จับตา! พิพากษาคดีของ “อานนท์-ไมค์-ไผ่-ครูใหญ่” กรณีชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ข้อต่อสู้ระบุเป็นการฟ้องซ้ำ-ชุมนุมโดยสงบตาม รธน.-พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ

ในวันที่ 15 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 1), “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก (จำเลยที่ 2), “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (จำเลยที่ 3) และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ (จำเลยที่ 4) ในฐานความผิด 10 ข้อหา จากการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

เหตุในคดีนี้ต่อเนื่องมาจากการชุมนุม ‘ราษฎรล้อมสภา’ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปชุมนุมด้านหน้ารัฐสภา เพื่อเกาะติดการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ตลอดทั้งวันมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปิดกั้นเส้นทางไม่ให้เข้าพื้นที่ และพยายามสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาและผสมสารเคมี  รวมทั้งมีการปะทะกับมวลชนปกป้องสถาบันฯ  ในช่วงดึกคืนดังกล่าวจึงมีการนัดหมายชุมนุมในวันถัดมา (18 พ.ย. 2563) เพื่อโต้ตอบและแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Mob Data Thailand)

การชุมนุมในครั้งนี้มีการดำเนินคดีแยกเป็นสองคดี ได้แก่ คดีที่ สน.ปทุมวัน และคดีที่ สน.ลุมพินี โดยอานนท์กับภาณุพงศ์ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 สถานีตำรวจ โดยในระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ถึง 8 ม.ค. 2564 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ ที่ สน.ปทุมวัน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 รพีพัฒน์ ภักดีวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ใน 10 ข้อหา ดังนี้

  1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ร่วมกันชุมนุมใดๆ โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  4. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะตลอดจนผู้ชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาง หรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  7. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  8. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากฝ่าฝืนให้ปรับไม่เกิน 200 บาท
  9. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  10. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์ไปในระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 พ.ย. 2566 โดยในวันสุดท้ายของการสืบพยาน ศาลได้อนุญาตให้ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 30 วัน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ได้ชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ ประกอบข้อต่อสู้ในแถลงการณ์ปิดคดีทั้งสิ้น 5 ประเด็น ดังนี้

คดีนี้ โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ซึ่งความผิดข้อหาดังกล่าวเป็นความผิดที่ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วในอีกคดี ซึ่งเป็นการฟ้องซ้ํา อันมีผลทําให้สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามมาตรา 39 (4) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นไปตามหลักบุคคลไม่ควรถูกพิจารณาในมูลคดีเดียวกัน 2 ครั้ง ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยมีรายละเอียดเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) วางหลักไว้ว่า “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง…” หรือเป็น “ฟ้องซ้ําในคดีอาญา” อันมีหลักเกณฑ์ที่จะต้องพิจารณา คือ

(1) จำเลยในคดีก่อนและจำเลยในคดีหลังเป็นบุคคลเดียวกัน 

เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคําขอท้ายฟ้องคดีของศาลแขวงปทุมวันและคดีนี้ย่อมเห็นได้ว่า จําเลยในคดีก่อนและจําเลยในคดีหลังเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งอานนท์ นำภา จําเลยที่ 1 และภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 5 ในคดีของศาลแขวงปทุมวัน เป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ โดยอานนท์ นำภา เป็นจําเลยที่ 1 และส่วนภาณุพงศ์ จาดนอก เป็นจําเลยที่ 2 ในคดีนี้

(2) การกระทําในคดีก่อนและคดีหลังเป็นกรรมเดียวกัน 

เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคําขอท้ายฟ้องคดีของศาลแขวงปทุมวันและคดีนี้ย่อมเห็นได้ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด (สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6) ยื่นฟ้องอานนท์ นําภา และภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งในคดีดังกล่าว เป็นกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมสาธารณะวันที่ 18 พ.ย. 2563 และพื้นที่ชุมนุมในวันที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นวันเวลาสถานที่เกิดเหตุเดียวกันกับคดีนี้ 

เจตนาประการสําคัญของการชุมนุมสาธารณะในวันเกิดเหตุในคดีของศาลแขวงปทุมวันกับคดีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และแสดงความคิดเห็นและแสดงออกต่อการทํางานของสํานักงานตํารวจแห่งชาติในการสลายการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนการชุมนุมในคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทําต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว ดังที่ปรากฏรายละเอียดคําฟ้องในคดีของศาลแขวงปทุมกับคําฟ้องคดีนี้ ที่ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสองในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกัน 

(3) ศาลในคดีใดคดีหนึ่งมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดสําหรับการกระทําของจําเลย และได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีแล้ว ซึ่งในคดีอาญาเมื่อศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธิในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปทันที ดังนั้นหากกรณีใดต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 39 (4) ดังกล่าว อํานาจในการดําเนินคดีของโจทก์ทั้งอํานาจที่จะเริ่มฟ้องคดี อํานาจที่จะดําเนินคดี หรืออํานาจที่จะให้มีการดําเนินคดีนั้นต่อไปย่อมสิ้นสุดลงทันที

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคําพิพากษาว่า อานนท์ นําภา จําเลยที่ 1 มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นเงิน 10,000 บาท และยกฟ้องภาณุพงศ์ จาดนอก จําเลยที่ 5 

ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องถือว่าได้มีการฟ้องซ้ําในส่วนของจําเลยที่ 1 และ 2 ทําให้ทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทําความผิดในคดีนี้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับลง โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะดําเนินคดีกับจําเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาดังกล่าวข้างต้นอีกต่อไป เพราะเงื่อนไขแห่งอํานาจในการดําเนินคดีของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ถึงแม้ว่าโจทก์จะต่างคนกัน แต่เมื่อการกระทําความผิดที่ได้มีการฟ้องไปแล้วนั้น ผู้ใดจะนํามาฟ้องอีกมิได้  โจทก์ไม่มีอํานาจดําเนินคดีกับจําเลยในข้อหานี้อีกต่อไป

ในฐานความผิดเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง เนื่องจากจําเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุม มิใช่ผู้จัดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จึงไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลและรับผิดชอบ ตลอดจนการแจ้งการชุมนุม

ทั้งนี้ พ.ต.อ.อัครพล จั่นเพชร ผู้กล่าวหาในคดีนี้ได้เบิกความต่อศาลในทํานองว่า ได้ตรวจพบข้อความในเพจเยาวชนปลดแอกมีการโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุม พยานไม่ได้ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่พบจําเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมชุมนุมและปราศรัยอยู่บริเวณหน้าสํานักงานตํารวจแห่งชาติ 

นอกจากนี้ พยานได้ตอบคําถามค้านในทํานองว่า ในรายงานสืบสวนไม่ปรากฎว่าจําเลยทั้งสี่ได้มีการตระเตรียมหรือประชุมเพื่อจัดการชุมนุมในวันเกิดเหตุ รวมทั้งไม่ปรากฏเส้นทางการเงินสําหรับการว่าจ้างเพื่อใช้ประกอบการตระเตรียมอุปกรณ์สําหรับการชุมนุมในวันเกิดเหตุ และไม่ปรากฏข้อมูลการติดต่อกันระหว่างจําเลยทั้งสี่สําหรับการนัดแนะและตระเตรียมเพื่อเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเชิญชวนมาร่วมชุมนุม และวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ออกมาภายนอกรั้วของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ และไม่ทราบว่าจําเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียงหรือรถเครื่องขยายเสียง และเป็นผู้ว่าจ้างในการติดตั้งหรือนําเวทีมาหรือไม่

สิบทิศ วรรณสิทธิ์ พยานโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านทํานองว่า จากการสืบสวนพยานไม่มีข้อมูลว่าจําเลยท้ังสี่วางแผนตระเตรียมการเพื่อชุมนุมวันเกิดเหตุ ไม่ปรากฎว่าจําเลยท้ังสี่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก

จากข้อเท็จจริงในการนําสืบพยานโจทก์ ไม่มีพยานโจทก์บุคคลใดเบิกความยืนยันถึงพฤติการณ์การกระทําผิดของจําเลยที่ 3 และ 4 การกล่าวอ้างว่าจําเลยกระทําผิด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในทั้งสองฐาน

ในส่วนของฐานความผิดร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่จนเป็นเหตใุห้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น พ.ต.อ.อัครพล จั่นเพชร ผู้กล่าวหาในคดีนี้ได้เบิกความต่อศาลในทํานองว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนมีอุปกรณ์ถ่ายภาพและบันทึกภาพ ซึ่งในวันเกิดเหตุได้มีการใช้อุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย 

นอกจากนี้ พยานได้มอบวัตถุพยาน ซึ่งปรากฏเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยไม่มีการแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์การกระทําผิดของจําเลยทั้งสี่ว่าได้มีการปฏิบัติการทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานอย่างใด และในขณะเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่าจําเลยทั้งสี่อยู่บริเวณใด และจากการถอดเทป ไม่มีแกนนําคนใดประกาศให้ผู้ชุมนุมสาดสีใส่ตัวเจ้าพนักงานตํารวจ และไม่มีการประกาศให้ปาสีใส่กล้องวงจรปิด 

ตามพยานเอกสารมีข้อความในทํานองว่า สน.ปทุมวัน ได้เตรียมแผนปฏิบัติเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลฝ่ายตรงข้ามที่มีความเห็นต่าง ซึ่งพยานไม่ทราบว่าบุคคลฝ่ายตรงข้ามจะมีการแต่งกายอย่างไรและไม่ทราบว่าผู้ที่พ่นสีใส่กล้องวงจรปิดและผู้ที่ปาสีไปถูกตํารวจแต่งกายอย่างไร และจับบุคคลดังกล่าวไม่ได้

ส.ต.อ.ศิรรุจน์ พรมจีน ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความในทํานองว่า วันเกิดเหตุพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณหน้ากองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมได้ขว้างปาถุงบรรจุสีเข้ามาภายในสํานักงานตํารวจแห่งชาติและโดนบริเวณใบหน้าของพยาน ทําให้สีที่บรรจุอยู่กระเด็นเข้าตา และมีขวดน้ําเฉี่ยวบริเวณใบหน้าทําให้เกิดบาดแผลถลอก พยานไม่ทราบและไม่เห็นว่าผู้ใดบ้างเป็นผู้ขว้างปาสิ่งของ

พยานตอบคําถามค้านทนายจําเลยในทํานองว่า พยานไม่ได้รวบรวมภาพจากกล้องวงจรปิดไปมอบให้พนักงานสอบสวน ไม่ได้เก็บถุงน้ําและขวดน้ําที่มาโดนตัว พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ปาถุงสีและไม่เห็นว่าใส่เสื้อสีอะไร ซึ่งที่แจ้งความกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมปาสีใส่นั้น เป็นเพียงการคาดเดาของพยานและพยานไม่เห็นผู้กระทํา

ส.ต.อ.ธีรพัฒน์ พยัคชาติ ผู้เสียหายที่ 3 พยานโจทก์ เบิกความทํานองว่า วันเกิดเหตุพยานปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณหน้ากองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเข้ามาประชิดรั้วสํานักงานตํารวจแห่งชาติและได้ขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดน้ําและถุงพลาสติกบรรจุสีเข้ามาภายในรั้ว และถุงสีแตกกระจายทําให้เลอะเปื้อนตามร่างกายและใบหน้าของพยาน ทําให้ดวงตาข้างซ้ายมีอาการอักเสบ 

พยานตอบคําถามค้านในทํานองว่า ไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุใครเป็นผู้สั่งให้ปาสิ่งของ พยานไม่ได้รวบรวมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ไม่เห็นคนที่ปาสิ่งของใส่ เพราะพยานยืนอยู่ไกลและขณะนั้นฟ้ามืดแล้ว และพยานแยกไม่ออกระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงานตำรวจนอกเครื่องแบบ

จากข้อเท็จจริงในการนําสืบพยานโจทก์ข้างต้น ซึ่งเป็นประจักษ์พยานและเป็นผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นผู้กระทําผิด เป็นผู้ขว้างปาสิ่งของ ขวดน้ํา หรือถุงพลาสติกบรรจุสี การกล่าวอ้างว่าจําเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานฯ

การชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามหลักการสากลการชุมนุมโดยสงบและสันตินั้นมีความหมายถึง การรวมตัวของผู้คนในการแสดงออกทางสาธารณะ เพื่อเรียกร้อง แสดงการต่อต้าน หรือสนับสนุน นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องนั้น ๆ ซึ่งการชุมนุมโดยสงบและสันติมีหลากหลายวิธีการ แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มวิธีการ ได้แก่ 1) การประท้วงและการชวนเชิญ 2) การไม่ให้ความร่วมมือ และ 3) การเข้าไปแทรกแซง 

ทั้งนี้ พฤติกรรมของจําเลยท้ังสี่และพวกในกรณีนี้เป็นการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่มีองค์ประกอบปกติของการชุมนุมแบบสงบและสันติ กล่าวคือมีความต้ังใจที่จะไปร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการร่วมลงชื่อในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองรัฐ 

ทั้งนี้ การแสดงออกทางสัญลักษณ์และการร่วมรณรงค์ในการล่ารายชื่อนับเป็นความพยายามในการแสดงออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะให้ผู้ที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสในการแสดงออกทางตรงในการมีส่วนร่วมในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสื่อสารต่อสมาชิกรัฐสภาให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวไปข้างต้น 

ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงอนุมานได้ว่าเป็นการชุมนุมที่สงบสันติและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

คดีนี้จําเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29  ได้ทําการรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) สำหรับจำเลยในคดีอาญา และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองไว้ว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วางองค์ประกอบของสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ดังนี้ ในคดีอาญา ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายโจทก์ โดยโจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าจําเลยได้กระทําความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ศาลจะต้องยกฟ้องปล่อยตัวจําเลย และในคดีอาญาหากมีข้อสงสัย จําเลยจะได้รับประโยชน์นั้น เมื่อโจทก์ได้นําเสนอหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทําให้ศาลเชื่อว่าจําเลยกระทําความผิด ศาลจะต้องยกฟ้องปล่อยตัวจําเลย เพราะจําเลยได้รับประโยชน์จากความสงสัย ถึงแม้ว่าจําเลยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

อีกทั้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ยังได้วางหลักการไว้ว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าได้กระทําผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยน้ันให้จําเลย จึงเห็นได้ชัดว่าการพิจารณาคดีอาญาต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานชัดเจน ครอบคลุม สมควรที่จะต้องได้รับการตรวจพิสูจน์หลักฐานสําคัญอย่างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วัตถุพยานที่ทําให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ต้ังแต่แรกอยู่แล้ว

ดังนั้น การรวบรวมพยานหลักฐานของฝั่งโจทก์จึงยังไม่มีน้ําหนักมากพอ ไม่สามารถนําสืบถึงการกระทําผิดของจําเลยได้อย่างชัดเจน จึงควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จําเลยทั้งสี่

X