แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 นักกิจกรรมสิทธิแรงงาน รวมตัวไล่ประยุทธ์-ร้องแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต แม้ตร.ประกาศชุมนุมได้ แต่อ้างไม่ได้แจ้งชุมนุม

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานจำนวน 5 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีทำกิจกรรมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตคนทำงาน และขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 

คดีนี้มีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุธิลา ลืนคำ, เซีย จำปาทอง, สนธยา วงษ์ศรีแก้ว และ ธนพร วิจันทร์ โดยมี พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม เป็นผู้กล่าวหา

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร เป็นพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยแจ้งใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15)
  2. ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
  3. ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

.

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 (ภาพจากสหภาพคนทำงาน)

.

พฤติการณ์โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 9.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนนัดจัดกิจกรรมในพื้นที่ สน.นางเลิ้ง โดยนัดอ่านแถลงการณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริเวณแยกพาณิชยการ ผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน พร้อมรถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียง 1 คัน

เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปประชิดแนวรั้วของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนบนสะพานชมัยมรุเชฐ แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยถือป้ายกระดาษข้อความเรียกร้องต่างๆ และผู้ต้องหาทั้งห้าซึ่งเป็นแกนนำ ได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยบนรถยนต์ติดต่อเครื่องขยายเสียง วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีตลอด 8 ปี เรียกร้องให้ลาออก และยืนยันว่าอำนาจนายกรัฐมนตรีจะหมดไป กลายเป็น “นายกเถื่อน” ในวันที่ 24 ส.ค. 2565

เวลาประมาณ 11.20 น. ระหว่างมีการปราศรัย พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง ได้ประกาศข้อห้ามเกี่ยวกับการชุมนุม ว่าการชุมนุมย่อมกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้กับหัวหน้าสถานีตำรวจทราบ การชุมนุมนี้จึงเป็นการผิดกฎหมาย ขอให้ยุติการชุมนุม โดยให้เวลาแก่ผู้ชุมนุม 10 นาที เพื่อแยกย้ายกันกลับ

ในเวลา 11.30 น. ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักชุมนุม จนเวลา 11.40 น. แกนนำผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อ และได้จุดไฟเผาหุ่นกระดาษรูปจำลองนายกรัฐมนตรี และป้ายกระดาษที่มีข้อความเรียกร้องต่างๆ จนเสร็จสิ้นกิจกรรมเวลา 12.20 น. และแยกย้ายกันกลับ ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน.นางเลิ้ง ได้พิสูจน์ทราบบุคคลผู้เข้าร่วมการชุมนุม ได้แก่ ผู้ต้องหาทั้งห้าราย

ทั้งห้าคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา  และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 20 วัน พนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา และลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไป โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค. 2565

.

.

ก่อนการเข้ารับทราบข้อหา นักกิจกรรมแรงงานยังได้ร่วมการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การใช้ข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุม ที่เป็นการคุกคามการแสดงออก ทั้งอ่านแถลงการณ์ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ประการหลักที่ได้เคยเรียกร้อง ได้แก่

1. ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำตามสัญญาหาเสียงของพรรค พปชร. ที่ให้ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2562 โดยให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ และให้ประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคมปี 2565 รวมถึงให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศในเดือนมกราคมปี 2566

2. ให้ลดค่าน้ำมันทุกชนิดลง 6 บาทต่อลิตร ลดค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าครองชีพให้กับประชาชน

3. ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (ฉบับที่ 15) ที่อนุญาตให้ชุมนุมในพื้นที่เฝ้าระวัง แต่ระบุว่าให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม และกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท

ทำให้การไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ ถูกเพิ่มโทษขึ้นไปจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยปกติ กลายเป็นการใช้กฎหมายลำดับรองเพิ่มโทษให้ข้อหาตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

ทั้งตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในมาตรา 3 (6) ยังบัญญัติมิให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประกาศหัวหน้าผู้รับชอบฯ ฉบับนี้ ขัดต่อกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ จึงไม่ควรมีผลบังคับใช้ได้

กรณีการออกประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดฉบับนี้ ตัวแทนนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนประกาศฉบับนี้ ซึ่งศาลได้รับฟ้องไว้ แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหลังการไต่สวนเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา

.

X