พิพากษาคดี #ม็อบ18พฤศจิกา63 ปรับ ‘อานนท์’ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 หมื่น แต่ยกฟ้องอีก 4 นักกิจกรรม

วันที่ 6 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวัน นัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 1), ธานี สะสม (จำเลยที่ 2), พรพจน์ แจ้งกระจ่าง (จำเลยที่ 3), ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (จำเลยที่ 4) และ ภาณุพงศ์ จาดนอก (จำเลยที่ 5) เหตุจากชุมนุมแยกราชประสงค์เดินไปหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใน #ม็อบ18พฤศจิกา2563

ศาลพิพากษาว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมสองกระทงเป็น 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ยกฟ้อง

การชุมนุมในคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 มวลชนนัดหมายชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่ระหว่างการเคลื่อนขบวนกลับถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการวางเครื่องกีดขวาง ลวดหนามหีบเพลง ฉีดน้ำผสมสารเคมีจากรถฉีดน้ำแรงดันสูง จนทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ทำให้ในวันถัดมา 18 พ.ย. 2563 คณะราษฎรได้นัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ก่อนที่จะเดินขบวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ระหว่างการเคลื่อนขบวน มีการสร้างงานศิลปะและเขียนข้อความบนพื้นผิวถนนและกำแพง และจัดกิจกรรม “บิ๊กเซอร์ไพรซ์” โดยการใช้ปืนฉีดน้ำและสาดสีใส่ป้ายบริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 18 พ.ย. 2563

ทั้งห้าคนได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกกับ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 18, 28 ธ.ค. 2563 และ 21 ม.ค. 2564

จากนั้นเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 คมสัน เพชรฉวี พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าคนต่อศาลแขวงปทุมวัน โดยฟ้องเป็น 2 กระทง เรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และการไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-2019 ในขณะนั้น

ทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและยืนยันที่จะสู้คดี และศาลได้นัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 18 และ 24 พ.ค. 2566 ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเป็นผู้จัดชุมนุม

วันนี้ (6 ก.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 702 เวลาประมาณ 10.45 น. จำเลยทั้งห้าคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาสรุปได้ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่ามีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ประเด็นแรก ถ้าการจัดชุมนุมรวมกลุ่มที่จะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งการชุมนุมนั้นต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

พิเคราะห์พยานหลักฐานจากพยานโจทก์ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขึ้นปราศรัยหน้ารัฐสภาและนัดหมายประชาชนไปชุมนุมในวันเกิดเหตุ วันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลา 16.00 น. ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งในวันนั้นมีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมจริง และไม่มีพยานหลักฐานใดมาหักล้างได้ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดชุมนุมตามนิยามของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

ส่วนจำเลยที่ 2 – 5 มาในที่ชุมนุม พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1-5 ได้ผลัดกันขึ้นปราศรัย และจำเลยที่ 5 เป็นผู้ประกาศยุติการชุมนุม ถึงแม้ว่าจะมีการผลัดกันขึ้นปราศรัยและมีเนื้อหาในทำนองเดียวกันก็ตาม เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานแล้ว ไม่เห็นว่าผู้ใดเป็นผู้จัดและนัดหมายการชุมนุม เห็นว่าจำเลยที่ 2-5 ยังไม่มีพฤติการณ์ที่จัดได้ว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมร่วมกับจำเลยที่ 1 

ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 จัดการชุมนุมสาธารณะและไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับ สน.ลุมพินี ในวันเกิดเหตุตำรวจได้เข้าชี้แจงต่อผู้ชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมและขอให้ยุติการชุมนุมแล้ว การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดชุมนุมจึงมีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) ข้อ 1

ประเด็นถัดมา ในเมื่อเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าในพื้นที่ชุมนุมไม่มีมาตรการตามที่ราชการกำหนด มีผู้ชุมนุมอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่มีจุดคัดกรอง และไม่มีเจลแอลกอฮอล์ 

ข้อเท็จจริงฟังได้ตามโจทก์นำสืบว่าไม่ได้มีการเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโรค จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดชุมนุมต้องดูแลมาตรการดังกล่าว ถึงแม้ว่าสถานที่เกิดเหตุจะเป็นที่โล่งแจ้ง แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ก็ไม่ต้องพิจารณาในประเด็นความแออัดและสถานที่โล่งแจ้ง รวมถึงในขณะนั้นก็ยังไม่ได้มีการยกเลิกประกาศดังกล่าว ถึงแม้ว่าภายหลังจะมีการยกเลิกก็ตาม

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสองกระทง ลงโทษปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมเป็นปรับ 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ยกฟ้อง

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีนี้มีการฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แยกเป็นสองกระทง โดยกระทงหนึ่งเป็นพฤติการณ์เรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ แต่ความผิดฐานดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งอัยการไม่ได้มีการฟ้องเข้ามาด้วย อีกทั้งตาม มาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็บัญญัติไม่ให้บังคับใช้ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับกรณีการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา2563 นอกจากในคดีนี้ที่มีคำพิพากษา ซึ่งเป็นกรณีในเขตพื้นที่ของ สน.ลุมพินี แล้ว ยังมีคดีจากการชุมนุมวันเดียวกันในเขตพื้นที่ สน.ปทุมวัน ซึ่งอานนท์ นำภา และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก ตกเป็นจำเลยร่วมกับ ‘ครูใหญ่’ อรรถพล บัวพัฒน์ และ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ใน 9 ข้อกล่าวหา คดีมีกำหนดสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้

นอกจากนั้นยังมี ‘ขนุน’ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ และ ‘จัสติน’ ชูเกียรติ แสงวงค์ ซึ่งถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากการปราศรัยในชุมนุมวันนั้นอีกด้วย คดีมีกำหนดสืบพยานจำเลยสองนัดสุดท้ายที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 18 พ.ย. 2563

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์ #ม็อบ18พฤศจิกา : 18พฤศจิกาไปราษฎร์ประสงค์

‘ไมค์-ทนายอานนท์’ รับทราบข้อหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากเหตุ#ม็อบ18พฤศจิกา

X