บุคคลที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในตอนเช้าหลังวันเกิดเหตุและจำเลยมีการแต่งกายเหมือนกับคนร้ายตามที่พยานโจทก์เบิกความ 

นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำความผิด หลังเข้าเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สน.ชนะสงคราม ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยและมีพิรุธ ทั้งมิได้มีการดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ตามเอกสารดังกล่าว ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และจำเลยได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดีของศาลมาตลอด เมื่อจำเลยแต่งกายแตกต่างจากคนร้าย มิได้เหมือนกับคำเบิกความของพยานโจทก์ คำรับของจำเลยดังกล่าวจึงขัดต่อข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น 

กรณีมีเหตุแห่งความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ พยานแวดล้อมก็มีพิรุธสงสัยว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 วรรคสอง อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ประการอื่น พิพากษากลับเป็นว่าให้ยกฟ้อง 

ลงนามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดย สันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์, ฐิตยาภา เจริญเหรียญ และพัฒนา ศิลปอนันต์

ต่อมาเวลา 10.05 น. หลังอ่านคำพิพากษา ผู้มาให้กำลังใจนรินท์ต่างเข้าไปแสดงความยินดีกับนรินทร์ และผู้ช่วยทนายความได้ยื่นเรื่องขอคืนเงินประกันตัวนรินทร์ จำนวน 100,000 บาท เพื่อนำส่งคืนให้กองทุนดา ตอร์ปิโด ต่อไป 

อนึ่ง คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด โดยโจทก์และจำเลยมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันฟังคำพิพากษาวันนี้    

ด้านคดีของนรินทร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” ยังเหลืออีก 2 คดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นอัยการ โดย 1 ใน 2 คดี ซึ่งถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวว่าเป็นแอดมินเฟจเฟซบุ๊ก “กูkult” ส่วนอีกหนึ่งคดีที่เหลือในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด

.

ดูฐานข้อมูลคดีนรินทร์ แปะสติกเกอร์ “กูkult”

X