พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับคนละสามหมื่น คดีนักกิจกรรม 16 คน ร่วม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร เห็นว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉพาะ ‘อานนท์-ไผ่-บุ๊ค’ ไม่ให้รอลงอาญา แต่ให้ประกัน

วันที่ 2 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาประชาชนและนักกิจกรรม 16 ราย ในคดี #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร หรือ #27พฤศจิกาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 โดยพิพากษาว่า จำเลย 16 คน มีความผิดในทั้ง 5 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, กีดขวางการจราจร และกีดขวางทางสาธารณะ 

จำเลย 13 คน ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับคนละ 30,200 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ด้านอานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ และบุ๊ค ธนายุทธ ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 14,200 บาท โดยจตุภัทร์ถูกเพิ่มโทษจำคุก 20 วัน เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โดยโทษจำคุกทั้งสามคนไม่รอลงอาญา แต่ให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

.

ภาพการชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร จาก Mob Data Thailand

.

สำหรับ #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เป็นการนัดชุมนุมของ “คณะราษฎร” เพื่อซ้อมต้านรัฐประหาร หลังมีข่าวลือการประกาศกฎอัยการศึก และความกังวลว่าอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้น เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะของกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน โดยผู้ชุมนุมได้ใช้เป็ดยาง, เอเลี่ยน, นกยูง, ม้ายูนิคอน, และพิซซ่า มาเป็นตัวแทนคณะรัฐประหาร โดยซักซ้อมชูสามนิ้ว และโห่ใส่กองทัพตุ๊กตายางดังกล่าว

ต่อมา ตำรวจ สน.พหลโยธิน มีการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมรวม 16 ราย ใน 5 ข้อกล่าวหาดังกล่าว ได้แก่ อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ธนายุทธ ณ อยุธยา, “ลูกพีช” รพีพร ตันตระกูล, จิรายุ สูตรไชย นักร้องหมอลำวง “กู่แคน”, ปกรณ์ พรชีวางกูร, ปนัดดา ศิริมาศกูล, สุวรรณา ตาลเหล็ก, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, สหรัฐ สุขคำหล้า, พรหมศร วีระธรรมจารี และนันทพงศ์ ปานมาศ

คดีนี้ถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 18 และ 26 พ.ย. 2564 และในช่วงก่อนการสืบพยาน ศาลไม่อนุญาตให้เปิดพยานวัตถุของฝ่ายโจทก์ คือแผ่นซีดีและแฟลชไดรฟ์ โดยอ้างว่าหากมีการเปิดดูวัตถุพยานดังกล่าว โดยมิได้มีการสืบพยาน ย่อมทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ก่อนมีการสืบพยานในคดีไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566

.

ภาพการชุมนุม #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร จาก Mob Data Thailand

.

ช่วงสายที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 กลุ่มจำเลยได้ทยอยมานั่งรอในห้องพิจารณาคดีเพื่อรอคำพิพากษา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้แยกห้องการฟังพิจารณาคดีออกเป็นสองห้อง โดยห้องหนึ่งสำหรับจำเลยทั้ง 16 คน และทนายความ ส่วนอีกห้องไว้สำหรับญาติ ผู้สังเกตการณ์ และประชาชนที่มาให้กำลังใจ โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจศาลร่วมเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีด้วย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัว อานนท์ นำภา และ “บุ๊ค” ธนายุทธ ซึ่งถูกคุมขังในคดีอื่นก่อนหน้านี้ เข้ามาในชุดนักโทษพร้อมโซ่ล่ามที่เท้าทั้งสองข้าง เข้ามาในห้องพิจารณา โดยทั้งสองได้สวมกอดเพื่อน ๆ จำเลย และโบกมือให้กับผู้ที่มาให้กำลังใจจากอีกฝากหนึ่งของห้องพิจารณา ก่อนเวลา 10.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี 

ผู้พิพากษาได้ขานเรียกชื่อจำเลยแต่ละคน ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงไม่มียารักษา ซึ่งการชุมนุมของจำเลยทั้ง 16 ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ไม่มีจุดคัดกรอง เห็นว่าเป็นการชุมนุมมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 

นอกจากนี้ จากที่เจ้าพนักงานตำรวจเบิกความ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนเกิดเหตุการชุมนุม ผู้จัดกิจกรรมไม่ได้มีการแจ้งว่าจะมีการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่สำคัญจำเลยทั้ง 16 คนมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุม จากการประกาศเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเข้าร่วมการชุมนุมในที่ต่าง ๆ หากไม่มีการประกาศเชิญชวนจากจำเลยทั้ง 16 การชุมนุมย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

ในประเด็นเรื่องการกีดขวางทางสาธารณะ เนื่องจากพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกลาดพร้าวเป็นเส้นทางที่ผู้คนสัญจรและมีรถยนต์ขับขี่เป็นจำนวนมาก การชุมนุมของจำเลยจึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้สัญจรไปมา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น จึงไม่นับว่าเป็นการชุมนุมที่สงบเรียบร้อย 

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 16 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงเป็นกระทงความผิดไป ได้แก่

  1. ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ปรับคนละ 10,000 บาท 
  2. ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับคนละ 16,000 บาท 
  3. ฐานกีดขวางทางสาธารณะ และพ.ร.บ.จราจรฯ ปรับคนละ 4,000 บาท
  4. ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท  

รวมแล้วจำเลย 13 ราย ได้แก่ ภาณุพงศ์, ปนัสยา, ไชยอมร, อรรถพล, รพีพร, จิรายุ, ปกรณ์, ปนัดดา, สุวรรณา, วีรวิชญ์, สหรัฐ , พรหมศร และนันทพงศ์ ศาลให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญา เนื่องจากไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และปรับรวมคนละ 30,200 บาท 

ด้านอานนท์, จตุภัทร์ และธนายุทธ ศาลลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 14,200 บาท โดยจตุภัทร์ ศาลยังให้เพิ่มโทษจำคุกอีก 20 วัน เป็น 2 เดือน 20 วัน เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โดยโทษจำคุกทั้งสามคนไม่รอลงอาญา 

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้แก่ ภิญโญ เจือจันทร์

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น อานนท์, จตุภัทร์ และธนายุทธ ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญแจมือลงไปใต้ถุนศาล ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว 

ต่อมาในเวลา 16.10 น. ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสามคนในชั้นอุทธรณ์ โดยของอานนท์และธนายุทธ ให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 24,000 บาท แต่กรณีของจตุภัทร์ให้วางหลักทรัพย์ 30,000 บาท

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนในคดีนี้ ไม่ได้มีบทบาทเหมือนกันทั้งหมด หลายคนเป็นผู้ร่วมขึ้นปราศรัย บางคนเป็นนักดนตรีที่ร่วมขึ้นแสดง เช่น ธนายุทธ ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมร้องเพลงเสียดสีการเมืองบนเวที, รพีพรถูกกล่าวหาว่าขึ้นร้องเพลงบนเวที, จิรายุถูกกล่าวหาว่าร้องเพลงหมอลำบนเวที เป็นต้น แต่ศาลกลับวินิจฉัยรวมว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมทั้งหมด

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ศิลปิน-ประชาชนอีก 7 ราย เจอ 5 ข้อหา ชุมนุม #ซ้อมต้านรัฐประหาร เหตุเพียงร่วมขึ้นเวที-แสดง

“ราษฎร” โดนอีก 4 ข้อหา #ม็อบซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว

X