พิพากษา “อานนท์-ไมค์-ไผ่-ครูใหญ่” ชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ผิดฐานเป็นผู้สั่งการมั่วสุม จำคุก 1 เดือน ปรับ 2 หมื่น ก่อนให้รอลงอาญา-ยกโทษจำคุก ยกฟ้อง 9 ข้อหา

วันที่ 15 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 1), “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก (จำเลยที่ 2), “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 3) และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 4) ซึ่งถูกฟ้องใน 10 ข้อหา จากการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 คน มีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม ลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 20,000 บาท โดยจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ให้รอการลงโทษ แต่จำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาก่อน จึงให้เพิ่มโทษหนึ่งในสาม แต่ให้ยกโทษจำคุก ส่วนข้อหาอื่นยกฟ้อง

.

เหตุในคดีนี้ต่อเนื่องมาจากการชุมนุม ‘ราษฎรล้อมสภา’ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปชุมนุมด้านหน้ารัฐสภา เพื่อเกาะติดการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ตลอดทั้งวันมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปิดกั้นเส้นทางไม่ให้เข้าพื้นที่ และพยายามสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาและผสมสารเคมี รวมทั้งมีการปะทะกับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ  ในช่วงดึกคืนดังกล่าวจึงมีการนัดหมายชุมนุมในวันถัดมา (18 พ.ย. 2563) เพื่อโต้ตอบและแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)

การชุมนุมในครั้งนี้มีการดำเนินคดีแยกเป็นสองคดี ได้แก่ คดีที่ สน.ปทุมวัน และคดีที่ สน.ลุมพินี โดยอานนท์กับภาณุพงศ์ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี โดยในระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ถึง 8 ม.ค. 2564 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ ที่ สน.ปทุมวัน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 รพีพัฒน์ ภักดีวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ใน 10 ข้อหา ดังนี้

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร่วมกันชุมนุมใด ๆ โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  4. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 15, 16 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  5. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385  มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  6. ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  7. ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  8. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  9. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  10. ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

.

ย้อนอ่านสรุปประเด็นข้อต่อสู้ในคดีนี้ >>> จับตา! พิพากษาคดีของ “อานนท์-ไมค์-ไผ่-ครูใหญ่” กรณีชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ข้อต่อสู้ระบุเป็นการฟ้องซ้ำ-ชุมนุมโดยสงบตาม รธน.-พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ

.

วันนี้ (15 ม.ค. 2567) เวลา 09.54 น. หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 505 จำเลยทั้ง 3 คน ได้แก่ ภาณุพงศ์, จตุภัทร์ และอรรถพล ทยอยเดินทางมาศาล ส่วนอานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษา  โดยถูกพันธนาการด้วยกุญแเจข้อเท้า และถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 2 นาย คุมตัวเข้ามาในห้องพิจารณาคดี 

ภายในห้องพิจารณาคดีมีครอบครัวและประชาชนจำนวนมากมาพบและให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้ง 4 คน นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่จากกองทุนราษฎรประสงค์เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี

ก่อนอ่านคำพิพากษา พนักงานอัยการได้ยื่นคำขอให้ศาลนับโทษของอานนท์ในคดีนี้ต่อจากคดีมาตรา 112 กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และลงโทษปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา และไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันพิพากษาจนถึงปัจจุบันรวม 112 วันแล้ว

ต่อมาเวลา 10.10 น. ผู้พิพากษาได้ขอให้จำเลยทั้ง 4 คนยืนขึ้น และอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้เป็น 6 ประเด็น ดังนี้

เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ก่อนเกิดเหตุมีการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองของกลุ่มราษฎร 2563 บริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อกดดันให้รัฐสภาพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมามีการปะทะกันกับกลุ่มมวลชนปกป้องสถาบันฯ และมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมาในวันเกิดเหตุมีการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการปาน้ำผสมสีใส่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้มีผู้เสียหายเป็นตำรวจ 3 คน ซึ่งเกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา มีแผลถลอก และได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

ส่วนของจำเลยที่ 1 และ 2 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีที่ศาลแขวงปทุมวันหรือไม่

ข้อเท็จจริงในคดีของศาลแขวงปทุมวันเป็นเหตุการณ์ชุมนุมสาธารณะทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นวันเวลาเดียวกันกับคดีนี้ เพียงแต่สถานที่เกิดเหตุคือบริเวณแยกราชประสงค์ แขวงลุมพินี ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดที่บริเวณถนนราชดำริ หน้า Central World ต่อเนื่องสี่แยกราชประสงค์และถนนพระราม 1 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการกระทำในสถานที่เกิดเหตุต่อเนื่องเชื่อมโยงในคราวเดียวกัน ทั้งการชุมนุมทั้งสองคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่พอใจการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสลายการชุมนุมทางการเมือง หาใช่การกระทำที่แยกจากกันหรือต่างกรรมต่างวาระกันไม่

เมื่อศาลแขวงปทุมวันพิพากษาลงโทษอานนท์และยกฟ้องภาณุพงศ์ก็ถือได้ว่า มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 และ 2 ของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไป

ส่วนของจำเลยที่ 3 และ 4 เห็นว่า การที่จะเป็นความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม และฐานไม่ดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ผู้กระทำจะต้องเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม หรือผู้จัดการชุมนุมซึ่งหมายความรวมถึงผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น แต่พยานโจทก์ทั้งหมดไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่าจำเลยที่ 3 และ 4 ได้ใช้วิธีการอย่างใดในการเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม และได้กระทำเช่นนั้นเมื่อใด

ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า การชุมนุมในที่เกิดเหตุสืบเนื่องมาจากเพจเยาวชนปลดแอกได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม ซึ่งข้อนี้ พ.ต.อ.อัครพล, ร.ต.อ.ชินดนัย และ พ.ต.ท.สิบทิศ พยานโจทก์เบิกความไปในทางเดียวกันว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ไปชุมนุมในวันเกิดเหตุ ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจเยาวชนปลดแอก และไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 3 และ 4 มีความเกี่ยวข้องหรือติดต่อกับเพจดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าไปมีส่วนร่วมคบคิดกันมาก่อนและแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ 

นอกจากนี้ ได้ความจาก พ.ต.อ.อัครพล ว่า ช่วงเกิดเหตุแรก ๆ ยังไม่มีใครสั่งการชุมนุม และ ร.ต.อ.ชินดนัย และ พ.ต.ท.สิบทิศ เบิกความตอบถามค้านว่า จากการสืบสวนไม่มีข้อมูลว่าจำเลยที่ 3 และ 4 วางแผนตระเตรียมการเพื่อชุมนุมในวันเกิดเหตุ

เมื่อพยานโจทก์ได้ความเพียงเท่านี้ การที่จำเลยที่ 3 และ 4 ปราศรัยในที่ชุมนุมนั้น อาจเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเพียงแต่เข้ามาร่วมภายหลังในฐานะผู้ชุมนุมคนหนึ่งก็เป็นได้ พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง ดังนั้นจำเลยที่ 3 และ 4 จึงมิใช่ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งการชุมนุม และมิใช่ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ

นอกจากนี้ จำเลยที่ 3 และ 4 จึงมิใช่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมที่จะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน

เห็นว่า การร่วมชุมนุมตามฟ้องมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่พอใจการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสลายการชุมนุมทางการเมือง จึงนัดหมายชุมนุมเพื่อปาสีเข้าใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกันมาเพื่อทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งก็ไม่อาจทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจัดเตรียมเจ้าพนักงานตำรวจตั้งแถวอยู่ภายใน

จากรายงานการสืบสวนและบันทึกการถอดเทปเสียงกลุ่มผู้ชุมนุม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเริ่มฉีดน้ำและสาดสีใส่รั้วและประตูทางเข้ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จำเลยที่ 4 ปราศรัยให้กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยกันผสมสีและบรรจุน้ำใส่ขวดนำส่งต่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าประตูทางเข้า ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ปราศรัยเชิญชวนให้ปาสีเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พ.ต.อ.อัครพล เบิกความตอบถามค้านรับว่า ไม่มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมสาดสีหรือปาสีใส่ตัวเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้นการกระทำความผิดส่วนนี้จึงต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้ชุมนุมทุกคนไม่ได้ ลำพังแต่จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมิได้พูดหรือกระทำการหรือมีพฤติกรรมอื่นอันใดที่แสดงการรู้เห็นเป็นใจกับการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ถึง 3 ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด 

เมื่อพิจารณาประกอบกับว่า การปาสีหรือสาดสีใส่ป้ายหรือเข้าไปภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในลักษณะดังกล่าวนั้น มิใช่การใช้อาวุธร้ายแรงหรือเป็นการกระทำรุนแรงจนเล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดอันตรายแก่ผู้เสียหาย กรณีจึงอาจเป็นผลจากการกระทำโดยประมาทมิใช่โดยเจตนา ซึ่งไม่อาจมีการร่วมกันกระทำในลักษณะที่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  ได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามฟ้อง 

พ.ต.อ.อัครพล เบิกความว่า ระหว่างชุมนุมรถที่สัญจรไม่สามารถเคลื่อนตัวได้ ผู้ชุมนุมนำรถซาเล้งและรถเครื่องเสียงมาจอดบริเวณถนน มีรถบรรทุกน้ำของผู้ชุมนุมจอดบนถนน โดยมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก เห็นว่า พ.ต.อ.อัครพล เบิกความตอบคำถามค้านว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 10,000 คน จึงเป็นการปิดถนนไปโดยปริยาย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการสืบสวนและรายงานข่าวสารความมั่นคงที่ระบุว่าเวลา 16.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจรบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 

ดังนั้น การที่ถนนไม่อาจใช้ได้ในขณะเกิดเหตุจึงเป็นผลธรรมดาของการที่มีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมากที่ต้องเกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้ตำรวจจำเป็นต้องปิดเส้นทางการจราจรเป็นการชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 

ส่วนการที่ผู้ชุมนุมบางส่วนพ่นสีสเปรย์ลงบนพื้นถนน และต่อมาเริ่มจัดตั้งรถขยายเสียง นำรถซาเล้งติดตั้งเครื่องขยายเสียงที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตำรวจ พ่นสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ล้วนเป็นการกระทำภายหลังจากที่ได้ปิดถนน การกีดขวางทางสาธารณะย่อมไม่ใช่ผลโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดถนนดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จำเลยทั้งสี่จะมาปราศรัยหรือมาถึงที่เกิดเหตุอีกด้วย 

ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานวาง ตั้ง ยื่น แขวนสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, ฐานร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และฐานร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 

ส่วนความผิดฐานร่วมกันขูด กะเทาะ ขีดเขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนน หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนน หรืออยู่ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลหรือภาพกล้องวงจรปิดมายืนยันว่าจำเลยทั้งสี่ ขูด กะเทาะ ขีดเขียน พ่นสีที่แนวกำแพงรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บาทวิถี ใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประตูรั้ว ป้ายไฟ LED  ป้ายรอรถโดยสารประจำทาง พื้นถนน ตอม่อทางเดินเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้า 

ข้อเท็จจริงฟังได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปทาสีหรือสาดสีที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ประกอบกับขณะเกิดเหตุมีผู้ร่วมชุมนุมนับหมื่นคน จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่อาจรู้เห็นการกระทำของผู้ร่วมชุมนุมแต่ละคนในเวลานั้นได้ทั้งหมด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิด

เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่ากล้องวงจรปิดที่อยู่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหายเนื่องจากโดนพ่นสีสเปรย์และสาดสี แต่จำเลยทั้งสี่มิได้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมพ่นสีหรือปาสีใส่กล้องวงจรปิดแต่อย่างใด การกระทำส่วนนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันอันเกิดจากการตัดสินใจตามลำพังของผู้ร่วมชุมนุมแต่ละคนเอง ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตแห่งเจตนาของจำเลยทั้งสี่ แม้จำเลยจะมิได้ห้ามปรามผู้ร่วมชุมนุมบางคนที่กระทำ แต่ก็มิใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่นด้วย

ดังนั้น พยานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360

เห็นว่า แม้ พ.ต.อ.อัครพล และ พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ พนักงานสอบสวนจะเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อผู้กำกับ สน.ปทุมวัน แต่ พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ และ ร.ต.อ.ชินดนัย ต่างเบิกความยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ชุมนุมขออนุญาตจาก สน.ลุมพินี หรือหน่วยงานอื่นหรือไม่ 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาว่าการชุมนุมเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากแยกราชประสงค์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ลุมพินี แล้วเคลื่อนขบวนไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยทั้งสี่หรือผู้ชุมนุมคนอื่นจึงอาจขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อเจ้าพนักงานจาก สน.ลุมพินี หรือหน่วยงานอื่น โดยพยานโจทก์ไม่ทราบเรื่องก็ได้ พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสี่หรือผู้ชุมนุมคนอื่นได้ขออนุญาตทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยในข้อหานี้แก่จำเลย

เห็นว่า การมั่วสุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215  ผู้มั่วสุมจะต้องใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองจึงจะเป็นความผิด โดยผู้ที่มามั่วสุมไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือมีการนัดหมายวางแผนกันมาก่อน

ข้อนี้ได้ความว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้บุกรุกเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และได้ยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 20.20 น. อันเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะในพื้นที่จำกัดและเป็นระยะเวลาไม่นาน ทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และ พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ เบิกความว่า จากการสอบสวนปรากฏว่า ผู้ชุมนุมได้มาแสดงออกทางสัญลักษณ์จากการที่มีการสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา โดยตั้งใจจะใช้สีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ หลังจากการปาสี 20 นาที ก็ยุติการชุมนุม  แสดงว่าจำเลยทั้งสี่มิได้ใช้กำลังประทุษร้ายใด ๆ หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย

อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยทั้งสี่ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมปาสีเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากเจ้าพนักงานเคยปาแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมครั้งก่อน วันนี้จึงมาเอาคืน เห็นได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อโต้ตอบเจ้าพนักงานตำรวจที่สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาที่ได้จบสิ้นขาดตอนไปแล้วเพียงอย่างเดียว จึงมิได้เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่จะต้องรวมกลุ่มกันจึงจะสามารถระงับยับยั้งภัยอันตรายที่เกิดขึ้น หากแต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำตามอำเภอใจของตน เสมือนหนึ่งสมัครใจวิวาท ซึ่งการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนหาจำเป็นต้องกระทำเช่นนี้ ทั้งกรณีไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อยื่นข้อเรียกร้องทางการเมือง ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร 

ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการสั่งการกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง คดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดฐานเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก  1 เดือน 10 วัน และปรับ 26,666.66  บาท 

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยทั้งสี่เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้บุกรุกเข้าไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทำโดยปราศจากอาวุธ ประกอบกับจำเลยทั้งสี่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์โดยเข้าใจเองว่าสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่หลังจากที่ผู้ชุมนุมปาสีเพียง 20 นาที  จำเลยที่ 2 ก็ประกาศยุติการชุมนุม ทำให้เหตุการณ์ความวุ่นวายยุติลงโดยเร็ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4  เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1, 2 และ 4 มีกำหนด 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาก่อนจึงไม่อาจรอการลงโทษได้ เห็นสมควรให้ยกโทษจำคุกเสียตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55  ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

X