วันที่ 25 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงนนทบุรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง จากกิจกรรมคาร์ม็อบ #ม็อบ15สิงหา #คาร์ปาร์คนนทบุรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งมีเคลื่อนขบวนปราศรัยไปตามถนน พร้อมทั้งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการปาสีแดงซึ่งแทนเลือดของประชาชน ใส่ป้ายกระทรวงพาณิชย์ ถนนหน้าตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และป้ายหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับรวม 9,000 บาท
.
หลังกิจกรรมในวันเกิดเหตุ (15 ส.ค. 2564) ยุติลง ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ถึงชินวัตรให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา ต่อมาในเวลา 20.00 น. ชินวัตรตัดสินใจเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ถิรวัฒน์ โชติกมาศ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลใน 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำอื้ออึงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370, ทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ในที่สาธารณะฯ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
คดีนี้มีนัดสืบพยานในวันที่ 27 ก.ค. และ 28 ส.ค. 2566 ในชั้นศาล ชินวัตรยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดี
.
วันนี้ (25 ต.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
ศาลพิเคราะห์แล้ว พยานโจทก์ให้การว่า จำเลยชักชวนบุคคลทางเฟซบุ๊กจำนวน 4 ครั้ง ให้ไปร่วมการชุมนุมที่แยกพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยมีการขึ้นปราศรัยและเปิดเพลงผ่านเครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการเคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงพาณิชย์, สำนักงาน ป.ป.ช. และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการปาถุงพลาสติกใส่สีแดงใส่ป้ายของหน่วยงานทั้งสาม ในขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่นำพยานเข้าสืบ
เห็นว่า แม้การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธจะเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมีโรคระบาดโควิด-19 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมเพื่อป้องกันและควบคุมโรค เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นการชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งจำเลยยังไม่นำพยานเข้าสืบให้เป็นอื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ ป.อ. มาตรา 370 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท และฐานทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ในที่สาธารณะฯ ปรับกระทงละ 1,000 บาท รวมสามกระทงเป็น 3,000 บาท
ส่วนฐานร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำอื้ออึงฯ และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำอื้ออึงฯ ตาม ป.อ. มาตรา 370 ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ปรับ 1,000 บาท รวมลงโทษปรับ 9,000 บาท