อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ม.215 “ตะวันและเพื่อน” กรณีเดินขบวนจากหน้า พม. หลังเหตุอุ้มตัวเยาวชนเมื่อปี 65 ชี้ใช้เสรีภาพตาม รธน.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิต ในคดีของนักกิจกรรมจำนวน 4 คน นำโดยทานตะวัน ตัวตุลานนท์, พิมชนก ใจหงษ์, สถาพร และ ภัคพล กรณีเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565 กลุ่มมังกรปฏิวัตินัดหมายรวมตัวกันบริเวณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อจะเคลื่อนขบวนไปยังวัดพระแก้ว หลังจากในสายวันดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่เยาวชน 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20-30 นาย และเจ้าหน้าที่ พม. เข้าควบคุมและอุ้มตัวขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยังไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ

คดีนี้มี พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหาใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ การชุมนุมรวมกลุ่มฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควรฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 โดยกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวรั้งหน่วงของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณปากซอยหลานหลวงซอย 8 จนมีการ “ประทุษร้าย” เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้มีทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ

.

ภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเยาวชน 3 ราย ที่บริเวณถนนราชดำเนิน ในช่วงวันที่ 15 เม.ย. 2565

.

อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีลงวันที่ 22 ธ.ค. 2566 โดยในส่วนคำวินิจฉัยโดยสรุป เห็นว่าการชุมนุมทำกิจกรรมที่จะถือเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น จะต้องเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดหรือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ 

เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายและบันทึกวิดีโอจากรายงานการสืบสวน พบว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่กว้างและเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีพื้นที่ว่างให้บุคคลยืนโดยเว้นระยะห่างมากเพียงพอ ผู้ชุมนุมสามารถเคลื่อนไหวได้โดยอิสระ สถานที่ชุมนุมจึงไม่มีสภาพเป็นสถานที่แออัด 

ทั้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจับกุมตัวเยาวชนอายุ 13 ปี และนักกิจกรรมหลายคน อันถือเป็นการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกถึงข้อเรียกร้องผ่านการทำกิจกรรมรวมกลุ่มโดยทั่วไปเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าการชุมนุมมีอาวุธ หรือมีการบุกรุกสถานที่ราชการหรือทำลายทรัพย์สิน จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา 

แม้จะปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้มีอาวุธ มีแต่การใช้กำลังผลักดันกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแนวไว้เท่านั้น และเมื่อผู้ชุมนุมเดินฝ่าไปไม่ได้ ก็ได้ประกาศยุติการชุมนุม การชุมนุมดังกล่าวโดยทั่วไปแล้วจึงเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ การทำกิจกรรมดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีลักษณะเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ขณะที่ข้อหาตามมาตรา 215 ทางอัยการเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเพียงการผลักดันและยื้อแย่งตัวผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหรือทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ส่วนกรณีมีผู้ชุมนุมบางคนใช้กำลังประทุษร้ายทำให้นายตำรวจนายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ก็ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ เป็นบุคคลที่ใช้กำลังดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งสี่มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่อาจถือว่าทั้งสี่เป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด

ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 368 นั้นเป็นความผิดลหุโทษ จึงมีอายุความ 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงหมดอายุความ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ชุมนุมดังกล่าว ยังมี “สายน้ำ” และ “เอียร์” ซึ่งขณะนั้นทั้งสองยังเป็นเยาวชนถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันด้วย แต่คดีนี้ พบว่าอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไปเมื่อต้นปี 2566 แตกต่างจากแนวคำสั่งในส่วนของผู้ใหญ่ และต่อมาทั้งสองคนได้ยินยอมให้ศาลกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ พบว่ามีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 65 คดี ขณะที่ยังมีคดีชุมนุมที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างต่อสู้ในศาล หรือยังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกไม่น้อยกว่า 415 คดี

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X